กฟผ.ชงปรับสูตรก๊าซกดค่าไฟ

กฟผ.ชงปรับสูตรก๊าซกดค่าไฟ รับแผนนำเข้าแอลเอ็นจีแทนซื้อจากปตท. เดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชน200เมกกะวัตต์

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ(กฟผ.) เปิดเผยว่า ได้เสนอสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือกกพ. ปรับสูตรการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าให้เหมาะสมใหม่ รองรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี ที่ภาครัฐให้กฟผ.ทดสอบนำเข้า โดยขอให้เป็นสูตรราคาเฉลี่ยใหม่(พูล)เพื่อให้ต้นทุนไม่กระทบค่าไฟฟ้า และยังทำให้ต้นทุนแข่งขันได้ โดยพูลใหม่เสนอเป็นราคาแอลเอ็นจีที่กฟผ.นำเข้าทดแทนราคาแอลเอ็นจีที่บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) นำเข้า โดยราคาทั้งพลูใหม่และพลูเดิม ยังนำราคานำเข้าจากเมียนมาและราคาก๊าซฯจากอ่าวไทยมาหารเฉลี่ยเช่นเดิม โดยกฟผ.จะรายงานผลการเปิดประมูลการจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหล หรือแอลเอ็นจี ในรูปแบบตลาดจร ให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ในวันที่ 4 ธันวาคมนี้รับทราบ ก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ในวันที่ 16 ธันวาคมนี้ พิจารณาอนุมัตินำเข้าตามแผนการดำเนินงานต่อไป

“การประมูลแอลเอ็นจี ราคา ตลาดจร (สปอต) ที่จะนำเข้าเดือนธันวาคมนี้ จะเป็นราคาที่บริษัท ปิโตรนาส แอลเอ็นจี มาเลเซีย เป็นผู้ชนะการประมูล ซึ่งราคาถูกมากต่ำกว่า 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ต่ำกว่าการประมูลสัญญาระยาว1.5ล้านตันรอบที่ผ่านมาที่ปิโตรนาสชนะเช่นกัน ราคาประมาณ 7 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่งล่าสุด กฟผ.ได้แจ้งต่อ ปิโตรนาสชะลอการนำเข้า ในการประมูลสัญญาระยะยาวไปก่อน”นายวิบูลย์กล่าว

นายวิบูลย์กล่าวว่า ความคืบหน้าแนวทางส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น กฟผ.สนใจเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน หลังจากได้นำเสนอแผนจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เพื่อใช้เป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าชุมชนแล้ว เบื้องต้นมีแผนส่งเสริมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน บริเวณพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าและเขื่อนของ กฟผ. กำลังการผลิตรวมประมาณ 100-200 เมกะวัตต์ ส่วนแต่ละโรงไฟฟ้าจะมีกำลังการผลิตเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับศักยภาพของวัตถุดิบในแต่ละพื้นที่

Advertisement

นายวิบูลย์กล่าวว่า นอกจากนี้ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือสืบสานศาสตร์พระราชาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายความยั่งยืนโลก ระหว่าง กฟผ. กระทรวงพลังงาน และอีก 5 หน่วยงาน ภายใต้กรอบระยะเวลา 3 ปี เป็นการแสดงถึงความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานหลายภาคส่วนเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานที่มุ่งแก้ปัญหาใน 3 ประเด็นหลัก คือ น้ำ อาหาร และพลังงาน เพื่อสร้างความมั่นคงตามเป้าหมายความยั่งยืนโลก โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นและประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน และเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็งต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image