ความรู้ความเข้าใจ ในรัฐธรรมนูญ : โดย ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

รัฐธรรมนูญเป็นบทบัญญัติหรือระเบียบแบบแผนในการปกครองรัฐ ซึ่งรัฐจะประกอบด้วยองค์ประกอบ 4 ประการ ได้แก่ ประชากร (Population) ดินแดน (Territory) อำนาจ (sovereignty) และรัฐบาล (Government)

ความหมายของรัฐธรรมนูญ

จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คือ กฎหมายสูงสุดที่จัดระเบียบการปกครองประเทศ

Black’s Law Dictionary รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายประกอบและกฎหมายพื้นฐานของประเทศหรือรัฐ ซึ่งอาจบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้ รัฐธรรมนูญมีลักษณะและสาระเกี่ยวกับการปกครองประเทศ โดยบัญญัติปัจจัยพื้นฐานของบุคคล การจัดองค์กรรัฐบาล กฎระเบียบการกระจายอำนาจและข้อจำกัดต่างๆ รวมทั้งการใช้อำนาจอธิปไตยด้วย

Advertisement

Law Dictionary รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายที่เป็นกรอบของระบบการปกครองเป็นต้น กำเนิดและพื้นฐานของกฎหมายที่เกี่ยวกับการปกครองประเทศ โดยมีการมอบอำนาจจากประชาชนผ่านผู้แทนในการใช้อำนาจอธิปไตยเพื่อออกข้อบังคับหรือนิติบัญญัติของรัฐบาล

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน
จากคำนิยามและการศึกษาลักษณะรัฐธรรมนูญทุกฉบับสามารถประมวลความหมายของรัฐธรรมนูญคือ กฎหมายสูงสุดที่จัดระเบียบการปกครองประเทศ หรือกำหนดโครงสร้างในการปกครองประเทศ โดยการจัดสรรอำนาจอธิปไตยให้เหมาะสมกับสิทธิหน้าที่อันเป็นพื้นฐานความเป็นอยู่ของประเทศในประเทศนั้น

นอกจากกฎหมายที่ใช้ชื่อรัฐธรรมนูญแล้ว ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้แสดงความเห็นว่า ข้อความในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงกรุงสุโขทัยควรถือได้ว่าเป็นปฐมรัฐธรรมนูญของไทย และกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ย่อมถือว่าเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญด้วย

Advertisement

การใช้คำว่า “รัฐธรรมนูญ” กับ “ธรรมนูญ”

ประเทศไทยเคยใช้คำว่า “รัฐธรรมนูญ” กับ “ธรรมนูญ” สลับกันมา จึงมีข้อน่าสงสัยว่าเมื่อใดควรเรียกว่า “รัฐธรรมนูญ” และเมื่อใดควรเรียกว่า “ธรรมนูญ” ข้อสงสัยนี้มีคำตอบได้ 2 ประการ คือ

1.จากคำอธิบายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน “ธรรมนูญ” คือ กฎหมายที่จัดระเบียบองค์กรในระหว่างที่ยังไม่มีรัฐธรรมนูญ เช่น ธรรมนูญศาลทหาร พระธรรมนูญศาลยุติธรรม เมื่อเทียบกับคำว่า “รัฐธรรมนูญ” ดังได้อ้างมาแล้ว มีความแตกต่างที่สำคัญ คือ “รัฐธรรมนูญ” เป็นคำที่ใช้สำหรับกฎหมายที่มีลักษณะหรือระดับสูงสุด ส่วน “ธรรมนูญ” เป็นกฎหมายทั่วไปที่จัดระเบียบองค์กรเท่านั้น

2.ประวัติศาสตร์การปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านมาพบว่า “รัฐธรรมนูญ” เป็นกฎหมายที่ประสงค์จะให้ใช้ถาวร ส่วน “ธรรมนูญ” เป็นการบัญญัติใช้ชั่วคราว

รัฐธรรมนูญไทย

ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ถึงปัจจุบัน พ.ศ.2562 รัฐธรรมนูญไทยมีมาแล้ว 20 ฉบับ ดังนี้

ฉบับที่ 1 คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ถูกยกเลิก เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ด้วยสาเหตุประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร

สาระสำคัญเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวที่ใช้คำนำหน้าว่า “พระราชบัญญัติ” เหมือนกฎหมายสามัญทั่วไป

ฉบับที่ 2 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 ด้วยสาเหตุประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489

สาระสำคัญ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่มีระยะเวลาใช้บังคับนานที่สุด 13 ปี 4 เดือน 29 วัน

ต่อมามีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 3 ครั้ง คือ

ครั้งที่ 1 แก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยนามประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2482 โดยเปลี่ยนนามประเทศจาก “สยาม” เป็น “ประเทศไทย” และใช้ประเทศไทยตั้งแต่นั้นมา

ครั้งที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยบทเฉพาะ กาล เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2483 ขยายเวลาจาก 10 ปี เป็น 20 ปี ที่กำหนดให้สมาชิกประเภทที่ 2 (แต่งตั้ง) หมดไป เหลือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งประเภทเดียว

ครั้งที่ 3 แก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2485 ขยายเวลา ส.ส. ออกไปอีกคราวละไม่เกิน 2 ปี โดยขยายเวลาออกไป 2 ครั้งใน พ.ศ.2485 และ พ.ศ.2487

ฉบับที่ 3 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ด้วยสาเหตุรัฐประหารโดยพลโท ผิน ชุณหะวัณ

สาระสำคัญ รัฐสภาประกอบด้วย 2 สภา ได้แก่ พฤฒสภา และสภาผู้แทนราษฎร รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการใช้คำพฤฒสภาแทนวุฒิสภา เพียงฉบับเดียว

ฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2490 ถูกยกเลิก เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2492 ด้วยสาเหตุ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร

สาระสำคัญ เป็นรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารร่างไว้ล่วงหน้าโดยเอาตุ่มแดงทับไว้ จึงเรียกว่า “รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม”

ฉบับที่ 5 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2492 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 ด้วยสาเหตุ พลเอก ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจการปกครองครั้งที่ 2

สาระสำคัญ ยกร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ รัฐสภาประกอบด้วยวุฒิสภากับสภาผู้แทนราษฎร และมิได้กำหนดว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง

ฉบับที่ 6 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ประกาศใช้เมื่อ 8 มีนาคม 2495 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ด้วยสาเหตุ ปฏิวัติภายใต้การนำของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

สาระสำคัญ ได้นำรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 มาใช้บังคับไปพลางก่อน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ฉบับที่ 7 คือ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2502 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 ด้วยสาเหตุ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511

สาระสำคัญ มีการใช้อำนาจเด็ดขาดของนายกรัฐมนตรี สั่งประหารชีวิต จำคุก หรือยึดทรัพย์สิน ตามมาตรา 17 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ฉบับที่ 8 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ด้วยสาเหตุปฏิวัติภายใต้การนำของ จอมพล ถนอม กิตติขจร

สาระสำคัญ มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหาร โดยนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีจะเป็นสมาชิกรัฐสภาในขณะเดียวกันมิได้

ฉบับที่ 9 คือ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2515 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2517 ด้วยสาเหตุประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

สาระสำคัญรัฐสภามีสภาเดียว ได้แก่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และมีการใช้อำนาจเด็ดขาด จนเกิดการเรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516

ฉบับที่ 10 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2517 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ด้วยสาเหตุ ยึดอำนาจโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน จากการนำของพลเรือเอก สงัด ชลออยู่

สาระสำคัญมีการใช้คำว่า “ปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” เป็นครั้งแรกในการยึดอำนาจ

ฉบับที่ 11 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2519 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 ด้วยสาเหตุ ปฏิวัติโดยพลเรือเอก สงัด ชลออยู่

สาระสำคัญ มีการยึดอำนาจซ้ำ และรัฐสภามีสภาเดียว ได้แก่ สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

ฉบับที่ 12 คือ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2520 ถูกยกเลิก เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2521 ด้วยสาเหตุ ปฏิวัติซ้ำโดยพลเรือเอก สงัด ชลออยู่

สาระสำคัญ ยังคงมีสภาเดียว ได้แก่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ฉบับที่ 13 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2521 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ด้วยสาเหตุยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำโดยพลเอก สุนทร คงสมพงษ์

ฉบับที่ 14 คือ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2534 ถูกยกเลิก เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 ด้วยสาเหตุ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534

สาระสำคัญ เป็นการปกครองด้วยอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)

ฉบับที่ 15 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 ด้วยสาเหตุประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

สาระสำคัญ มีความเป็นประชาธิปไตยมากฉบับหนึ่ง โดยมี 2 สภา ได้แก่ วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงมีการแก้ไขเพิ่มเติมทั้งหมด 6 ฉบับ

ฉบับที่ 16 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ด้วยสาเหตุ ปฏิวัติภายใต้การนำของ พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน

สาระสำคัญ เป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมและได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพมากที่สุดฉบับหนึ่ง

ฉบับที่ 17 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม
2549 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ด้วยสาเหตุประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

สาระสำคัญ เป็นการใช้อำนาจโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)

ฉบับที่ 18 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ด้วยสาเหตุ การยึดอำนาจการปกครองโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

สาระสำคัญเป็นการยกร่างโดยคณะผู้ยึดอำนาจ และมีการออกเสียงประชามติ

ฉบับที่ 19 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกาศใช้ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ด้วยสาเหตุมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

สาระสำคัญ เป็นการใช้อำนาจเด็ดขาดตาม มาตรา 44 และมาตรา 48

ฉบับที่ 20 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 และยังใช้อยู่ในปัจจุบัน

สาระสำคัญเป็นการจัดระเบียบการปกครอง การตรวจสอบโดยองค์กรอิสระ และมีกลไกปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ

จากรัฐธรรมนูญไทยทั้ง 20 ฉบับ แสดงถึงปัญหาและอุปสรรคหลายประการ โดยมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญจากการยึดอำนาจหลายครั้ง

วันที่ระลึกของรัฐธรรมนูญไทย

เรียกว่า “วันรัฐธรรมนูญ” โดยกำหนดวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เพื่อระลึกถึงรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ทั้งนี้ มีการจัดพระราชพิธีวางพวงมาลาถวายสักการะ ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เป็นประจำทุกปี

อนึ่ง วันดังกล่าวได้กำหนดให้เป็น “วันธรรมศาสตร์” อีกด้วย กล่าวคือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เป็นรากฐานในการสร้างบัณฑิตขึ้นรองรับการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้เคยจัดงานวันธรรมศาสตร์สามัคคีในวันที่ 11 ตุลาคม และ 5 พฤศจิกายน จนถึง พ.ศ.2504 จึงเริ่มใช้วันที่ 10 ธันวาคม เป็น “วันธรรมศาสตร์” ตั้งแต่ พ.ศ.2504 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับวันรัฐธรรมนูญที่เป็นสัญลักษณ์ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ความส่งท้าย

รัฐธรรมนูญไทยเป็นหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ได้ผ่านปัญหาและอุปสรรคมาหลายประการ โดยมีการยกเลิกและประกาศใช้รัฐธรรมนูญถึง 20 ฉบับ แสดงถึงการขาดความรู้ความเข้าใจในความสำคัญของรัฐธรรมนูญ โดยมุ่งผลประโยชน์มากกว่าการรักษาหลักการของรัฐธรรมนูญ จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนชาวไทย ควรศึกษาและสร้างรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง

รวมทั้งต้องร่วมกันพิทักษ์รัฐธรรมนูญดังกล่าวให้มีความยั่งยืน เพื่อเป็นหลักการปกครองแก่คนรุ่นหลังต่อไป

ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image