ครม.ไฟเขียวกองทุนSSFแทนLTFลดหย่อนภาษีสูงสุด2แสนบ.ให้สิทธิ์5ปีแต่ต้องถือครองยาว10ปี 

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการออมระยะยาว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ประกอบด้วย การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund: SSF) และการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมระยะยาวมากขึ้น ซึ่งการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจะมุ่งเน้นให้กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงน้อยและผู้ที่เริ่มต้นวัยทำงานได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการจูงใจให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวเริ่มต้นการออมระยะยาวโดยเร็ว

นายอุตตมกล่าวว่า ทั้งนี้การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุนเอสเอสเอฟ เป็นกองทุนระยะยาว มาแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF) ที่จะหมดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในปีนี้ โดยSSFกำหนดให้บุคคลธรรมดานำไปค่าใช้จ่ายซื้อกองทุนหักลดหย่อนภาษีเงินได้ 30% ของเงินได้พึงประเมิน หรือไม่เกิน 2 แสนบาทต่อปี และเมื่อนับรวมกับกองทุนระยะยาวอื่นต้องไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี เช่น RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ( กบข.) กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ

นายอุตตมกล่าวว่า  ทั้งนี้ไม่กำหนดการซื้อขั้นต่ำในการซื้อ และไม่กำหนดเงื่อนไขการซื้อต่อเนื่อง  โดยกองทุน SSF สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท  แต่กำหนดให้ถือครองกองทุนSSFไม่น้อยกว่า 10 ปีจึงจะขายได้ เงินได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน SSF จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งการนำมาหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนใน SSF กำหนดไว้เพียง 5 ปี คือตั้งแต่ปี 2563 – 2567 หลังจากนั้นกระทรวงการคลังจะมาทบทวนเรื่องการให้สิทธิลดหย่อนใหม่อีกครั้ง ว่าที่ผ่านมาเกิดผลอย่างไร เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพธุรกิจและตลาด

Advertisement

นายอุตตมกล่าวว่า นอกจากนี้ครม.มีมติให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุน RMF ให้ปรับสัดส่วนการหักลดหย่อนภาษีสำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน RMF เป็น 30% ของเงินได้พึงประเมินให้ใกล้เคียงกับกองทุนอื่นๆ จากเดิมไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน โดยยังคงกำหนดวงเงินหักลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ รวมถึงยกเลิกการกำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อกองทุน RMF (เดิมกำหนดให้ซื้อไม่น้อยกว่า 3% ของเงินได้พึงประเมิน หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า) เพื่อให้ผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงน้อยสามารถซื้อกองทุน RMF ได้ โดยยังคงกำหนดให้ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี และไม่ระงับการซื้อเกิน 1 ปีติดต่อกันเช่นเดิม

นายอุตตมกล่าวต่อว่า การปรับกองทุนเพื่อการออม เพื่อดึงให้คนรุ่นใหม่ คนเพิ่งเริ่มทำงาน และกลุ่มมีรายได้ปานกลางเข้ามาออมเงินเพื่อเกษียณให้มากขึ้น โดยประเมินว่าถ้ามีการซื้อSSF และRMF เต็มเพดานที่กำหนด กลุ่มคนที่มีรายได้ เดือนละ 15,000 บาท จะมีเงินออมระยะยาวเพิ่มขึ้นปีละ 1.8 แสนบาท ถ้ารายได้ต่อเดือน 5 หมื่นบาท มีเงินออมเพิ่มขึ้น 3.6 แสนบาทต่อปี  หากรายได้ต่อเดือน 1 แสนบาทจะมีเงินออมเพิ่มขึ้นปีละ 5 แสนบาท  โดยก่อนหน้านี้มีคนใช้สิทธิในการคืนภาษีLTFปีละ 4 แสนรายคิดเป็นเงินภาษีที่ขอคืน 1 หมื่นล้านบาท RMF ประมาณ 2 แสนราย คิดเป็นเงินภาษีที่ขอคืน 6 พันล้านบาท โดยคาดว่ากองทุนใหม่จะไม่ต่างจากของเดิม

นายอุตตมกล่าวต่อว่า สำหรับการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long-Term Equity Fund) หรือ LTF ซึ่งจะสิ้นสุดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในปี 2562 นั้น นักลงทุนจะยังคงสามารถซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน LTF ได้ และแม้ว่าจะไม่ได้รับการลดหย่อนภาษีสำหรับเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป แต่กระทรวงการคลังได้เสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ผู้ที่ถือหน่วยลงทุนได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุน LTF เช่นเดียวกับกองทุนรวมอื่น ๆ

Advertisement

นางสาวรื่นฤดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า หลังจากครม.มีมติเข้าสู่กระบวนการออกกฎกระทรวง และก.ล.ต.พร้อมนำเรื่องนี้ไปประสานกับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการรับมือ คาดว่าเปิดให้ประชาชนเข้ามาลงทุนกองทุนใหม่อย่างช้าในเดือนกุมพาพันธ์ 2563 เงินลงทุนน่าจะ เริ่มต้นปี 2563

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image