ผลวิจัย“ชิมช้อปใช้”ประชาชนส่วนใหญ่พอใจและ74%อยากให้รัฐบาลทำต่อ

นางสาวอุษณา จันทร์กล่ำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิปซอสส์ (ประเทศไทย) จำกัด ธุรกิจด้านการวิจัยตลาดและสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภค ถึงภาพรวมโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” จากประชาชน 500 ราย อายุ 18-60 ปี พบว่า สัดส่วนของผู้ที่เข้าร่วมโครงการเทียบกับสถิติคนที่ไม่ร่วมแล้ว  มีสัดส่วน 59 : 41 โดยกว่า 97% ของคนลงทะเบียนรับสิทธิ มีความรู้ความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ และอีก 95 % จะแนะนำให้ ครอบครัว ญาติ และเพื่อนฝูงร่วมรับเงินสนับสนุนส่วนนี้จากรัฐบาลด้วย  ในกลุ่มสำรองพบอีกว่า 62% ลงทะเบียนรับสิทธิ์ชิมช้อปใช้  เห็นว่าเป็นนโยบายที่ดีในการกระตุ้นการใช้จ่าย อีก 44 % เข้าร่วมเพราะคิดว่าเงินจำนวนนี้มาจากภาษีของพวกตน นอกจากนั้นอีก 41% มองว่าเป็นสิทธิ์ที่พวกเขาควรจะได้รับจากรัฐบาล

ในกลุ่มสำรวจ  72% เชื่อว่าเศรษฐกิจและร้านค้าขนาดเล็กได้รับผลประโยชน์ เพียง28% คิดว่านโยบายนี้ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่ร้านค้าขนาดเล็กได้ ประเภทร้านค้าที่ผู้รับสิทธิ์ส่วนมากเลือกที่จะใช้จ่ายหมวด “ช้อป” สูงสุด ผู้มีสิทธิ์เลือก ดังนี้ 47% เป็น ร้านธงฟ้า 39% ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่  36% ร้านค้า OTOP ท้องถิ่น 23% ร้านค้าขนาด เซ็นทรัล สยามพารากอน 10% ผู้ค้ารายใหญ่ เช่น แม็คโคร

สำหรับคำถามที่ว่าร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการมีจำนวนเพียงพอหรือไม่ สัดส่วนความคิดเห็นของผู้เข้า ร่วมโครงการระหว่าง เพียงพอ กับไม่เพียงพอ มีสัดส่วนเท่าๆกันคือ 50 : 50 โดยกลุ่มคนที่ระบุว่าร้านค้าที่ลงทะเบียนกับรัฐบาลมีจำนวนไม่มากพอนั้น มองว่าการหาร้าน “ถุงเงิน” เป็นเรื่องยาก สถิติถึง 70% เห็นว่า จำนวนวงเงิน 1,000 บาทเหมาะสม และ 75% มีการใช้เงินทั้งพันบาทหมดในครั้งเดียว และ มีจำนวนไม่น้อยที่จบโครงการแล้ว ยังใช้วงเงินไม่หมด

นางสาวอุษณา กล่าวว่า ส่วนของพฤติกรรมการใช้จ่าย วงเงิน 1,000.นั้น มี 70% เห็นว่า 1,000 บาท เป็นวงเงินที่มากพอ มี 30% เห็นว่ารัฐบาลควรเพิ่มวงเงิน สำหรับเหตุผลที่อาจจะสามารถอธิบายได้ว่าทำไมบางคนถึงมีการใช้จ่ายผ่านแอป “เป๋าตัง” น้อยกว่าจำนวนเงินที่ได้รับ พบว่า 21% เป็นผลมาจากการที่ผู้ใช้พบปัญหาระหว่างการชำระค่าสินค้าและบริการผ่านทางตัวแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ซึ่ง 16% ของพวกเขาต้องสำรองเงินจ่ายค่าสินค้าและบริการเอง ส่วนอีก 5% ตัดสินใจยกเลิกการซื้อโดยสิ้นเชิง หนึ่งในความเป็นไปได้คือการที่ผู้ใช้เกือบครึ่งยังไม่คุ้นชินกับการใช้เงินอิเล็กโทรนิกส์ หรือ E-Wallet โดยผลสำรวจพบว่า ผู้รับสิทธิ์ 43% มีการใช้จ่ายผ่าน E-Wallet เป็นครั้งแรก และไม่คุ้นชินกับการใช้แอปพลิเคชั่น อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ายินดีที่ 78% ไม่มีปัญหาระหว่างการชำระเงิน และอีก 57% ของผู้เข้าร่วมโครงการมีความคุ้นเคยในการใช้ E-Wallet อยู่แล้ว

Advertisement

นางสาวอุษณา กล่าวว่า จุดประสงค์ของนโยบาย “ชิมช้อปใช้” คือความคาดหวังว่าประชาชนจะจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากกว่าปกติ โดยสรุปจากผลสำรวจได้ว่า 56% ของผู้เข้าร่วมโครงการมีความรู้สึกว่าตนเองมีการใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ ขณะที่ 17% ไม่รู้สึกว่าพวกเขามีการใช้จ่ายที่มากกว่าเดิมส่วน และอีก 18% นั้นไม่แน่ใจว่าตัวเองมีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ โครงการ “ชิมช้อปใช้” ถือเป็นหนึ่งในโครงการของรัฐบาลที่ถูกวิจารณ์ในหลายด้าน

” 74% ของประชาชนชาวไทยอยากให้รัฐบาลดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องหลังจบมาตรการแล้ว มีเพียงแค่ 14% และ 12% เท่านั้นที่ไม่แน่ใจ หรือรู้สึกอยากให้รัฐบาลยกเลิกโครงการนี้ไปเลย” นางสาวอุษณา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image