คลังโชว์ยอดปล่อยกู้แก้หนี้นอกระบบเกือบ 3 หมื่นล. จับกุมเจ้าหนี้ผิดกฎหมายแล้วกว่า 5 พันราย

นายพรชัย  ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินการแก้หนี้นอกระบบในเดือนตุลาคม พบว่าในส่วนสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ(พิโกไฟแนนซ์)นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 จนถึง ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2562  มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้งประเภทพิโกไฟแนนซ์และประเภทพิโกพลัสรวมจำนวนทั้งสิ้น 1,231 ราย ใน 76 จังหวัด โดยในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีนิติบุคคลที่คืนคำขออนุญาตรวมจำนวนทั้งสิ้น 126 ราย ใน 51 จังหวัด จึงคงเหลือนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตสุทธิเป็นจำนวน 1,106 ราย ใน 75 จังหวัด และมีผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภท จำนวนฃ 712 ราย ใน 72 จังหวัด ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจได้แจ้งเปิดดำเนินการแล้วจำนวน 617 ราย ใน 68 จังหวัด และได้ดำเนินการปล่อยสินเชื่อแล้วจำนวน 566 ราย ใน 68 จังหวัด

นายพรชัยกล่าวต่อว่า สำหรับยอดสินเชื่ออนุมัติสะสมและยอดสินเชื่อคงค้างสะสมณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสมจำนวน 138,479 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 3,679.73 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ยจำนวน 26,572.47 บาทต่อบัญชี  ทั้งนี้มียอดสินเชื่อคงค้างสะสม 64,336 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 1,755.29 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อคงค้างชำระ 1 – 3 เดือน สะสมรวมจำนวน 7,719 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 230.50 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13.13% ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม และมีสินเชื่อคงค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) สะสมรวมจำนวน 6,818 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 191.22 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10.89% ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม

นายพรชัยกล่าวต่อว่า ส่วนยอดสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อนุมัติสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินสำหรับเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบทดแทนหนี้นอกระบบรายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0.85% ต่อเดือน โดยได้เร่งกระจายความช่วยเหลือด้านสินเชื่อดังกล่าวแก่ประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2562 มีการอนุมัติสินเชื่อสะสมรวม 622,780 ราย เป็นจำนวนเงิน 27,361.33 ล้านบาท

นายพรชัยกล่าวว่า ส่วนการดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงกวดขันจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบและผู้ติดตามทวงถามหนี้โดยวิธีการผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดสะสมนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 เป็นต้นมา จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2562 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 5,309 คน

Advertisement

นายพรชัยกล่าวว่า สศค.ปรับปรุงประกาศสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ในส่วนของรูปแบบการเขียนแผนการดำเนินธุรกิจเพื่อช่วยลดข้อผิดพลาดในการจัดทำเอกสารประกอบการยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับผู้ประกอบธุรกิจ โดยแผนการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา

นายพรชัยกล่าวว่า จำนวนผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ทั้งประเภทพิโกไฟแนนซ์ (มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่ประชาชนได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย และเรียกเก็บดอกเบี้ย กำไรจากการให้สินเชื่อ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมอื่นใด รวมกันได้ไม่เกิน 36% ต่อปี (Effective Rate)) และประเภทพิโกพลัส ทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่ประชาชนได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย และเรียกเก็บดอกเบี้ย กำไรจากการให้สินเชื่อ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมอื่นใด รวมกันได้ไม่เกิน 36% ต่อปี (Effective Rate) สำหรับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50,000 บาทแรก และสำหรับวงเงินสินเชื่อที่เกินกว่า 50,000 บาทเป็นต้นไป ให้เรียกเก็บได้ไม่เกิน28% ต่อปี (Effective Rate) ในเดือนตุลาคม 2562 ก็ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภท สามารถให้บริการสินเชื่อโดยรับสมุดคู่มือทะเบียนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือรถเพื่อการเกษตรเป็นประกัน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน หรือ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ได้ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image