“ภักดี”กก.วัตถุอันตรายยืนยันมติฯถูกต้องตามกฎหมาย

“ภักดี”กก.วัตถุอันตรายยืนยันมติฯถูกต้องตามกฎหมาย อยากให้สังคมพิจารณาข้อมูลทุกฝ่ายให้รอบด้าน

นายภักดี โพธิศิริ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. อดีตเลขาธิการสำนักงานอาหารและยา(อ.ย.) ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัตถุอันตรายเปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ว่า ในการประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ตนในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิเห็นด้วยกับที่ประชุม ซึ่งการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีนายสุริยะ เป็นประธาน ดำเนินไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ทั้งนี้อยากให้ประชาชน และมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายรับฟังข้อมูลทุกฝ่ายให้รอบคอบ

นายภักดีกล่าวว่า เดิมปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำเสนอความคืบหน้าออกประกาศกำหนดให้สารทั้ง 3 ตัวเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ว่าได้ไปจัดเตรียมการสำหรับการแบนตามกำหนดแล้ว แต่พบปัญหาอุปสรรคไม่สามารถดำเนินการได้ทันเวลา เนื่องจากการยกเลิกสารทั้ง 3 ตัวมีผลกระทบต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างมาก ทำให้รัฐต้องใช้เงินเป็นจํานวนมากในการแก้ปัญหาทั้งระบบ จึงเสนอในที่ประชุมขอใช้มาตรการจํากัดการใช้ทั้ง 3 สารเช่นเดิม แต่ขอลดระยะเวลาการจำกัดการใช้จากเดิมที่กําหนดไว้ 2 ปี เป็น 1 ปี ประธานได้เปิดโอกาสให้กรรมการทุกท่านแสดงความเห็นอย่างเต็มที่ และกรรมการส่วนใหญ่เสนอให้ออกประกาศโดยปรับพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 แต่ให้มีขยายเวลาในการยกเลิกไปอีก 6 เดือน ซึ่งน่าจะเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้กรมวิชาการเกษตรไปเร่งรัดการเตรียมความพร้อมในเรื่องของสารทดแทนหรือวิธีการอื่นๆที่เหมาะสม และมาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

นายภักดีกล่าวว่า สำหรับไกลโฟเซต ที่ประชุมเห็นว่ายังไม่สมควรประกาศเป็นชนิดที่ 4 และขอให้ใช้มาตรการจํากัดการใช้ไปก่อน เนื่องจากสารดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างมากโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรต้องมีการติดตามเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และนำมารายงานคณะกรรมการฯ ทุก 3 เดือน  โดยเฉพาะข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยงของไกลโฟเซตในสหรัฐอเมริกา โดย EPA มีค่า LD50 oral มากกว่า 5,๐๐๐ mg/kg และจัดเป็นสารก่อมะเร็ง ประเภท 2A คือยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ และสหรัฐอเมริกายังคงอนุญาตให้ใช้ได้ เนื่องจากมีการบริหารจัดการที่ดี มีการควบคุม และให้ความรู้ให้เกษตรกรได้ใช้อย่างถูกต้อง เนื่องจากไกลโฟเซตเป็นของแข็ง ไม่มีการระเหย จึงไม่มีการแพร่กระจายในอากาศ จัดว่ามีความเป็นพิษต่ำถ้าไม่มีการสัมผัสโดยตรง อย่างไรก็ตามกรมวิชาการเกษตรต้องไปศึกษาเรื่องสารทดแทนและนํามาเสนอในการประชุมครั้งต่อไป”นายภักดีกล่าว

Advertisement

นายภักดีกล่าวว่า ช่วงท้ายการประชุม ฝ่ายเลขานุการได้พิมพ์ร่างมติเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณา ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาปรับแก้ร่างมติ จนเป็นที่พอใจในระดับหนึ่ง และประธานได้สอบถามกรรมการว่าเห็นด้วยหรือไม่ กรรมการส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่มีกรรมการบางท่านแจ้งว่าไม่เห็นด้วยสำหรับมติที่จะกำหนดให้แบน สาร 2 ตัว ภายใน 6 เดือน เนื่องจากเห็นว่าระยะเวลาที่จะกำหนดควรต้องให้กรมวิชาการเกษตรไปศึกษาข้อมูลให้ชัดเจนก่อน จึงค่อยนำมาพิจารณากำหนด และมีกรรมการบางท่านขอตั้งเป็นข้อสังเกต ซึ่งฝ่ายเลขาขอให้ที่ประชุมรับรองมติด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image