จับกระแส ดราม่า ‘The Cave นางนอน’ เมื่อผู้ว่าฯ หมูป่า รับไม่ได้

The Cave นางนอน
The Cave นางนอน

จับกระแส ดราม่า ‘The Cave นางนอน’ เมื่อผู้ว่าฯ หมูป่า รับไม่ได้

กลายเป็นกระแสดราม่าหนักมาก จนทำให้แฮชแท็ก #ผู้ว่าฯหมูป่าไม่ปลื้ม #TheCaveนางนอน พุ่งขึ้นอันดับหนึ่งทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

เมื่อการพบกันครั้งแรกระหว่าง ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง หรือที่รู้จักในนามผู้ว่าฯหมูป่า อดีตผู้บัญชาการเหตุการณ์ช่วยเหลือนักฟุตบอลทีมหมูป่า และโค้ช รวม 13 ชีวิต ที่ติดในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อกรกฎาคม 2561 กับผู้กำกับชื่อดังอย่าง ทอม วอลเลอร์ แห่ง เดอ วอร์เรนท์ พิคเจอร์ ผู้สร้างหนัง The Cave นางนอนŽ

ในการฉายภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์การกุศล ที่จัดขึ้นที่โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซาลำปาง เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน

เมื่อมาถึงโรงภาพยนต์ ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์Ž ทักทายผู้มาร่วมงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ และภาคเอกชนในพื้นที่ จ.ลำปาง โดยมี ทอม วอลเลอร์ และจิม วอร์นี่ นักดำน้ำชาวเบลเยียม หนึ่งในทีมดำน้ำชาวต่างชาติ ที่เข้าไปในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน เพื่อช่วยเหลือทีมนักฟุตบอลหมูป่าออกมา โดยเฉพาะโค้ชเอก ที่จิม วอร์นี่ทำหน้าที่ดำน้ำพาออกมาเป็นคนสุดท้าย

Advertisement

สำหรับวอร์นี่บินข้ามฟ้ามาร่วมงานในครั้งนี้ เพราะถือว่าจะเป็นกิจกรรมครั้งประวัติศาสตร์ และเป็นครั้งแรกที่ทั้งผู้ว่าฯหมูป่า ผู้กำกับชื่อดัง และนักดำน้ำ ซึ่งเป็นนักแสดงในภาพยนตร์จะได้พบกันเป็นครั้งแรก

กระแสดราม่าและเรื่องราวเริ่มขึ้นหลังจาก ณรงค์ศักดิ์Ž ร่วมบันทึกภาพร่วมกัน จากนั้นเริ่มพูดคุยถึงเนื้อหาในภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยผู้ว่าฯ ระบุว่าไม่ตรงกับเหตุการณ์จริง หากคนดูทั่วโลกได้รับชม อาจจะได้รับทราบเหตุการณ์ที่ไม่เป็นจริง ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่อยากบอกกับ ผู้กำกับ

ก่อนที่ ทอมŽ ตอบกลับว่า เรานำเสนอภาพยนตร์ ไม่ใช่สารคดี ซึ่งผู้ว่าฯหมูป่าตอบโต้ว่า ภาพยนตร์ที่นำเสนอนั้นระบุว่า สร้างจากเนื้อหาเหตุการณ์จริง จึงทำให้หลายคนที่ทราบข้อเท็จจริง หรือเหตุการณ์จริงนั้น รับไม่ได้ต่อภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว

ณรงค์ศักดิ์Ž ระบุอีกว่า ตอนนี้ภาพยนตร์เรื่องนี้กำลังถูกวิจารณ์ และโดนถล่มกันมาก เพราะเนื้อหาไม่ตรงกับความเป็นจริง ตามจริงแล้วภาพยนตร์น่าจะสร้างความสามัคคีให้กับทุกคนได้ แต่ตอนนี้มุมมองมันต่างกันแล้ว เป็นเพียงมุมเล็กของนักดำน้ำชาวต่างชาติที่นำเสนอผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ ในส่วนของคนที่มีส่วนร่วมอีกนับหมื่นคนมันหายไป

ด้าน ทอม วอลเลอร์ กล่าวว่า มุมมองการนำเสนอของภาพยนตร์เรื่องนี้ จะเกี่ยวกับการกู้ภัยชาวต่างชาติ ที่ไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ และเป็นเรื่องของนักดำน้ำ จิม วอร์นี่ ที่มาจากเมืองนอก

ก่อนหน้านี้เราทราบแล้วว่า จะมีการวิจารณ์ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ จะไม่มีนี่ จะไม่มีนั้น ซึ่งเราก็เข้าใจ แต่ก็อยากจะบอกว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ จะเป็นมุมหนึ่งของเรื่องราวการช่วยเหลือของ จิม วอร์นี่ นักดำน้ำชาวเบลเยียม ที่เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อร่วมภารกิจแห่งประวัติศาสตร์ในครั้งนี้

นอกจากนี้ ทอมŽ บอกว่า เราพยายามจะถ่ายทำในหลายอย่าง แต่ถูกรัฐบาลไทย ห้ามไว้ ซึ่งทางผู้ว่าฯรีบตอบทันทีว่า รัฐบาลไม่ได้ห้าม ที่ผ่านมา มีทีมถ่ายทำกว่า 50 ทีม ทั้งอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยียม และญี่ปุ่น รวมถึงจีน และออสเตรีย เข้ามาหา และสัมภาษณ์ถึงข้อเท็จจริง ทีมถ่ายทำมากันเต็มห้อง เหมือนยกสตูดิโอมาตั้งในห้องเลย จึงอยากให้ผู้กำกับฯ ทอม เข้าใจ อยากให้คนทำภาพยนตร์ทำการบ้านให้มากกว่านี้

ด้านผู้กำกับฯทอม ชี้แจงว่า ไม่รู้ทำไมตอนที่ดำเนินการ ทางกระทรวงวัฒนธรรมถึงห้าม และไม่อนุญาต
จากบทสนทนาที่ดูเหมือนจะดุเดือดนั้น จึงเกิดกระแสดราม่าหนักว่า #ผู้ว่าฯหมูป่าไม่ปลื้ม กับภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว

โดยทอม วอลเลอร์ กล่าวถึงความรู้สึกถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า มีอะไรอีกหลายอย่างที่ไม่ได้บรรจุอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่ในเชิงภาพยนตร์เราก็อยากจะฝากกับคนดูว่า เป็นแค่มุมเล็กในเหตุการณ์ระดับโลก แต่เรื่องราวจะมุ่งไปที่ จิม วอร์นี่ นักดำน้ำชาวเบลเยียม ซึ่งก็ได้ไปพบกันที่ประเทศไอร์แลนด์ ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจจะมีบางอย่างที่ท่านอาจจะมองว่า มันไม่เกิดขึ้นแบบนั้น หรือแบบนี่ แต่นี่คือเชิงภาพยนตร์เราได้พยายามทำดีที่สุด เท่าที่ผมได้ข้อมูลมา ดังนั้น จึงไม่ใช่เป็นหนังที่เป็นสารคดี แต่ว่าก็พยายามที่สุด เพื่อทำภาพยนตร์ออกมาให้ทุกคนดูได้

ขณะที่ ณรงค์ศักดิ์Ž กล่าวอีกว่าภาพยนตร์เรื่อง THE CAVE นางนอน เป็นการนำเสนอวีรบุรุษท่านหนึ่งคือ จิม วอร์นี่ นักดำน้ำชาวเบลเยียม จ่าแซม และทีมงานนักดำน้ำที่เข้าไปช่วยอย่างยากลำบาก เราชื่นชมในโปรดักชั่น แต่สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้ถ่ายทอดคือ แผนการปฏิบัติงานของเรา 4 แผน คือ

1.สูบน้ำออกเท่าที่นักดำน้ำต้องการ เพื่อให้นักดำน้ำเข้าไปช่วยเด็กออกมา

2.เดินทางโพรงบนยอดดอย เพื่อหาทางเข้าถ้ำ

3.หาเส้นทางของน้ำที่ไหลเข้าถ้ำ

4.หาจุดผนังถ้ำที่บางที่สุด และหาจุดที่เด็กอยู่และเจาะถ้ำ

นอกจากนี้ อยากฝากเรื่องราวบางอย่างที่ปรากฏในภาพยนตร์ แต่มันเป็นมุขที่ข้าราชการอย่างตัวเองเสียความรู้สึกและเสียใจ ถูกนำมาล้อเลียนในภาพยนตร์ที่จะนำไปฉายทั่วโลก เช่น ฉากที่มีการแลกบัตร และการพูดกับทีมสูบน้ำว่าให้กลับไปเก่งที่นครปฐม

และขอย้ำหากใครชมแล้วก็ขอให้เข้าใจว่ามันคือ ภาพยนตร์ ไม่ใช่สารคดี จริงๆ แล้วควรใช้คำว่าบทภาพยนตร์ คนจะได้เข้าใจ เพราะหากบอกว่าเรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริง แต่หลายเรื่องมันไม่จริง แม้แต่ตัวละครหลายตัวก็ไม่สามารถบอกได้ว่าคือใคร คอสตูมต่างๆ อาจจะไม่ตรง

ด้าน บัณฑิต ทองดี ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ให้ความคิดเห็นถึงกรณีนี้ว่า ในการสร้างภาพยนตร์จากเหตุการณ์จริงนั้น ลำดับแรกที่ต้องทำก็คือ การค้นหาข้อมูลถึงเรื่องดังกล่าวทั้งหมดเท่าที่จะทำได้ ทำการสัมภาษณ์บุคคลในเหตุการณ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ หาข้อมูลที่ถูกต้อง และครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะทำได้

แต่สำหรับกรณีของ ทอม วอลเลอร์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง THE CAVE นางนอน เข้าใจว่าไม่มีโอกาสได้รับทราบข้อมูลเจาะลึกมากกว่าที่นำเสนอได้ หลังจากนั้นทีมงานผู้สร้างภาพยนตร์จะต้องนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และตั้งเป้าหมายของภาพยนตร์ว่า จะไปในทิศทางไหน

แต่สำหรับภาพยนตร์เรื่อง THE CAVE นางนอน เข้าใจว่าผู้ชมอาจคาดหวังให้ภาพยนตร์ถ่ายทอดความสามัคคี และการต่อสู้ของทีมผู้ช่วยเหลือ 13 ชีวิตหมูป่า คิดว่าทีมผู้สร้างอาจไม่ได้มีข้อมูลที่ชัดเจน เนื่องจากข้อมูลของ 13 ชีวิตหมูป่า นั้นไม่สามารถนำมาถ่ายทอดได้ เพราะมีลิขสิทธิ์ของ 13 ชีวิต เป็นของผู้สร้างต่างประเทศไปแล้ว จึงไม่สามารถหาข้อมูลในส่วนดังกล่าวได้

จึงต้องไปสอบถามข้อมูลในส่วนอื่น เช่น ทีมสูบน้ำ หรือนักดำน้ำจากต่างประเทศ ข้อมูลดังกล่าวจึงเป็นมุมมองใหม่ที่ยังไม่เคยถูกนำเสนอจากข่าวมาก่อน ดังนั้น จึงไม่อยากตัดสินว่าฝ่ายใดถูกหรือผิด เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงของแต่ละบุคคล ภาพยนตร์จึงเป็นแนววิเคราะห์บริบทการทำงานของข้าราชการไทย เท่าที่ผู้ผลิตจะถ่ายทอดได้

ทั้งนี้ ยืนยันว่าการสร้างภาพยนตร์ที่มาจากเรื่องจริงนั้น ต้องระวังในการถ่ายทอด เนื่องจากมีเรื่องกฎหมายมาเกี่ยวข้อง หากบุคคลในภาพยนตร์เกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ ก็มีสิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีทางกฎหมายกับทางผู้ผลิตภาพยนตร์ได้

ทางผู้ผลิตสามารถเสริมใส่สีสันลงในภาพยนตร์ที่สร้างได้ อาจสร้างตัวละครใหม่ขึ้นมาที่ไม่มีตัวตนจริงในสังคม แต่ต้องระมัดระวังการเข้าใจผิดที่จะเกิดขึ้น อย่างไรสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ทางผู้กำกับภาพยนตร์คงต้องออกมาพูดว่าเจตนาที่สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้คืออะไร ถ่ายทอดให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ออกมาขอโทษพร้อมอธิบายเหตุผล เชื่อว่าทุกอย่างจะผ่านไปได้ด้วยดี

นั่นคือมุมมองจากฝ่ายต่างๆ และสุดท้ายขึ้นกับผู้ชมว่าจะตัดสินภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image