นักวิชาการท้องถิ่น หนุน ‘บวรศักดิ์’ นั่ง ประธาน กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ควรมาจาก ส.ว.

แฟ้มภาพ

นักวิชาการท้องถิ่น หนุน ‘บวรศักดิ์’ นั่ง ประธาน กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ควรมาจาก ส.ว.

ตามที่จะมีการตั้ง คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาและวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน นายบรรณ แก้วฉ่ำ นักวิชาการด้านกฎหมายการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองท้องถิ่น ( อปท.) เปิดเผยว่า การเสนอแต่งตั้งประธาน และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายฝ่ายอาจจะพิจารณาแต่งตั้งบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ ส.ส.ในสภา ไปทำหน้าที่ประธานหรือคณะกรรมาธิการฯได้ ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีข้อกล่าวหาจากหลายฝ่ายว่า ได้ยกร่างตามความต้องการของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อสืบทอดอำนาจ

ดังนั้นผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นประธาน จึงไม่ควรเป็นบุคคลที่มีภาพลักษณ์เดิมที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล หรือเกี่ยวข้องกับ คสช. ไม่ควรเป็น ส.ส.ฝ่ายค้านหรือรัฐบาล เพราะอาจทำให้รัฐธรรมนูญที่แก้ไขแล้ว ไม่ได้รับการยอมรับเหมือนที่ผ่านมา และอาจสร้างกระแสความขัดแย้งเพิ่มขึ้นนำไปสู่ความรุนแรงในสังคม

“สำหรับกรณีที่อาจมีการเสนอให้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เข้าไปทำหน้าที่ประธานฯ ในส่วนของตัวแทนอปท. เชื่อว่าน่าจะได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนของ อปท.ทั้วประเทศ เนื่องจากในร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2558 ฉบับที่นายบวรศักดิ์ยกร่างแต่โดนสมาชิกสภาการปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โหวตคว่ำร่าง มีการรับฟังข้อเสนอของตัวแทนท้องถิ่น มีการบรรจุเนื้อหาที่มีแนวทางการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นดีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับอื่น เช่น เนื้อหาในส่วนที่กำหนดให้มี สภาการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ หรือ คณะกรรมการบริหารท้องถิ่นแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรหลักของท้องถิ่นในระดับชาติ ซึ่งปัญหาการกระจายอำนาจตลอดเวลาที่ผ่านมา20 ปี เกิดจาก อปท.ยังคงอาศัยการกำกัลดูแลจากราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาค จึงทำให้ อปท.ไม่มีศักยภาพในการผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจ หรือการผลักดันและกำหนดทิศทางให้ประชาชนมีแนวคิดพึ่งพาตนเอง” นายบรรณ กล่าว

Advertisement

นายบรรณ กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีบางฝ่ายพยายามเบี่ยงเบนประเด็น ทั้งที่ข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขบทบัญญัติเรื่องทุจริตตามที่ตั้งข้อกล่าวหา เนื่องจากเนื้อหาเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริต ไม่ได้บรรจุในรัฐธรรมนูญ แต่อยู่ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันการทุจริต จึงไม่มีใครเรียกร้องให้แก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว สำหรับข้อเรียกร้องที่ขอให้มีการแก้ไขจะเป็นปัญหาจากคิดคำนวณสัดส่วน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ การขอแก้ไขอำนาจและที่มาของ ส.ว.ที่สามารถร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ทำให้มีผลบิดเบือนคะแนนเสียงที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดผู้ทำหน้าที่ประธานกรรมาธิการฯจึงไม่ควรมาจาก ส.ว.

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

– ‘มีชัย’ ดับข่าวนั่งปธ.แก้รธน. เพจกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ’60 ร่อนสาร ชี้ ข่าวคลาดเคลื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image