ภาพเก่าเล่าตำนาน คนเหล็ก…คนดี… อองรี มูโอต์ โดย : พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

กลุ่มมหาปราสาทสูงเด่น เงียบขรึม มีมนต์ขลังสัมผัสได้ ถือว่าเป็นศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลก …นครวัด ในราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อนบ้านรั้วติดกันกับไทย เป็นสิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์ชิ้น 1 บนโลกมนุษย์ รูปร่างหน้าตา สถาปัตยกรรม ชักชวนให้คนทั้งโลกสงสัยว่าใช้แรงงานเท่าไหร่ สร้างได้อย่างไร สร้างทำไม ทำไมเก่งจัง?

ประโยคอมตะของนายอาโนลด์ ทอยน์บี (Arnold Joseph Toynbee) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ยกย่องความยิ่งใหญ่ของนครวัด …โดยกล่าวว่า “See Angkor Wat and Die” หมายถึง ขอได้ชมอังกอร์วัดก่อนตาย…

นครวัด ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองเสียมราฐ มีตำนาน มีคำบอกเล่า ข้อพิสูจน์ ความเห็นจากหลายสำนักความคิด หลายชนชาติ ที่เข้ามาสำรวจ ตรวจสอบ มีความเห็นแตกต่างกันแบบสร้างสรรค์…

ผู้เขียนไม่อาจหาญจะไปตัดสิน ฟันธง…อะไรจริง ไม่จริง

Advertisement

ข้อมูลที่พอรับรู้และพอเข้าใจได้คือ… สิ่งปลูกสร้างที่กลายเป็นงานชิ้นสำคัญของโลกตรงนี้ เริ่มสร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ช่วงรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 สร้างขึ้นเพื่อเป็นปราสาทประจำพระองค์และประจำเมืองพระนคร

เชื่อกันว่า…พระองค์นับถือ “ไวษณพนิกาย”จึงสร้างนครวัดให้เป็นเทวาลัยของพระวิษณุ และเตรียมใช้เป็นสุสานของพระองค์ โดยปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันตกอันเป็นทิศของผู้ตาย

ก่อสร้างยังไม่เสร็จในรัชสมัยของท่าน…มีอุปสรรคมากหลาย

Advertisement

ผ่านมาถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ราว พ.ศ.1720 พวกจามบุกรุกไล่ชาวขอม กษัตริย์ชัยวรมันที่ 7 ย้ายไปเมืองนครหลวง ให้สร้างเมืองนครธม และปราสาทบายน ห่างจากนครวัดไปทางเหนือ เป็นเมืองหลวงใหม่

ยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 กลับมาเป็นศาสนสถานของพุทธหินยานแบบอยุธยา พร้อมเมืองหลวงถอยร่นลงทางใต้

ปราสาทหินทรายขนาดมหึมาถูกทิ้งร้าง บางส่วนสร้างไม่เสร็จ นักองค์จันจึงบัญชาให้แรงงานมหาศาลไปสร้างต่อ ทั้งให้สร้างพระพุทธรูปไว้บนระเบียงคด และบนปรางค์ปราสาทมากมาย

สุสานเทวาลัยจึงกลายเป็นวัดในพุทธศาสนา

ความยิ่งใหญ่ของอาณาปราสาทตรงนี้ล้อมรอบด้วยคูน้ำ กว้างด้านละ 1 กิโลเมตร ด้านหน้าเป็นทางเดินยาวนำเข้าสู่ปราสาท ซึ่งตั้งอยู่บนฐาน 3 ชั้น แต่ละชั้นมีระเบียงคดล้อมรอบ ด้านบนสุดประดิษฐานปราสาทประธาน จำนวน 5 หลัง

อัจฉริยภาพของคนในยุคนั้นคือ รูปแกะสลักบนผนัง นางอัปสร 1,796 รูป และแต่ละรูปยังมีใบหน้าอ่อนช้อย กิริยาท่าทางรวมถึงเสื้อผ้าอาภรณ์ไม่ซ้ำแบบกัน

ในยุคสมัยโน้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ปราสาทวิษณุโลก” ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งตามเทพองค์ประธานของปราสาท

ภาษาไทยเรียก นครวัด สำเนียงเขมรเรียก โนโกวัด (โนโก คือนคร) สำเนียงฝรั่งเศสเรียก อังกอร์วัด (Angkor Wat) และเรียกกันติดปากว่า อังกอร์วัด ซึ่งกลายเป็นชื่อสากลไปแล้ว

ศ.ยอร์ช เซเดส์ (George Cds) ได้เสนอให้เรียกว่า Funeral Temple เพราะเป็นทั้งเทวาลัยและหลุมฝังศพ

ความมหัศจรรย์ที่เป็น “ข้อสงสัย” ผสมกับ “ความชื่นชมในสติปัญญา” คือการตัดและขนย้ายหินทรายทั้งหมดมาจาก “เขาพนมกุเลน” ที่ห่างออกไปราว 50 กิโลเมตร

หินทรายที่ถูกตัดและลำเลียงมาสร้างนครวัดจำนวนนับล้านก้อน แรงงานต้องมีนับหมื่นคน คงต้องใช้ช้าง ม้า วัว ควาย นับร้อยนับพัน นายช่าง คนงาน หัวหน้าช่าง ต้องเปี่ยมด้วยประสบการณ์ ต้องเข้าใจแนวคิด ปรัชญาศาสนา

ช่างฝีมือที่เรียงหิน แกะสลัก ก่อสร้าง นครวัด คงมีจำนวนนับพันคน เครื่องมือที่ใช้แกะสลัก กลึงหินทราย ให้กลมเกลี้ยง ขนาดเท่ากัน การคำนวณ บวก ลบ คูณ หาร ที่ต้องตรงเป๊ะ…ไม่มีการใช้ตะปูยึดตรึง

ท่านผู้อ่านจำนวนไม่น้อย คงได้ไปเยือนมาแล้วนะครับ…

นครวัด อันรุ่งโรจน์ศิวิไลซ์มีอายุราว 700 กว่าปี ต่อมาตัวปราสาทหมดความสำคัญลงหลังช่วงคริสต์ศวรรษที่ 16 แต่ตัวปราสาทไม่เคยถูกทิ้งร้างสาบสูญ ซึ่งต่างจากปราสาทหลังอื่นๆ ในเมืองพระนคร

เหตุผลคือ ปราสาทแห่งนี้ได้รับการปกป้องจากการรุกล้ำของป่า โดยคูน้ำรอบปราสาท ทำหน้าที่ป้องกันตัวปราสาทไว้…

ส่วนปราสาทองค์อื่นๆ เคยถูกทิ้งร้างกลายเป็นป่า ต้นไม้ปกคลุม แทบมองไม่เห็นตัวปราสาทอยู่นานกว่า 300 ปี

การเผยโฉม ประโคมข่าวปราสาทขนาดมหึมาในป่าลึกต่อชาวโลกเป็นครั้งแรก… เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เป็นประเด็นหลักที่ผมขอนำข้อมูลตรงนี้มาเปิดเผยครับ…

นายอองรี มูโอต์ ชาวฝรั่งเศส (Henri Mouhot) เป็นนักสำรวจและนักธรรมชาติวิทยา ศึกษาเรื่องแมลงในป่าเขาลำเนาไพร ชาวฝรั่งเศสผู้นี้ คือกุญแจดอกสำคัญที่ร้องตะโกน ป่าวประกาศให้โลกรู้จักนครวัดอย่างเป็นทางการ

ขอนำเรื่องราวความยิ่งใหญ่ กล้าหาญทั้งกายใจของสุภาพบุรุษท่านนี้มาบอกกล่าวครับ…

ย้อนไปในช่วงเวลาที่มหาอำนาจ ฝรั่งเศส อังกฤษ และชาติตะวันตกตระเวนออกล่าอาณานิคมทั่วโลก… ชายชาวเมืองน้ำหอมคนนี้หลงใหลใฝ่ฝันจะออกสำรวจดินแดน ขอท่องโลกตามความฝัน

อองรี มูโอต์ ชาวฝรั่งเศส ได้อ่านหนังสือชื่อ The Kingdom and People of Siam ของ เซอร์ จอห์น เบาว์ริง ผู้แทนของพระราชินีอังกฤษที่เข้ามาทำสัญญาการค้ากับสยาม พบข้อมูลที่น่าสนใจ เขาเกิดแรงบันดาลใจ ต้องการที่จะให้ฝรั่งเศสเข้ามาอวดธง แสดงตัวตนในเอเชีย เพื่อมิให้น้อยหน้าอังกฤษ…

มูโอต์ ขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศสเพื่อขอทำโครงการสำรวจฯ ดินแดน สยาม ลาว กัมพูชา…หากแต่ล้มเหลว

ราชสมาคมภูมิศาสตร์ในลอนดอน (Royal Geographical Society in London) ของอังกฤษ อยากได้ข้อมูล สนับสนุนให้อองรี มูโอต์ ทำโครงการสำรวจทางธรรมชาติวิทยาเพื่อสำรวจพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์และกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำโขง คือสยาม กัมพูชา และลาว

เรียนท่านผู้อ่านนะครับ…มหาอำนาจในยุโรป รุ่งโรจน์ รุ่งเรือง ล่องเรือปืนไปทั่วโลกได้เพราะมีข้อมูล ฝรั่งตะวันตกหิวกระหายความรู้ที่จะออกไปสำรวจชนเผ่า ภูมิศาสตร์กายภาพ การทำแผนที่ การเดินทางบนบกและในทะเล มีสมาคม มีเงินทุนจากนายทุน แข่งขันกันสำรวจเพื่อแย่งชิงเส้นทางการค้า…

มูโอต์ ออกเดินทางจากลอนดอนมาถึงสิงคโปร์ แล้วตรงเข้าสู่กรุงเทพฯ ในช่วงรัชสมัยในหลวง ร.4 ได้รับการสนับสนุนจากบาทหลวง ปาเลอกัวซ์ (Bishop Pallegoix) ชาวฝรั่งเศส ที่ทำงานในสยามก่อนหน้านี้แล้ว ได้เข้าเฝ้าในหลวง ร.4 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2401

เขาได้ออกสำรวจในเส้นทางต่างๆ ในสยาม เดินทางจากกรุงเทพฯไปยังพระนครศรีอยุธยา สระบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง

ระหว่างการเดินทาง…นักสำรวจผู้นี้ได้จดบันทึกเรื่องราว วาดภาพประกอบ สถานที่ วิถีชีวิตที่พบเจอ จนกลายเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าต่อสังคมไทยในเวลาต่อมา

ช่วงปลายปี พ.ศ.2402 มูโอต์ ออกเดินทางจากกรุงเทพฯด้วยเรือประมง เลียบชายฝั่งไปยังจันทบุรี เกาะช้าง เกาะกูด ไปถึงเมืองกัมปอต ได้เข้าเยี่ยมคารวะนักองค์ด้วง มอบปืนเป็นของขวัญ …ได้รับอนุญาตให้เดินทางต่อไปเมืองอุดงค์ ใช้เวลาเดินทาง 8 วัน ด้วยวัวเทียมเกวียน

ผู้ใหญ่ในราชสำนักของเขมรเมตตาต่อนักสำรวจชาวฝรั่งเศสคนนี้ จัดขบวนช้างบรรทุกสิ่งของสัมภาระ เสบียงอาหารให้มูโอต์ เดินทางขึ้นเหนือต่อไปเพื่อพบกับชาว สะเตง (Stiens) ชนเผ่าดุร้ายที่อาศัยทางตะวันออกของลำน้ำแม่โขง

ระหว่างพำนักในพนมเปญ ได้รับทราบข้อมูลเรื่องเล่าบางส่วนเกี่ยวกับปราสาทขนาดใหญ่ที่เรียกว่า อังกอร์ ซึ่งมูโอต์เองก็พอทราบมาบ้างแล้วก่อนออกเดินทางจากยุโรป หนุ่มฝรั่งเศสนักผจญภัยตัวจริงเดินทางด้วยเรือขึ้นไปทางทิศเหนือ

มูโอต์บันทึกว่า แม่น้ำเริ่มกว้างขึ้นและกว้างขึ้น สุดขอบฟ้า

นั่นหมายความว่า เขากำลังแล่นเรือเดินทางเข้าไปในผืนน้ำจืดขนาดมหึมาที่เรียกกันว่า โตนเลสาบ (Tonle Sap) ที่ใหญ่ไม่น้อยกว่าทะเล (ดูแผนที่)

(โตนเลสาบ คือทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่ประมาณ 7,500 ตร.กม. เกิดจากแม่น้ำโขงไหลผ่านมีความยาวถึง 500 กม ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัดของกัมพูชา ได้แก่ กำปงธม กำปงชนัง โพธิสัตว์ พระตะบอง และเสียมราฐ เป็นทะเลสาบที่มีปลาน้ำจืดชุกชุมมาก อุดมสมบูรณ์ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ : ผู้เขียน)

ระหว่างเรือล่องไปในทะเลสาบน้ำจืดที่เวิ้งว้างดั่งมหาสมุทร มูโอต์บันทึกว่า “…มองเห็นภูเขาไกลลิบสุดสายตา ที่ต่อมากลายเป็นเขตแดนระหว่าง สยาม-กัมพูชา…”

มูโอต์ กำลังเดินทางไปตามคำบอกเล่าตามหา ล่าความฝัน…เพื่อจะขอไปชมอังกอร์วัดให้จงได้

ข้อมูลเรื่องใครมาพบนครวัด ก่อน-หลัง มีข้อมูลจากหลายสำนักนะครับ แตกต่างกันไป

ข้อมูลบางสำนัก…ระบุว่า ชาวต่างด้าวคนแรกที่บันทึกเรื่องมหานครแห่งนี้คือ โจวต้ากวาน นักบันทึกประวัติศาสตร์ผู้เข้าเมืองพระนครพร้อมกับคณะทูตจีนที่ราชวงศ์หยวนส่งมาใน พ.ศ.1839 รัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 3 ช่วงปลายของยุคเมืองพระนคร

โจวต้ากวานใช้เวลาราว 1 ปีในนครวัด เพื่อบันทึกเรื่องราวความเป็นอยู่ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีไว้อย่างละเอียดของมหาปราสาทแห่งนี้

นักประวัติศาสตร์จีนบันทึกว่า…“เมื่อกษัตริย์รุ่นต่อมาย้ายเมืองหลวงลงไปทางใต้ ก็ไม่ปรากฏเรื่องราวของกษัตริย์ขอมโบราณอีกเลย แผ่นดินอันรุ่งเรือง ปราสาทต่างๆ ถูกปล่อยร้างและที่สุดก็ซุกหายจากสายตาไปเป็นส่วนหนึ่งของพงไพร…”

ข้อมูลที่แตกต่างออกไประบุว่า …นักแสวงบุญ บี.พี. กรอสลิเออร์ ชาวโปรตุเกส มาพบนครวัดเมื่อ พ.ศ.2091 เขียนบันทึกชื่อ Angkor et le Cambodge au XVIe siecle และตามด้วย ดิโอโจ โด กูโต เจ้าหน้าที่อาลักษณ์บันทึกพงศาวดารโปรตุเกสประจำอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ที่เขียนบันทึกถึงเมืองพระนครไว้มากที่สุด

หากแต่บันทึก รายงานดังกล่าวของนักบวชนักบุญเหล่านั้น เมื่อส่งกลับไปเมืองหลวง ไปปะปนผสมอยู่ในรายงานกิจการศาสนาของบาทหลวง และมิได้แจกจ่ายออกไป เรื่องของนครวัดจึงเป็นรายงานที่เก็บอยู่ในตู้

ยังมีบันทึกอีกด้วยว่า นักบวชชาวญี่ปุ่นนับถือพุทธ เคยมาถือบวชในนครวัด เขียนหนังสือเกี่ยวกับนครวัดเผยแพร่มาก่อนอีกด้วย

บุคคลเหล่านี้เคยได้มาพบเห็นนครวัด ก่อนอองรี มูโอต์ นับร้อยปี

กลับมาที่เรื่องของการเดินทางของ อองรีมูโอต์ ครับ

เดือนมกราคม พ.ศ.2403 มูโอต์ คนเหล็ก ผู้รักการผจญภัย เดินทางถึงเมืองพระตะบอง มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสด้วยกันบอกเขาว่า อีกฟากหนึ่งของทะเลสาบ คือเมืองเสียมเรียบ มีซากโบราณสถานซ่อนอยู่ในป่าใหญ่…

ไม่รอช้าแม้แต่วันเดียว…มูโอต์ ใช้เรือล่องในทะเลสาบสู่เมืองเสียมเรียบ บุกเข้าป่าทึบรอนแรม ฝ่าดงดิบ เข้าไปจนถึงบริเวณอาณาเขตนครวัดตามความใฝ่ฝัน ตื่นตะลึงกับมหาปราสาท กองหินระเกะระกะอันปกคลุมไปด้วยต้นไม้รกทึบ

นักสำรวจหนุ่มฝรั่งเศสหาข้อมูล เขียนบันทึก เริ่มวาดภาพด้วยความตื่นตาตื่นใจได้พบปราสาทนครวัดในดินแดนขอมโบราณ รวมทั้งปราสาทโดยรอบที่หายสาบสูญไปนับร้อยปี

มูโอต์ ยังทำแผนที่แสดงภูมิประเทศตามเส้นทาง เพื่อนำไปรายงานยังราชสมาคมภูมิศาสตร์ในลอนดอนได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทุกอย่างวาดด้วยดินสอ เป็นไปตามมาตราส่วน

ผู้เขียนจินตนาการถึงความลำบากยากเย็นที่มูโอต์ใช้ชีวิตในป่าดงพงไพร สัตว์มีพิษ โรคภัยไข้เจ็บ อาหารการกิน สภาพอากาศ ที่ล้วนแล้วแต่ไม่น่าอภิรมย์สำหรับชาวฝรั่งเศสผู้นี้…จิตใจแข็งแกร่งยิ่งนัก

ราชสมาคมฯ นำเรื่องราวการเดินทาง แผนที่ ภาพวาดที่น่าตื่นตะลึงที่มูโอต์รายงานไปตีพิมพ์ในวารสารสมาคมฯ เป็นภาษาฝรั่งเศส และถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า Travels in the central parts of Indo-China (Siam), Cambodia, and Laos : during the years 1858, 1859, and 1860

มูโอต์ ได้มาถึงฝั่งฝัน เขาบรรจงวาดภาพของนครวัดในหลายมุม ลงรายละเอียดได้เหมือนถ่ายภาพ วาดเสา คาน นางอัปสร ภาพแกะสลักแล้ววาด วาดอีก… ส่งทางไปรษณีย์กลับไปยุโรป…

เนื้อความที่รายงานกลับไป…พรรณนาถึงความอลังการ แรงงาน ความศิวิไลซ์ของชนเผ่าที่ก่อสร้างสิ่งมหัศจรรย์ของโลกตรงนี้ มูโอต์นำความยิ่งใหญ่ของนครวัดไปเปรียบเทียบกับปราสาท วิหาร ในยุโรป

รายงานเรื่องปราสาทนครวัดผ่านตัวอักษรและภาพสเกตช์ ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในยุโรปแบบมีสีสันจี๊ดจ๊าด มูโอต์เริ่มโด่งดัง

ในทางจิตวิทยา ชาวตะวันตกทั้งหลายรวมทั้งมูโอต์ ไม่เชื่อว่าชนเผ่าในภูมิภาคนี้จะสามารถสร้างปราสาทมหึมาขนาดนี้ได้ ชาวยุโรปเชื่อมั่น ทะนงตนว่า ไม่มีชนชาติใดจะมีอารยธรรมเหนือตน จึงเกิดสนใจและแอบอิจฉา นินทา การปรากฏภาพของนครวัด

คุณค่ามหาศาลของมหาปราสาท ความอุดมสมบูรณ์ของดินแดน ทะเลสาบที่แสนร่ำรวยสัตว์น้ำจืด งานชิ้นสำคัญของมูโอต์ที่นำไปเปิดเผยต่อรัฐบาล เลยเป็นผลให้ฝรั่งเศสเลือกกัมพูชาเป็นรัฐในอารักขาเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2306

การเข้ามาอารักขา คือฝรั่งเศสเข้ามาปกครอง เลยทำให้สยามต้องระวังตัวในอานุภาพของฝรั่งเศส (ที่จะไม่ขอกล่าวในบทความนี้)

หลายปีต่อมา…แผนที่เส้นทางแม่น้ำโขงที่มูโอต์มาสำรวจไว้ในพื้นที่นี้แล้วส่งกลับไปที่ฝรั่งเศส กลายเป็น “ลายแทง” เปิดประตูการค้าที่รัฐบาลฝรั่งเศสประสงค์จะค้าขายกับจีนผ่านขึ้นไปทางแม่น้ำโขงในเวลาต่อมา…

ปราสาทนครวัดแห่งนี้ คือสัญลักษณ์ที่มีอิทธิพลที่สุดของกัมพูชา ภาพลายเส้นของนครวัดยังถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของธงชาติกัมพูชา

ช่วงหน้าร้อน พ.ศ.2403 หลังกลับมาจากนครวัด มูโอต์เขียนรายงานเรื่องนครวัดจนเสร็จสิ้น และเตรียมเดินทางต่อเพื่อสำรวจภาคอีสาน จากกรุงเทพฯ …เขาเดินทางไปลพบุรี ข้ามเทือกเขาดงพญาไฟ ไปชัยภูมิ เลย ปากลาย หลวงพระบาง

การเดินทางในรอบนี้ กลายเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายของชีวิตนักสำรวจผู้ยิ่งใหญ่ในช่วง พ.ศ.2401-2404

มูโอต์ ถึงหลวงพระบางเมื่อ 25 กรกฎาคม 2404 ระหว่างการสำรวจในป่าดินแดนลาว อองรี มูโอต์ เริ่มป่วยด้วยโรคไข้ป่า (มาเลเรีย) เขาเสียชีวิตในวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2404 ด้วยวัยเพียง 35 ปี

ร่างของมูโอต์ถูกฝังตามธรรมเนียมของตะวันตก ผู้ติดตามตลอดการเดินทางที่แสนซื่อสัตย์เป็นชาวสยาม ชื่อไพร และแดง เป็นผู้ดำเนินการ ศพของเขาถูกฝังอยู่ที่ริมแม่น้ำคานที่ไหลมาบรรจบแม่น้ำโขงเหนือวัดเชียงทองที่หลวงพระบาง

หลังจากมูโอต์เสียชีวิต รัฐบาลฝรั่งเศสจัดคณะเข้ามาติดตามหาหลุมศพ และทำพิธีฝังอย่างเป็นทางการพร้อมคำจารึกอันยิ่งใหญ่ ปัจจุบันสุสานที่ฝังศพของมูโอต์ยังกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม ทำรายได้งามให้กับท้องถิ่น

การทำงานของนักสำรวจ “คนเหล็ก” ผู้นี้มีอุปสรรค ความยากลำบาก ถูกกีดกันไม่น้อยจากเจ้าหน้าที่ทั้งในสยามและดินแดนอื่นๆ เพราะเขาถูกมองว่าเป็นสายลับ เป็นจารชนผู้ไม่หวังดี…ก็แล้วแต่ว่าใครจะมอง วิเคราะห์อย่างไร มุมไหน นะครับ

ผู้เขียนเองมองว่า อองรี มูโอต์ คือคนเหล็กตัวจริงผู้ยิ่งใหญ่ ที่กล้าคิด กล้าทำ เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ฝ่าอันตรายในดินแดนลึกลับ บันทึกข้อมูล บันทึกภาพ ออกมาแบ่งปันเผยแพร่ต่อสังคมโลก รวมทั้งสังคมไทยที่มีคุณค่า…

มีนักประวัติศาสตร์ นักวิชาการ ค้นคว้า เรียบเรียงเรื่องของอองรี มูโอต์ อีกหลากหลายท่าน หลากทรรศนะ… กรุณาติดตามศึกษาตามความพึงพอใจนะครับ

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ภาพ : ร่างโดยอ็องรี มูโอต์ (Henri Mouhot) ราวปี ค.ศ.1860, ที่มา: en.wikipedia.org และบันทึกการเดินทางของอ็องรี มูโอต์: โดยสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม ภาพจาก EHNE.FR ARLEA.FR

และถอดความบางส่วนจาก In the footsteps of Henry Mouhot, A French explorer in 19th Century Thailand, Cambodia and Laos by Dawn F. Rooney

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image