นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันที่ 26 พฤศจิกายนว่า เป็นมาตรการให้ความสำคัญกับทุกกลุ่ม และดูแลหลายๆ ด้าน ทั้งเรื่องกระตุ้นการบริโภค เพื่อให้เกิดการหมุนเวียน ขณะเดียวกันจะช่วยให้ประชาชาชนเข้าถึงในสิ่งที่มี เช่น ที่อยู่อาศัย ดูแลการลงทุน ดูแลผู้ประกอบการทั้งรายกลางรายเล็ก รวมถึงดูแลภาคเกษตร ซึ่งการออกมาตรการพิจารณาตามความเหมาะสม โดยจะเปิดเผยรายละเอียดหลังจากผ่านครม.เรียบร้อยแล้ว
“รัฐบาลและกระทรวงการคลังติดตามสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด จากภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น คงอยู่เฉยไม่ได้ ต้องมีมาตรการออกมาและทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ทั้งรัฐและเอกชน หากปล่อยไป ไม่ดูแล ความมั่นใจก็ไม่ดี ความรู้สึกก็หดหู่ มันจะยิ่งไปกันใหญ่ วันนี้จากตัวเลขรายไตรมาสพบว่าเศรษฐกิจเริ่มบวกแล้ว แต่ในการดูแลด้านเศรษฐกิจต้องทำต่อไป ไม่ใช่รอเฉยๆ”นายอุตตมกล่าว
เมื่อถามว่ามาตรการที่จะออกมาเพียงพอไหมที่จะดูแลเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี นายอุตตม กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงการคลังรับผิดชอบแค่ส่วนหนึ่ง และมาตรการออกมาแค่ในส่วนของคลัง โดยในส่วนของกระทรวงอื่น หน่วยงานอื่นเขาก็รับผิดชอบกันไป ซึ่งไม่ใช่ว่าไม่ทำงานด้วยกัน ก็ทำงานด้วยกัน แต่ในเรื่องรายละเอียดคงต้องไปถามผู้รับผิดชอบโดยตรง ถามกระทรวงการคลังคงไปตอบแทนไม่ได้ เพราะไม่มีข้อมูล
เมื่อถามว่ามาตรการส่งออกขณะนี้เพียงพอหรือยัง นายอุตตม กล่าวว่า คงต้องไปถามเขาดู(กระทรวงพาณิชย์) ซึ่งในการติดตามและประเมินเศรษฐกิจนั้นมีการหารือมีในครม.เศรษฐกิจ มีรายงานถึงสถานการณ์ส่งออก การบริโภค การลงทุนว่ามีปัญหาอย่างไร ซึ่งในทางปฏิบัติต้องให้ให้แต่ที่รับผิดชอบโดยตรงดูแล
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในวันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน กระทรวงการคลังเสนอมาตรการด้านเศรษฐกิจเข้าสู่ที่ประชุม ครม. โดยมาตรการจะให้ความสำคัญการช่วยเหลือกลุ่มที่กำลังเดือดร้อน เช่น เกษตรกร กลุ่มประชาชนฐานราก คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 5 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย มาตรการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/2563 โดยมีเป้าหมายเกษตรกรที่ปลูกข้าวจำนวน 4.31 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 3.4 ล้านไร่ หากผ่านครม.สามารถจ่ายเงินให้ชาวนาได้ทันที และคาดว่าจะทันกับการเก็บเกี่ยวเริ่มในช่วงเดือนพฤศจิกายน–ธันวาคม 2562
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า นอกจากนี้มีมาตรการพักหนี้เงินต้นสำหรับผู้กู้เงินจากแบงก์รัฐเป็นเวลา 1 ปี รวมถึงมีโครงการสินเชื่อสำหรับผู้ที่ต้องการกู้เงินรายใหญ่ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ มาตรการพักหนี้เงินต้นและสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีจะได้มีเงินในกระเป๋ามาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น รวมถึงรัฐบาลมีแผนที่จัดสรรเงินเพิ่มเติมให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ(กทบ.) เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับสมาชิก กทบ.กว่า 7.9 หมื่นหมู่บ้านทั่วประเทศ
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า สาเหตุที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกระลอก เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ล่าสุดสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษบกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ลดการคาดการณ์จีดีพีปีนี้ลงเหลือ 2.6%จากคาดการก่อนหน้า 2.8%เนื่องจากการส่ออกในปีนี้คาดว่าจะหดตัว2% ซึ่งตัวเลขจีดีพีล่าสุดที่สศช.ประเมินไว้ต่ำกว่าที่รัฐบาลชุดนี้เคยตั้งเป้าหมายเมื่อเข้ามาบริหารประเทศว่าจะดูแลเศรษฐกิจปีนี้ไม่ให้ต่ำกว่า 3%