สมัชชาแม่น้ำฯ แถลงจุดยืน ไม่เอา ‘ทางเลียบเจ้าพระยา’ หลัง กทม.ประกาศเดินหน้า (คลิป)

สมัชชาแม่น้ำฯ แถลงจุดยืน ไม่เอา ‘ทางเลียบเจ้าพระยา’ หลัง กทม.ประกาศเดินหน้า (คลิป)

สืบเนื่องจากกรณี กรุงเทพมหานคร ประกาศเดินหน้าก่อสร้าง โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ส่งผลให้ นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA) ในฐานะผู้ประสานงานสมัชชาแม่น้ำ ออกแถลงการณ์ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่มานั้น

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 3 ธันวาคม ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร Bacc ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมัชชาแม่น้ำ และ 35 องค์กรภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน ภาคีวิชาชีพ ภาคประชาสังคม และชุมชนต่างๆ อาทิ สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย สมาคมวิศวกรที่ปรึกษา สมาคมอิโคโมสไทย สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (SCONTE) มูลนิธิ ศ. อันนิมมานเหมินท์ เครือข่ายเพื่อนแม่น้ำ ฯลฯ

นำโดย นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส. ศิวรักษ์ นักวิชาการอิสระ, ศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักโบราณคดีชื่อดัง, ดร.วสุ โปษยะนันทน์ สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์โบราณสถาน จากสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร, นางปองขวัญ ลาซูส สมาคมฯ สถาปนิกสยาม, น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา เดินทางมารวมพลังระดมความคิดเห็นเพื่อต้านแผนก่อสร้างทางเลียบเจ้าพระยาเฟสแรก จากสะพานพระราม 7 ถึงกรมชลประทาน สามเสน โดยมีความเห็นตรงกันว่า โครงการดังกล่าวมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประวิติศาสตร์ วิถีชีวิตริมแม่น้ำ ศิลปวัฒนธรรม การคมนาคม ด้านวิศวกรรมและผังเมือง อีกทั้งยังเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อรัฐธรรมนูญ

โดย นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ตามที่ นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล ประธานคณะกรรมการวิสามัยศึกษาการพัฒนาและการขับเคลื่อนโครงการของกรุงเทพมหานคร ได้ให้ข่าวว่า กรุงเทพมหานครพร้อมเดินหน้าโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาระยะแรก

Advertisement

ช่วงที่ 1 จากสะพานพระราม 7 ถึง กรมชลประทาน

ช่วงที่ 2 จากกรมชลประทาน ถึงคลองรอบกรุง

ช่วงที่ 3 จาก สะพานพระราม 7 ถึงคลองบางพลัด

Advertisement

และช่วงที่ 4 จากคลองบางพลัด ถึง คลองบางยี่ขัน

โดยอ้างว่าไม่มีผู้ใดคัดค้านโครงการนี้แล้ว แต่ในข้อเท็จจริง ยังมีองค์กรและภาคประชาสังคม ที่ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว อีกทั้งโครงการนี้ยังมีบางพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

สมัชชาแม่น้ำ อันประกอบด้วยองค์กรและเครือข่ายจำนวน 35 องค์กร เห็นว่าหากปล่อยให้โครงการนี้ดำเนินการต่อไปจะสร้างความเสียหายแก่บ้านเมือง จึงขอแถลงจุดยืนเพื่อคัดค้านการดำเนินโครงการด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1.สมัชชาแม่น้ำ เห็นความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแม่น้ำ และมีการพัฒนาที่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างเหมาะสมกับบริบทและคุณค่าของพื้นที่ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการก่อสร้างทางสัญจรที่รุกล้ำลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา

2.ทั้งที่ กทม.สามารถดำเนินการแก้ปัญหาการรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยาได้ตามอำนาจทางกฎหมายที่มีอยู่ ได้ แต่กลับไม่ทำในทางตรงกันข้าม กลับทำเป็นถนนคอนกรีตขนาดใหญ่ที่รุกล้ำแม่น้ำเข้าไปอีก ซึ่งจะทำให้แม่น้ำคับแคบลงทั้งสองฝั่งร่วม 20 เมตร

3.แม่น้ำเจ้าพระยาสมควรถูกอนุรักษ์เป็นโบราณสถานตลอดสายน้ำ เพื่อยกฐานะเป็นมรดกโลกต่อไป แต่การทำถนนรุกล้ำลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา จะทำลายประวัติศาสตร์และสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติ จะเป็นตัวขวางกั้นความเชื่อมโยงของวิถีชีวิตริมน้ ำอันจะส่งผลกระทบต่อความสงบสุขและความปลอดภัยของประชาชน

4.การก่อสร้างถนนลงไปในแม่น้ำ เป็นประเด็นที่อ่อนไหวในกรณีที่เกิดอุทกภัย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการไหลของน้ำ ถึงแม้ว่าในภาวะปกติ พฤติกรรมการไหลที่เปลี่ยนแปลงนี้อาจจะอยู่ในระดับที่ไม่มากนัก แต่จะส่งผลต่อสัณฐานลำน้ำ การกัดเซาะตลิ่ง และการตกตะกอนในลำน้ำ รวมถึงการกักเก็บขยะมูลฝอย ซึ่ง กทม.ควรศึกษาผลกระทบให้ครบถ้วนรอบด้านก่อนอย่างรอบคอบ มิเช่นนั้นจะเกิดผลเสียหายต่อส่วนรวมในอนาคต

5.ล่าสุดจากการที่ กทม.ตัดโครงการดังกล่าวออกบางส่วน จากเดิมที่วางแผนไว้ 14 กิโลเมตร คงเหลือความยาวรวมประมาณ 12.45 กิโลเมตร เพื่อหลบหลีกพื้นที่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์นั้น แสดงให้เห็นว่าโครงการนี้ยังมีการศึกษาไม่รอบคอบ และยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย แม้แต่จากภาครัฐเองตามที่ กทม.กล่าวอ้าง

จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น สมัชชาแม่น้ำ จึงมีความเห็นว่าหากมีการดำเนินโครงการนี้ต่อไป จะก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตริมน้ำ ศิลปวัฒนธรรม การคมนาคม ด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม ผังเมือง และสุ่มเสี่ยงต่อภัยพิบัติ

สมัชชาแม่น้ำ จึงขอคัดค้านโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในรูปแบบของการสร้างถนนลงไปในแม่น้ำ และขอให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้โปรดสั่งยุติโครงการฯ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ชาติบ้านเมือง” นายอัชชพลกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นผู้ร่วมคัดค้านโครงการฯ ร่วมกันนำแผ่นป้ายขนาดใหญ่สกรีนข้อความว่า “ ทางเลียบบนเจ้าพระยา พัฒนาหรือทำลาย?” ลงมาบริเวณชู ด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหาคร เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ท่ามกลางผู้คนที่สัญจรรอบบริเวณ

 


 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image