ลุ้น‘อุทยานธรณีโคราช’…ก้าวขึ้นเป็น‘อุทยานธรณีโลก’

ผลจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 19 พ.ย.62 เห็นชอบให้เสนอ “อุทยานธรณีโคราช” เข้ารับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกขององค์การยูเนสโก ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ต้องส่งใบสมัครภายในวันที่ 30 พ.ย.นี้ หากอุทยานธรณีโคราชได้รับการรับรองเป็นอุทยานธรณีจะทำให้ จ.นครราชสีมา เป็น “UNESCO Triple Crown” หรือดินแดน 3 มงกุฎของยูเนสโก ประเทศที่ 4 ของโลก ต่อจากอิตาลี เกาหลีใต้ และจีน

ก่อนหน้านี้ นครราชสีมามีแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการรับรองเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโกแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ 1.ผืนป่าดงพญาเย็นและเขาใหญ่ และ 2.พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช เป็นมรดกมนุษย์และชีวมณฑล เหลือเพียงจีโอพาร์คโลกแห่งเดียวเท่านั้น ส่วนการผลักดันโคราช จีโอพาร์ค เป็นโครงการต่อเนื่องมาจากการค้นพบซากช้างดึกดำบรรพ์ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2535 หลังจากนั้น สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ให้การสนับสนุนการขุดค้นและวิจัย กระทั่งต่อมามีการค้นพบฟอสซิลไม้กลายเป็นหิน และฟอสซิลไดโนเสาร์หลายชนิด ที่บริเวณบ้านโกรกเดือนห้า ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา จากนั้นในปี 2540 จึงสนับสนุนงบประมาณจัดตั้งอุทยานไม้กลายเป็นหินขึ้น เพื่อเป็นแหล่งศึกษาวิจัยของนักวิจัยทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของ จ.นครราชสีมา ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

สุวัจน์ ลิปตพัลลภ

ต่อมา ปี 2542 สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ขณะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เสนอโครงการจัดสร้างอุทยานและพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน เฉลิมพระเกียรติ ร.9 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล จำนวน 95 ล้านบาท จัดสร้างอาคารต่างๆ ก่อนมีการสนับสนุนผลักดันเรื่อยมาจนกลายเป็น “สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ” ปัจจุบัน มี ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล เป็นผู้อำนวยการสถาบัน

ด้วยผลงานค้นคว้าวิจัยของสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน มีการขุดค้นพบซากฟอสซิลไม้กลายเป็นหินนับหมื่นชิ้น รวมทั้งขุดค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ของโลกหลายชนิด ที่ จ.นครราชสีมา ที่น่าสนใจ อาทิ ปี 2554 พบ ราชสีมาซอรัส สุรนารีโอ อายุ 110 ล้านปี, ไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์ ตัวแรกของไทย, ปี 2554 พบสยามโมดอน นิ่มงามมิ อายุ 110 ล้านปี, ไดโนเสาร์อิกัวโนดอน, ปี 2558 พบสิรินธรน่า โคราชเอนซิส อายุ 115 ล้านปี, ไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์ ขนาดยาว 6 เมตร, ปี 2550 พบโคราชพิเธคัส พิริยะอิ เอป ขนาดใหญ่ อายุ 7-6 ล้านปี มีความใกล้ชิดกับลิงอุรังอุตังในปัจจุบัน และล่าสุด ปี 2562 ได้พบ “สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ” พันธุ์ใหม่ ลำดับที่ 12 ของไทย มีอายุ 115 ล้านปีเป็นไดโนเสาร์พันธุ์กินเนื้อขนาดใหญ่ลำตัวยาวประมาณ 8 เมตร

Advertisement

นอกจากการขุดค้นซากฟอสซิลไม้กลายเป็นหินและซากฟอสซิลไดโนเสาร์แล้ว สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ยังทำการวิจัยภูมิศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา จนพบว่านครราชสีมามีความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นหลายประการ 1.ลักษณะภูมิประเทศเควสตา (Cuesta) หรือเขาอีโต้ 2.ซากดึกดำบรรพ์ พบจำนวนมาก 3.มรดกทางธรณีวิทยา ธรรมชาติ และวัฒนธรรม หลายยุค ทำให้เกิดโครงการผลักดันเป็นโคราชจีโอพาร์คขึ้น เมื่อปี 2544

“โคราชจีโอพาร์ค” เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำลำตะคอง ครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอ ของ จ.นครราชสีมา ได้แก่ สีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ เมืองนครราชสีมา และเฉลิมพระเกียรติ รวมพื้นที่ 3,167 ตารางกิโลเมตร มีภูมิประเทศเขาเควสตา (เขาอีโต้) และฟอสซิล 3 ยุค คือ ยุคครีเทเซียส (ราว 110 ล้านปีก่อน) ยุคนีโอจีน (ราว 16-2.6 ล้านปีก่อน) และยุคควอเทอร์นารี (ราว 2.6-0.01 ล้านปีก่อน) ดังนั้นจึงมีการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น เพื่อบริหารจัดการพื้นที่สำคัญแบบองค์รวม และส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงภูมิศาสตร์ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจนกลายเป็นจีโอพาร์คระดับโลก

วิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า วันนี้ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนในพื้นที่ 5 อำเภอของพื้นที่อุทยานธรณีจีโอพาร์ค (Geopark) ว่าจีโอพาร์ค คืออะไร เมื่อได้รับการรับรองจากยูเนสโกแล้ว จะส่งผลอย่างไรต่อประชาชนในพื้นที่ 5 อำเภอ เนื่องจากการเป็นอุทยานธรณีระดับโลก ไม่ใช่เพียงแค่การประกาศว่ามีฟอสซิสหรือซากดึกดำบรรพ์ในระดับโลกเท่านั้น แต่จะสามารถได้ประโยชน์ในเรื่องของเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว หรือ การพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่องต่อไปด้วย จึงต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อช่วยกันผลักดันโคราชจีโอพาร์คให้ได้การรับรองจากยูเนสโกต่อไป

Advertisement
วิเชียร จันทรโณทัย

ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน กล่าวว่า คุณค่าของดินแดนแห่ง 3 มงกุฎทางธรรมชาติของยูเนสโก จะส่งผลให้ประเทศไทยและจังหวัดนครราชสีมา มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ สามารถเพิ่มนักท่องเที่ยวได้หลายเท่าตัว เช่น จังหวัดเชจู เกาหลีใต้ มีนักท่องเที่ยวเพิ่ม 4 ล้านคน ภายใน 3 ปี โดยเครือข่ายความร่วมมือ 3 มงกุฎ หรือ Triple Crown ทำให้เพิ่มคุณค่าโคราชให้เป็นเมืองท่องเที่ยวโดดเด่น โดยใช้เส้นทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วงรอบ “เขาใหญ่-สะแกราช-ท่าช้าง-ท้าวสุรนารี-ศรีจนาศะและขอม-เควสตา เขายายเที่ยงหรือภูผาสูง”สามารถส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวและเกิดประโยชน์กับชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

ชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ปัจจุบันนี้เป็นที่รับรู้ทั่วไปแล้วว่าโคราชจีโอพาร์ค มีความพิเศษหลายอย่าง เหมาะสมกับการได้รับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกขององค์การยูเนสโก เมื่อกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลกแล้ว จะทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวในพื้นที่ จ.นครราชสีมา เพิ่มขึ้นมหาศาล จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของ จ.นครราชสีมา รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียงอีกด้วย

“หอการค้าจังหวัดนครราชสีมาจะร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับโคราชจีโอพาร์ค เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่า ทั้งการบริการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน และการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ให้กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป” ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมากล่าวทิ้งท้าย

ชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image