สรรพสามิตดึงททท.ช่วยเคาะลดภาษีน้ำมันโลว์คอสต์ ให้เวลาผู้ประกอบการ 2 สัปดาห์เสนอผลประโยชน์สาธารณะ

 

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวภายหลังร่วมหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการสายการบินต้นทุนต่ำ(โลว์คอสต์)7 แห่ง และบริษัทน้ำมัน 5 แห่ง ถึงการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันว่า ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะดำเนินการอย่างไรโดยขอให้ทางผู้ประกอบการกลับไปวิเคราะห์ข้อมูลมาเสนอว่าหากจะลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงทำให้เกิดประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวอย่างไร โดยนัดประชุมอีก 2 สัปดาห์ และเชิญกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) มาร่วมหารือด้วย ซึ่งภาษีน้ำมันในกลุ่มเครื่องบินนั้นกรมสรรพสามิตจัดเก็บปีละ 3 พันล้านบาทถือว่าไม่มาก แต่การทบทวนอัตราภาษีต้องเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะไม่ใช่เกิดประโยชน์กับสายการบิน

“กลุ่มผู้ประกอบการสายการบินโลว์คอสต์มีหนังสือมารือกับนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่าการปรับขึ้นภาษีน้ำมันเมื่อปี 2560 ที่ 4.70 บาทต่อลิตร จากเดิมเคยเก็บ 0.20 บาท ต่อลิตรกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก  เพราะน้ำมันเป็นต้นทุนของสายการบินถึง 30% ดังนั้นหากรัฐลดภาษีน้ำมันให้เขาเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ เป็นประโยชน์โดยตรงกับการท่องเที่ยว ดังนั้นต้องรอดูข้อเสนอจากผู้ประกอบการว่าหากลดภาษีน้ำมันแล้วจะสามารถทำเกิดประโยชน์สาธรณะเป็นรูปธรรมได้อย่างไร”นายพชร กล่าว

ด้านนายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายงานการเงินและบัญชี บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)  หรือบางกอกแอร์เวย์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้คุยเรื่องตัวเลขว่าจะลดภาษีน้ำมันเหลือเท่าใด ซึ่งสายการบินมองตรงกับกรมสรรพสามิตว่าการลดภาษีต้องให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยสายการบินมีส่วนสนับสนุนและอำนวยความสะดวกต่อการท่องเที่ยวของไทย และทำให้ต่างชาติมาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น ซึ่งสายการบินพยายามทำให้การท่องเที่ยวไม่กระจุกแค่ 5-6 เมืองหลัก

Advertisement

เมื่อถามถึงว่าลดภาษีแล้วจะลดค่าโดยสารหรือไม่ นายอนวัช กล่าววว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 ราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย แต่ลดลงด้วยซ้ำ เพราะมีการแข่งขันระหว่างสายการบินทั่วโลก ดังนั้นหากต้องการให้ไทยจะเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ รัฐต้องช่วยสายการบินของไทยให้แข่งขันกับประเทศอื่นๆทั่วโลก ส่วนการเปิดเที่ยวบินในเมืองรองนั้นหากมีภาวะขาดทุนแม้จะลดภาษีน้ำมันแล้ว ต้องเป็นการพิจารณาของสายการบินแต่ละแห่งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งแต่ละสายการบินต้องปรับตัวคงหวังพึ่งภาษีสรรพสามิตไม่ได้ แต่ภาษีสรรพสามิตเป็นหนึ่งในต้นทุนของการประกอบกิจการ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการขอความกรุณาให้ภาครัฐช่วยแหลือตรงนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image