พณ.เร่งใช้3มาตรการดันราคาข้าวเปลือก เท7หมื่นล้านชะลอผลผลิต 6.5 ล้านตัน ลุยต่อจ่ายประกันรายได้มัน-ข้าวโพด

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด (นบข.ด้านตลาด) ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เมื่อเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติการดำเนินโครงการยกระดับราคาข้าวเปลือก 3 โครงการ วงเงินประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ตามที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ได้อนุมัติกรอบวงเงินไว้แล้ว เพื่อดึงผลผลิตข้าวเปลือกปี 2562/63 ออกจากตลาดในช่วงที่ผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดมาก และป้องกันปัญหาราคาตกต่ำ โดยมีเป้าหมาย 6.5 ล้านตัน  

นายวิชัย  กล่าวว่า  3 โครงการประกอบด้วย  1.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี จะจ่ายเงินให้กับเกษตรกรที่เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางของตัวเองเป็นค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท และให้ตามจำนวนข้าวเปลือกที่เก็บไว้ ซึ่งทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มจากส่วนนี้ทันที โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะจ่ายให้ก่อน แต่ถ้าสถาบันเกษตรกรเป็นผู้เก็บ เกษตรกรจะได้ค่าฝากเก็บตันละ 500 บาท สถาบันเกษตรกรตันละ 1,000 บาท มีเป้าหมาย 1 ล้านตัน และยังสามารถนำข้าวที่เก็บไว้ ไปขอสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. ได้อีก จะได้ค่าข้าว 80% ของราคาตลาด โดยข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 11,000 บาท ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ตันละ 9,900 บาท และข้าวเหนียวตันละ 8,700 บาท โดยมีวงเงินสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท เริ่มโครงการตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2562

ส่วน 2.โครงการให้สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร กำหนดวงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท เป้าหมายข้าวเปลือก 1.5 ล้านตัน โดยจะให้สถาบันเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน เข้าไปรับซื้อข้าว รวบรวมข้าว สามารถกู้เงินจาก ธ.ก.ส. และเสียดอกเบี้ยเพียง 1% รัฐอุดหนุนดอกเบี้ยให้ 3% เริ่มโครงการ 1 พฤศจิกายน.2562

และ 3.เป็นโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก มีเป้าหมาย 4 ล้านตัน วงเงิน 45,000 ล้านบาท โดยรัฐจะช่วยภาระดอกเบี้ย 3% ที่ผู้ประกอบการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารัฐ โดยมีเงื่อนไขต้องเก็บข้าวไว้ในสต๊อก 2-6 เดือน ระยะเวลารับซื้อ 20 พฤศจิกายน 2562-30 เมษายน 2563 ส่วนภาคใต้เริ่มซื้อ 1 มกราคม -30 มิถุนายน 2563

Advertisement

“ผลจากการที่ นบข.ด้านตลาด อนุมัติโครงการ และให้ดำเนินการย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เพราะก่อนหน้านี้ ได้มีการเตรียมการกันมาแล้ว เมื่อมีมติออกมา ก็ทำให้ดำเนินการต่อได้ทันที และยังส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นทันที โดยข้าวเปลือกหอมมะลิเพิ่มขึ้นตันละ 1,000-1,200 บาท และข้าวเปลือกเหนียวตันละ 1,500 บาท และมั่นใจว่ามาตรการที่ออกมา จะช่วยดูแลราคาข้าวเปลือกนาปีในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดได้  โดยหลังประชุมได้ประชุมทางไกลกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจการเข้าร่วมโครงการ พร้อมขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้ช่วยประชาสัมพันธ์โครงการด้วย”นายวิชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงาน  ในวันที่ 30 พฤศจิกายน ที่จังหวัดลำปาง นายจุรินทร์ สั่งให้ประชุม 3 ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทั้งหน่วยงานรัฐ เกษตรกรชาวไร่ข้าวโพด และภาคเอกชน เพื่อกำหนดเงื่อนไขและติดตามสถานการณ์ข้าวโพดทั่วประเทศ เพื่อกำหนดเงื่อนไขและราคาประกันรายได้ ก่อนดำเนินการโครงการประกันรายได้ ต่อจากการเปิดตัวโครงการประกันรายได้มันสำปะหลัง ในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นพืชเป้าหมายชนิดที่ 4 ตามโครงการประกันรายได้ของรัฐบาล และต่อจากปาล์มน้ำมัน ข้าวเปลือก และยางพารา พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้เตรียมพร้อมรับมือผลไม้หน้าร้อนของไทยที่จะทยอยออกสู่ตลาดหลังเทศกาลตรุษจีน โดยเฉพาะทุเรียน เงาะ ลองกอง ลำไย เป็นต้น เพื่อรองรับปัญหาผลผลิตที่เบื้องต้นประเมินว่าอาจเพิ่มขึ้นจากปี 2562 อีกไม่ต่ำกว่า 10-15%  ทั้งนี้ คาดว่าพืชทั้งสองชนิดจะประกาศเงื่อนไขให้ทันเทศกาลปีใหม่นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image