‘ทวี สอดส่อง’ กางข้อบังคับที่ 85 เตือน ปธ.สภาฯ ไม่ใช้ดุลพินิจเกินถ้อยคำใน กม.

‘ทวี สอดส่อง’ กางข้อบังคับที่ 85 เตือน ปธ.สภาฯ ไม่ใช้ดุลพินิจเกินถ้อยคำใน กม.

สืบเนื่องจากความอลเวง การลงมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผลกระทบจากคำสั่ง ประกาศของ คสช.และประกาศคำสั่งของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ที่ฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวตให้ฝ่ายค้าน ได้เกิดการประท้วงให้มีการนับคะแนนใหม่ ทำให้เกิดการวอล์กเอาต์ของ ส.ส.ฝ่ายค้านจนสภาล่มถึง 2 ครั้ง และจะมีการหารือเรื่องดังกล่าวในการประชุมสภาในสัปดาห์นี้อีกนั้น

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องไม่ใช้ดุลพินิจเกินไปกว่าถ้อยคำในกฎหมาย

ประเทศไทยเป็นระบบกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร ที่บุคคลทุกคนสามารถรู้กฎหมาย และต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน สภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาเป็นบ่อเกิดของกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรด้วยถ้อยคำที่ชัดเจน เพื่อให้บุคคลทุกคนสามารถเข้าใจและตัดสินใจในกฎหมายด้วยตนเองได้

ถ้อยคำที่ใช้ในกฎหมายจะนิยามความหมายเป็นการเฉพาะ หากไม่มีนิยามจะต้องใช้ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งตามพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ.2558 (ใช้แทนพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2544 ที่ถูกยกเลิก) และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระเบียบการใช้ตัวสะกด โดยกำหนดให้ใช้พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (ปัจจุบันเป็นพจนานุกรมฯ พ.ศ.2554) เป็นแบบมาตรฐานสำหรับหน่วยราชการ สถานศึกษาและประชาชนทั่วไป เพื่อใช้เป็นหนังสืออ้างอิงในการเขียนหนังสือไทยให้เป็นระเบียบเดียวกัน

Advertisement

กรณี เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2562 สภาผู้แทนราษฎรลงมติ 236 ต่อ 231 เสียง เห็นชอบญัตติจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผลกระทบจากคำสั่ง ประกาศของ คสช.และประกาศคำสั่งของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 แต่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลขอมีการนับใหม่ ตามข้อบังคับที่ 85

เมื่อพิจารณาข้อบังคับ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 128 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่มีศักดิ์เทียบเท่ากฎหมายนั้น คือ

“ข้อ 85 เมื่อมีการออกเสียงลงคะแนนตามข้อ 83(1) แล้ว ถ้าสมาชิกร้องขอให้มีการนับใหม่ โดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่ายี่สิบคน ก็ให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่ และให้เปลี่ยนวิธีการลงคะแนนเป็นวิธีตามข้อ 83(2) เว้นแต่คะแนนเสียงต่างกันเกินกว่ายี่สิบห้าคะแนนจะขอให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่ไม่ได้ เมื่อได้มีการออกเสียงลงคะแนนตามข้อ 83(2) แล้ว จะขอให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่อีกไม่ได้”

Advertisement

จะเห็นว่าตามข้อบังคับฯ ข้อที่ 85 ประกอบข้อ 83 ที่เป็นลายลักษณ์อักษร มีถ้อยคำในข้อบังคับชัดเจน คือคำว่า “ออกเสียงลงคะแนน” กับ “นับคะแนน” เมื่อพิจารณาตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีความหมายแตกต่างกัน คือ

“ออกเสียง” หมายถึง เปล่งเสียง, ลงคะแนนเสียง, ลงคะแนนเลือกตั้ง, ออกความเห็น “นับ” หมายถึง ตรวจหรือบอกให้รู้จำนวน ซึ่งการวินิจฉัยของประธานผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นประธานรัฐสภาที่เป็นผู้นำสูงสุดของฝ่ายนิติบัญญัติ จะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไป ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และข้อบังคับ จะใช้ดุลพินิจพิจารณาเกินกว่าที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่บัญญัติไว้ น่าจะเป็นการกระทำที่เกิดความไม่แน่นอนและไม่ชอบ

แต่จากประสบการณ์และความเห็นส่วนตัว เมื่อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ในกรณีดังกล่าว เห็นว่า

เมื่อมีการออกเสียงลงคะแนนโดยใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนนตามข้อ 83(1) แล้ว มีสมาชิกร้องขอให้มีการนับใหม่โดยมีผู้รับรอง 20 คน เมื่อมีผลการนับคะแนนออกมาแล้ว แต่ผลคะแนนห่างกันไม่เกิน 25 คะแนน มีเงื่อนไขว่าต้องนับคะแนนใหม่โดยใช้วิธีขานชื่อ และน่าจะต้องนับคะแนนจากผู้ลงชื่อเข้าประชุมในวันนั้นทันที กรณีไม่สามารถนับคะแนนใหม่ในทันทีได้เพราะสภาไม่ครบองค์ประชุม ต้องถือว่ามติที่ลงไปแล้วและประธานประกาศผลแล้วสมบูรณ์แล้ว เพราะถ้ามาลงคะแนนในวันรุ่งขึ้นหรือวันถัดมา ไม่น่าถือเป็นการนับคะแนนใหม่ แต่น่าจะถือว่าเป็นการลงมติใหม่ ซึ่งไม่น่าทำได้

ด้วยความเคารพดุลพินิจของประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ที่ห่วงใยรัฐสภาที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของกฎหมายที่ต้องจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร และกฎหมายที่ดีต้องใช้ถ้อยคำภาษาที่ชัดเจน ไม่แอบแฝงกำกวมเพื่อให้บุคคลทุกคน รวมถึง รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไป ตามกฎหมาย (รวมรัฐธรรมนูญ) ที่เป็นลายลักษณ์อักษร ไม่เปิดโอกาสให้ใช้ดุลพินิจในการตีความเกินกว่าถ้อยคำในกฎหมาย จะเกิดความไม่แน่นอน ปราศจากขอบเขต และจะทำให้กฎหมายที่มีความศักดิ์สิทธิ์กลายเป็นสมบัติส่วนตัวของคนบางกลุ่ม ทำให้ประชาชนขาดความมั่นใจและสิทธิเสรีภาพของประชาชนในสังคมสูญเสียไปด้วย

 

ประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องไม่ใช้ดุลพินิจเกินไปกว่าถ้อยคำในกฎหมาย ประเทศไทยเป็นระบบกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร…

โพสต์โดย Tawee Sodsong – พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เมื่อ วันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม 2019

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image