“รัฐพันลึก vs. สังคมพันลึก” (ตอนจบ) โดย เกษียร เตชะพีระ

"รัฐพันลึก vs. สังคมพันลึก" (ตอนจบ)

“รัฐพันลึก vs. สังคมพันลึก” (ตอนจบ)

ในหนังสือที่ระลึก ธรรมศาสตร์ 50 ปี (พ.ศ.2527) คุณทวีป วรดิลก ในนามปากกา “ทวีปวร” ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ผู้ถูกลบชื่อจากทะเบียนนักศึกษาในคราวกบฏสันติภาพ พ.ศ.2494 และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2538 ได้รจนาบทรำพึงลักษณะกลอนเปล่าชื่อ “ห้าทศวรรษแห่งความหวัง” ไว้ตอนหนึ่งว่า (น.68-69) :

“บทเรียน 14 ตุลา มีราคาแพงเพียงไร

6 ตุลา ก็ยิ่งสูงค่ายิ่งไปกว่านั้น

บทเรียนจากชีวิตรัฐบุรุษผู้กู้ชาติก็เช่นกัน

Advertisement

มันสามารถทำให้ท่านประนีประนอมกับมัน

แต่มันไม่เคยประนีประนอมกับท่านหรือใครเลย!

สันดานดิบเอย – ม่านแพรของเจ้าช่างเฉิดเฉลาตระการตา!

Advertisement

นิสิตนักศึกษาไม่เคยสิ้นหวัง

ประชาชาติไทยไม่เคยสิ้นหวัง

โดมยังทรงพลัง ดวงประทีปยังทอแสงแรงกล้า

ห้าทศวรรษแห่งความหวังกำลังผ่านไป

เราต้องสูญเสียรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่

ผู้ชูดวงประทีปแห่งประชาธิปไตยขึ้นประดิษฐาน ณ ที่นี้

อุดมการณ์ของท่านยังอยู่

แบบฉบับแห่งการอุทิศชีวิตเพื่อชาติของท่านยังอยู่

ดวงประทีปแห่งประชาธิปไตยที่ท่านชูขึ้นไว้ ยังสาดแสง

ยังคงเจิดแจรง เสียดแทงและท้าทายทรราช

สมุนชั่วชาติของมัน และก็เจ้านายของมันด้วย

ลบรอยน้ำตา เช็ดคราบเลือดออกไป

ขุดหลุมฝังศพเพื่อนแก้วเกลอขวัญ

ก้าวเดินกันต่อไป – ภายใต้แสงส่อง

ของดวงประทีปแห่งประชาธิปไตย

รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ได้เชิดชูขึ้นมาแล้ว

จงก้าวเดินกันต่อไปเถิด

ห้าทศวรรษแห่งความหวังที่อาจพบพานแต่ความผิดหวัง

ตราบใดโดมยังสถิตสถาพรอยู่

ตราบนั้น ศรัทธาและความหวังยังคงอยู่

ท่านผู้เชิดชูดวงประทีปแห่งประชาธิปไตยล่วงลับไปแล้ว

แต่วิญญาณแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยังคงอยู่

ยังคงอยู่สู้ต่อไป

โดม – ห้าทศวรรษแห่งความหวัง

6 ธันวาคม 2526”

ความน่าสนใจของกลอนเปล่าชิ้นนี้ นอกจากความงามทางฉันทลักษณ์และความหวังที่ปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึกของผู้บาดเจ็บเพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้ให้ก้าวเดินต่อไปแล้ว ก็คือการเชื่อมโยงสายใยข้ามประวัติศาสตร์จาก…

– รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ รุ่นการปฏิวัติ 2475 และเสรีไทยสงครามโลกครั้งที่สอง

–>ผ่านผู้ประพันธ์ซึ่งเป็นนักเขียนนักหนังสือพิมพ์และนักศึกษา มธก. รุ่นกบฏสันติภาพ 2494 ส่งทอดมายัง

–>นักศึกษารุ่น 14 ตุลาฯ 2516 และ 6 ตุลาฯ 2519 โดยเฉพาะที่ได้เข้าไปร่วมต่อสู้ในเขตชนบทป่าเขาแล้วอกหักพ่ายแพ้ออกมา

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของการเชื่อมโยงสืบทอดนี้ปรากฏให้เห็นตั้งแต่ก่อน 14 ตุลาคม 2516 ดังที่หนังสือซึ่งปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตดีเด่นของอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ แห่งรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ซึ่งได้รางวัล TTF Award สาขาสังคมศาสตร์ของมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย ประจำปี พ.ศ.2547-2548 เรื่อง และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ : การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ (2548) ได้เผยให้รู้ว่า…

บรรดาผลงานข้อเขียนของนักคิดนักเขียนปัญญาชนหัวก้าวหน้าแห่งพุทธทศวรรษ 2490 ซึ่งถูกเผด็จการสฤษดิ์สั่งแบนเป็นหนังสือต้องห้ามไปตั้งแต่ พ.ศ.2501 นั้น เริ่มผุดโผล่กลับมาปรากฏในแผงหนังสือและหน้านิตยสารเล่มละบาทของนักศึกษาตั้งแต่ก่อน 14 ตุลาคม 2516

ส่วนหนึ่งเพราะนักเคลื่อนไหวและปัญญาชนรุ่นกบฏสันติภาพและคอมมิวนิสต์ลาดยาวบางท่านได้นำเอาหนังสือเอกสารต้นฉบับที่อุตส่าห์เสี่ยงเก็บซ่อนหลงเหลือไว้เหล่านี้มาส่งต่อให้นักศึกษารุ่นหลังได้รื้อฟื้นเผยแพร่ใหม่นั่นเอง (บทที่ 5 การรื้อฟื้นวาทกรรมจากอดีต โดยเฉพาะ น.395-464)

กระบวนการสืบต่อส่งทอดภารกิจก้าวหน้าเพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยจากรุ่นสู่รุ่นยังคงดำเนินต่อไปในปัจจุบัน จากคนเดือนตุลาฯ, คนเดือนพฤษภาฯ ๒๕๓๕ และขบวนการสมัชชาคนจนแห่งพุทธทศวรรษหลัง 2535 เช่น ชมรมโดมรวมใจ สายใยนักกิจกรรม, ทนายกฤษฎางค์ นุตจรัส, อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อักษรศาสตร์ จุฬาฯ, อาจารย์พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ธนาพล อิ๋วสกุล บ.ก.ฟ้าเดียวกัน, ไอดา อรุณวงศ์ บ.ก.อ่าน, อ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล แห่งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่, อ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล แห่งนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ฯลฯ

มาให้กำลังใจ ประสบการณ์ ความรู้ ความคิดและช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมแก่นักศึกษาประชาชนรุ่นปัจจุบันที่กำลังดิ้นรนต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยของสังคมไทยในเงื่อนไขใหม่ของพวกเขาเอง

สรุปรวมความจากข้อมูลที่ไล่เรียงเสนอมาได้ว่า สังคมพันลึก หรือ Deep Society คือพลังสั่งสมตกทอด เหมือนเนื้อนาบุญในสังคมการเมืองวัฒนธรรมไทย จากการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย และภารกิจก้าวหน้าในอดีต

จากปฏิวัติ 2475–>เสรีไทย–>กบฏสันติภาพ–>คอมมิวนิสต์ลาดยาว–>14&6 ตุลาฯ–>อดีตสหายผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย–>พฤษภา 35–>สมัชชาคนจน–> นปช.เสื้อแดง–>คณะนิติราษฎร์–>กลุ่มดาวดิน&ขบวนการประชาธิปไตยใหม่

มันหยั่งยึดรากลึกอยู่ในสังคม เมื่ออยู่ภายใต้ระเบียบอำนาจที่กดปราบ สังคมพันลึกก็ลงลึกเพื่ออยู่รอด คอยรักษาสายใยเครือข่ายความเชื่อ เพื่อรอโอกาสร่วมกันทำตามที่เชื่อและผลักดันบ้านเมืองต่อไป เอื้อเฟื้อเกื้อหนุนนักสู้รุ่นใหม่ ส่งทอดความช่วยเหลือ กำลังใจ ทรัพยากรรูปต่างๆ โดยเฉพาะทรัพยากรทางวัฒนธรรมเพื่อการต่อต้าน (cultural resources of resistance)

ที่ตั้งของสังคมพันลึกจึงกระจายอยู่ทั้งในพื้นที่ส่วนลึก, พื้นที่ไซเบอร์ และพื้นที่สากล/ระหว่างประเทศ (deep space, cyberspace, international space)

สังคมพันลึกมีความหลากหลายแตกต่างขัดแย้งภายในทางด้านความคิดความเชื่อพื้นฐานและท่าทีการเมืองรูปธรรมเฉพาะหน้าในสถานการณ์หนึ่งๆ แต่ก็มีประสบการณ์, จิตตารมณ์, โครงสร้างความรู้สึกแห่งรุ่นร่วมกัน ฉะนั้น จึงเป็นธรรมดาที่ย่อมเกิดมีการแตกตัวกันภายใน, การนิยามตัวเองและกำหนดเอกลักษณ์ตัวเองใหม่, การเลือกข้างแบ่งฝ่ายกันใหม่เสมอ (political differentiation, self-redefinition, self-reidentification, realignment)

รัฐพันลึก vs. สังคมพันลึก จึงเป็นสองพลังหลักที่คัดง้างกันว่าสังคมการเมืองไทยจะไปทางใด?

การคัดง้างดังกล่าวนี้ไม่จบง่าย ไม่จบเร็ว เพราะพันลึกทั้งคู่ ความแตกต่างขัดแย้งนี้ยืดเยื้อยาวนาน

อาทิ ในประเด็นประชามติร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบัน : ถ้าผ่าน ก็ใช่ว่าสังคมพันลึกจะยอมแพ้ราบคาบวางมือ, ถ้าไม่ผ่าน ก็ใช่ว่ารัฐพันลึกจะเลิกราสลายหายไป พลังทั้งสองย่อมยังจะคัดง้างกันไปอีกหลายยก ยังอีกนาน

ปัญหาอยู่ตรงเมื่อรัฐพันลึกกลายสภาพเป็น –> รัฐทางการขึ้นมาแล้ว ก็มักใช้อำนาจอาญาสิทธิ์นิยามสังคมพันลึกเสียใหม่ให้กลายเป็นภัยความมั่นคงในทางการเมือง, ให้กลายเป็นอาชญากรในทางกฎหมาย และให้กลายเป็นเป้าสอดส่องติดตามของหน่วยงานข่าวกรองในทางปฏิบัติ

ฉะนี้แล้วโอกาสที่ความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายจะปะทุลุกลามกลายเป็นความรุนแรงโดยบังเอิญจึงมีเพิ่มขึ้น

ปมเงื่อนอยู่ตรงจะรักษาพื้นที่แห่งการต่อสู้แบบสันติวิธีไว้ให้สังคมไทยได้ทะเลาะกันอย่างสันติได้อย่างไร?

คำตอบในความเห็นของผมก็คือ จะต้องปกป้องรักษาพื้นที่สิทธิมนุษยชนไว้ ให้คนไทยทุกฝ่ายทุกกลุ่มได้ทะเลาะขัดแย้งกันอย่างเสรีและสันติสืบต่อไป จึงจะหลีกเลี่ยงการขยายระดับความขัดแย้งจนกลายเป็นความรุนแรงที่บั่นทอนสังคมไทยโดยรวมให้เสียหายร้าวลึกได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image