‘ไทย’ จับมือ ‘สปป.ลาว’ พัฒนาระบบดิจิทัลเพย์เมนต์ เล็งเชื่อมระบบใช้คิวอาร์โค้ดทั้งอาเซียน

นายบัญชา มนูญกุลชัย ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ธปท.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเรื่องดิจิตอลเพย์เมนต์ และการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินของไทยและอาเซียน โดยในส่วนของการพัฒนาเรื่องดิจิตอลเพย์เมนต์ ได้มีการพัฒนาระบบพร้อมเพย์ขึ้นมา ซึ่งถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ในระบบการชำระเงินรายย่อย ที่สำคัญต่อการส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงิน เป็นการสร้างอีโคซิสเต็มให้กับภาคดิจิทัลเพย์เมนต์ เพื่อให้เป็นทางเลือกหลักในการชำระเงินที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และมีต้นทุนต่ำลง รวมถึงตรงตามความต้องการของผู้ใช้บริการ โดยในปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ผ่านช่องทางต่างๆ จำนวน 49.5 ล้านหมายเลข ปริมาณใช้งานเฉลี่ยต่อวัน 8.1 ล้านรายการ ปัจจุบันมีร้านค้ารับชำระเงินด้วยไทยคิวอาร์โค้ด มากกว่า 5 ล้านจุดทั่วประเทศ แบ่งเป็นการชำระค่าบริการต่างๆ อาทิ ร้านค้าทั่วไป รถโดยสารสาธารณะ โรงพยาบาล โรงเรียน เพราะมีต้นทุนในการชำระเงินต่ำ ทั้งยังสามารถชำระด้วยคิวอาร์โค้ดได้ทั้งบัตรเครดิต บัตรเดบิต บัญชีธนาคาร และอี-วอล เลท ร่วมด้วย จึงถือว่าไทยคิวอาร์โค้ดเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานท่ีเปิดกว้าง และสามารถทำงานร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการชำระเงินได้

นายบัญชา กล่าวว่า สำหรับการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างอาเซียน แบ่งเป็นการพัฒนาใน 2 รูปแบบ ได้แก่ ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศด้วยคิวอาร์โค้ด และการโอนเงินระหว่างประเทศแบบทันที (เรียลไทม์) โดยมีวัตถุประสงค์คือ ต้องการส่งเสริมนวัตกรรมการโอนเงินและชำระเงินระหว่างประเทศในอาเซียน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ อำนวยความสะดวก รวดเร็ว ต้นทุนต่ำลง ส่งเสริมการค้าและการลงทุน โดยการใช้คิวอาร์โค้ดในการชำระเงินระหว่างกันได้ จะสร้างประโยชน์ในหลายด้าน อาทิ ลดการใช้เงินสด ส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่น เข้าถึงบริการด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ทำให้สามารถขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้น อำนวยความสะดวกในการโอนเงินระหว่างประเทศ และส่งเสริมการค้า การลงทุน และการพัฒนาธุรกิจระหว่างประเทศ โดยในส่วนของความร่วมมือด้านระบบการชำระเงินกับลาว ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่างธปท. และธนาคารแห่งสปป.ลาว (ธหล.) เพื่อร่วมมือกันพัฒนาระบบการชำระเงินและนวัตกรรมทางการเงิน ในวันที่ 4 เมษายน 2562 พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ และร่วมกันพัฒนามาตรฐานคิวอาร์โค้ดและการชำระเงินระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีการชำระเงินระหว่างประเทศด้วยระบบการชำระเงินระหว่างประเทศด้วยคิวอาร์โค้ดของธนาคารธนชาต และธนาคารการค้าต่างประเทศของของลาว ซึ่งถือเป็นคู่แรกในอาเซียน รวมถึงได้พัฒนาการโอนเงินระหว่างประเทศแบบเรียลไทม์ สำหรับภาคธุรกิจด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่เข้ามาให้บริการการโอนเงินระหว่างประเทศของลูกค้าไทยและลาว

“แผนกลยุทธระบบการชำระเงินฉบับที่ 4 ระหว่างปี 2562-2564 โดยจะสร้างอีโคซิสเต็ม เพื่อให้ดิจิตอลเพย์เมนต์เป็นทางเลือกหลักในการชำระเงิน ภายใต้ระบบการชำระเงินที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ต้นทุนต่ำ และมีความตรงกับความตอ้งการของผู้ใช้บริการ ทั้งยังวางกรอบการพัฒนาที่สำคัญไว้ 5 ด้านคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงกัน มีความมั่นคง ปลอดภัย ได้มาตรฐานสากล รองรับนวัตกรรม และพร้อมเชื่อมโยงกับต่างประเทศ, การบูรณาการข้อมูลชำระเงิน เพื่อใช้ประโยชน์ พัฒนาการเชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูล เพราะในอนาคตข้อมูลจะมีความสำคัญที่สุด เนื่องจากสามารถนำมาประมวลผลในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ การวัดความเสี่ยง จัดทำแผนธุรกิจ หรือการอนุมัติสินเชื่อได้, การรักษาเสถียรภาพ การบริหารความเสี่ยงที่ดี กำกับตรวจสอบเท่าทันและคุ้มครองผู้ใช้บริการ, การส่งเสริมความเข้าถึง สร้างความรู้ความเข้าใจ และส่งเสริมการใช้งานอย่างต่อเนื่อง, การส่งเสริมพัฒนานวัตกรรมบริการที่หลากหลาย และต้องกับความต้องการของผู้ใช้งาน” นายบัญชา กล่าว

Advertisement

นายชนินทร์ ศรีกรกุล ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มธุรกิจลูกค้าสถาบัน ธนาคารธนชาต กล่าวว่า ธนาคารได้ร่วมกับธนาคารการค้าต่างประเทศลาว (บีซีอีแอล) พัฒนาแอพพลิเคชั่นบีซีอีแอลขึ้น เพื่อให้คนไทยและคนลาวสามารถชำระสินค้าระหว่างกันผ่านคิวอาร์โค้ดได้ โดยจากข้อมูลพบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์-กันยายน 2562 มีคนลาวใช้จ่ายในไทยผ่านแอพพลิเคชั่นของบีซีอีแอล จำนวนกว่า 32,000 รายการ คิดเป็นมูลค่ารวม 157 ล้านบาท แบ่งเป็นการใช้จ่ายเฉลี่ย 6,000-8,000 รายการต่อเดือน ส่วนใหญ่ใช้จ่ายประมาณ 4,000-5,000 บาทต่อรายการ ซึ่งถือว่าเป็นการส่งเสริมนวัตกรรมการโอนเงินและชำระเงินระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี รวมทั้งช่วยอำนวยความสะดวก  และเพิ่มความรวดเร็วต่อผู้ใช้บริการ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image