‘ดีแทค’ ยก ‘มาเลเซีย’ เป็นไอดอล ดันความร่วมมือรัฐ-เอกชน นำ ‘5G’ สู่ความสำเร็จ

นายมาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค

นายมาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เปิดเผยมุมมองดีแทคต่อการประมูลคลื่นความถี่สำหรับ 5G ในปี 2563 ว่า 3 ปัจจัย​หลักที่จะทำให้ประเทศไทยพัฒนาไปสู่การมี 5G ที่ยั่งยืน ได้แก่ 1.ความต้องการใช้งาน (ดีมานด์) โดยปัจจุบันรูปแบบการใช้งาน (ยูสเคส) ส่วนใหญ่ยังเน้นไปที่ความเร็วของ 5G ที่รวดเร็วกว่า 4G เท่านั้น แต่ในอนาคตเชื่อว่า ประโยชน์ของ 5G จะพัฒนาและเห็นได้ชัดขึ้นต่อเมื่อมีการพัฒนาและมีดีมานด์ในตลาดที่ชัดเจน ซึ่งสำหรับดีแทคมีความสนใจเรื่อง 5G และมีการเตรียมความพร้อมในการให้บริการ

2.ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะแตกต่างจากระบบ 3G หรือ 4G ที่รัฐบาลจัดการประมูลคลื่นความถี่ โดยเปิดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) เข้าร่วมประมูล เพราะเชื่อว่า การแข่งขันจะนำมาซึ่งการให้บริการที่ดีกว่า แต่ในกรณีของ 5G นั้น จะแตกต่างออกไป โดยในหลายประเทศมองว่า ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนมีส่วนในการทำให้ 5G ประสบความสำเร็จ เช่น มาเลเซีย โดยรัฐบาลมีความพยายามขับเคลื่อนให้เกิดดีมานด์ในตลาด ขณะเดียวกัน ก็มีการสนับสนุนการจัดหา (ซัพพลาย) ให้กับโอเปอเรเตอร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่อยากเห็นในประเทศไทยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะที่จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ระดับชาติในทุกภาคส่วน

3.ความพร้อมด้านโครงข่าย (เน็ตเวิร์ค) ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคลื่นความถี่ (สเปกตรัม) เพียงอย่างเดียว โดยปัจจุบันจะพบว่า มีการพูดถึงเฉพาะการมีคลื่นความถี่ที่เพียงพอ แต่ไม่มีการพูดถึงการเตรียมความพร้อมด้านโครงข่าย ซึ่งดีแทค เตรียมความพร้อมในการก้าวไปสู่ 5G ซึ่งเข้าใจว่า คู่แข่งขันก็กำลังดำเนินการอยู่เช่นเดียวกัน โดยในเรื่องโครงข่ายนี้ยังมีเรื่องที่ต้องตามมาอีกหลายเรื่อง อาทิ การแชร์โครงข่าย (เน็ตเวิร์ค แชร์ริ่ง) ซึ่งการทำ 5G ที่แท้จริง หากจะแข่งขันกันก็สามารถทำได้ แต่ไม่สามารถพัฒนาไปสู่การมี 5G อย่างยั่งยืนได้

“ทั้ง 3 ปัจจัยเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ 5G ประสบความสำเร็จ ซึ่งในแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ (สเปกตรัม โรดแมป) ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือการประมูลคลื่นความถี่ ควรที่จะพัฒนาอยู่บนปัจจัยเหล่านี้ด้วย การให้บริการ 5G จึงจะประสบความสำเร็จ” นายมาร์คุส กล่าว

Advertisement

นายมาร์คุส กล่าวว่า การประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้ เป็นการประมูลแบบหลายย่านความถี่พร้อมกัน ประกอบด้วย คลื่นความถี่ย่าน 700, 1800, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ ซึ่งไม่ใช่ทุกคลื่นความถี่จะนำมาให้บริการ 5G ได้ โดยคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์จะเป็นคลื่นความถี่ที่ได้รับความสนใจมากที่สุด แต่ในการประมูลมีการกำหนดเงื่อนไข ได้แก่ 1.ผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 50% ของพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ภายใน 1 ปี และลงทุนในพื้นที่สมาร์ทซิตี้ 6 จังหวัดไม่น้อยกว่า 50% ภายใน 4 ปี ทั้งนี้ การชำระค่าใบอนุญาต ผู้ชนะการประมูลได้รับการยกเว้นเป็นเวลา 3 ปี โดยปีที่ 1 ให้ชำระค่าใบอนุญาต 10% ส่วนปีที่ 2-4 เว้นการชำระค่าใบอนุญาต จากนั้นปีที่ 5-10 ชำระค่าใบอนุญาต 15% 2.คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ จะนำออกมาประมูลจำนวน 190 เมกะเฮิรตซ์ หรือ 19 ใบอนุญาต โดยมีการกำหนดเพดานการประมูล ให้ผู้เข้าร่วมการประมูลแต่ละรายประมูลได้ไม่เกิน 100 เมกะเฮิรตซ์ หรือ 10 ใบอนุญาต และ 3.พบว่า คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ช่วง 2600-2620 เมกะเฮิรตซ์ ไม่สามารถใช้งานได้ 100% และยังไม่ทราบว่าจะใช้งานได้ครบ 100% เมื่อใด

ดังนั้น ดีแทค จึงมีข้อเสนอใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การประมูลแบบหลายย่านความถี่พร้อมกันนั้นดีแทคเห็นด้วย แต่ขอให้ กสทช. เลื่อนเวลาการประมูลออกไปอีกสักระยะ เพื่อให้สามารถนำคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์​ ออกมาประมูลพร้อมกัน ทั้งนี้ ทางเทคนิค คลื่นความถี่ย่าน 2600 และ 3500 เมกะเฮิรตซ์ มีคุณสมบัติที่ทดแทนกันได้ และในหลักสากล จะมีการนำย่านความถี่กลาง (มิดแบนด์)​ ทั้งสองย่านดังกล่าวมาจัดสรรพร้อมกัน เพื่อป้องกันกรณีที่เผชิญความขาดแคลนของจำนวนคลื่น ดังนั้น คลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์​ จึงเป็นตัวแปรสำคัญของผู้เข้าประมูลในการพิจารณา เพื่อนำไปพัฒนาในเชิงเทคโนโลยีสำหรับ 5G ในจังหวะเวลาที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ อยู่ในการครอบครองของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เพื่อให้บริการในกิจการดาวเทียม โดยจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2564 ซึ่ง กสทช. ไม่จำเป็นต้องรอให้สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน โดย กสทช. อาจนำคลื่นความถี่ดังกล่าวออกมาประมูลล่วงหน้า และเมื่อคลื่นความถี่พร้อมใช้งานจึงเปิดให้บริการต่อไป

Advertisement

ขณะเดียวกัน ควรกำหนดเพดานการถือครองคลื่นความถี่​ย่าน 2600 เม​กะ​เฮิรตซ์​ เพื่อป้องกันการบิดเบือนของตลาด และกระจายการถือครองของผู้ให้บริการ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนา 5G มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ กสทช. อาจพิจารณาการออกหลักเกณฑ์การถือครองคลื่นความถี่จากจำนวนผู้เข้าประมูล เช่น เพดานการถือครองที่ 60 เมกะเฮิรตซ์​ สำหรับการประมูลที่มีผู้เข้าร่วมประมูลมากกว่า 3 ราย, 80 เมกะเฮิรตซ์​ สำหรับการประมูลที่มีผู้เข้าร่วมประมูล 3 ราย และ 100 เมกะเฮิรตซ์​ สำหรับการประมูลที่มีผู้เข้าร่วมประมูล 2 ราย เป็นต้น

ส่วนความชัดเจนในการจัดการการรบกวนของคลื่นความถี่ โดยเฉพาะคลื่นความถี่​ย่าน 2600 เม​กะ​เฮิรตซ์​ ซึ่งปัจจุบันพบว่า คลื่น​ความถี่​ย่าน 2600 เม​กะ​เฮิรตซ์​ มีการใช้งานอยู่ 20 เมกะเฮิรตซ์​ ดังนั้น กสทช. จึงควรให้ความชัดเจนถึงแนวทางในการจัดการกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการรบกวนกันของคลื่นความถี่ และข้อกำหนดในการใช้งาน เพื่อให้ผู้เข้าประมูลสามารถประเมินมูลค่าที่เหมาะสมในการลงทุน

2.การกำหนดราคาคลื่นความถี่ โดยกำหนดราคาเริ่มต้นของการประมูลคลื่นความถี่ที่สูงเกินไป ซึ่งจากร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ กำหนดให้คลื่นความถี่​ย่าน 2600 เม​กะ​เฮิรตซ์​ มีราคาเริ่มต้นที่ 1,862 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาต (10 เมกะเฮิรตซ์​) ซึ่งเป็นราคาสูงกว่าค่ากลางของสากล ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการลงทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขยายโครงข่าย ขณะที่คลื่นความถี่​ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์​ ซึ่งมีราคาเริ่มต้นการประมูลที่ 12,486 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาต มีราคาสูงกว่าราคาสุดท้ายในการประมูลของประเทศอื่นๆ หลายเท่าตัว ซึ่งอาจทำให้เกิดความล้มเหลวในการประมูลได้ โดยข้อมูลจากสมาคมจีเอสเอ็ม ระบุว่า ราคาเริ่มต้นการประมูลคลื่น​ความถี่​ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์​ ในปี 2561 และ 2563 มีราคาสูงกว่าตลาดโลกอย่างมาก

“ยิ่งโอเปอเรเตอร์นำเงินมาลงทุนในการประมูลคลื่นความถี่ที่แพงเท่าไร ยิ่งจะกระทบต่อการลงทุนด้านโครงข่ายที่จะไม่สามารถลงทุนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ทั้งนี้ หากจะลงทุนในการประมูลคลื่นความถี่ที่แพง นั่นหมายความว่า โอเปอเรเตอร์จะต้องได้รับรายได้จากการให้บริการที่สูงขึ้น แต่สำหรับประเทศไทยไม่ว่าจะในระบบ 2G, 3G หรือ 4G ไม่สามารถที่จะคิดอัตราค่าบริการที่สูงขึ้นได้ มีแต่จะเท่าเดิมหรือถูกลง” นายมาร์คุส กล่าว

3.วิธีการประมูลและหลักเกณฑ์ โดยวิธีการประมูล ควรได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งนี้ จากร่างประกาศฯ กำหนดให้ใช้วิธีการประมูลคลื่นความถี่หลายย่านพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นการกำหนดตามคุณลักษณะทางเทคนิคของคลื่นความถี่​ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ดังนั้น วิธีการประมูลจึงจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาใหม่ เพื่อให้สอดรับกับคุณสมบัติทางเทคนิคของคลื่นย่านอื่น

“อย่างที่ทราบดีว่า ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ และที่ผ่านมาพบว่า มีผู้เข้าร่วมการประมูลบางรายที่เข้าร่วมประมูลแล้วแต่ไม่สามารถที่จะชำระค่าใบอนุญาตได้ ซึ่งครั้งนี้เข้าใจว่า กสทช. กำหนดวิธีการเพื่อป้องกัน โดยตามร่างประกาศฯ กำหนดให้ผู้เข้าร่วมการประมูลทุกรายต้องวางหลักประกันทางการเงิน 10% ของราคาเริ่มต้นการประมูล แต่มองว่า เป็นสัดส่วนที่น้อยเกินไป จึงอยากให้ กสทช. กำหนดหลักประกันทางการเงินให้สูงเพียงพอ เพื่อป้องกันผู้ที่ไม่ตั้งใจเข้าร่วมการประมูล โดย 5G เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในทุกด้าน ดังนั้น การประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G จึงเหมาะสมกับผู้เข้าร่วมการประมูลที่มีความตั้งใจจริง” นายมาร์คุส กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image