บลจ.วิตกกองทุนใหม่กระทบตลาดหุ้นวูบ คาดเงินไหลเข้าเหลือไม่เกิน3หมื่นล./ปี

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อการออม(Super Savings Fund)หรือSSF ทดแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF) ว่า หากเทียบระหว่างกองทุนแอลทีเอฟกับกองทุนเอสเอสเอฟ ต้องบอกว่าไม่ได้ดีเท่าเดิม แต่ดีกว่าการไม่มีกองทุนออมระยะยาวที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเลย ส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้นไทยคือกองทุนเอสเอสเอฟใหม่ จะทำให้เม็ดเงินไหลเข้ามาซื้อในตลาดหุ้นลดน้อยลง โดยเม็ดเงินที่มีเข้ามาในตลาดหุ้นไทย จากกองทุนแอลทีเอฟ ที่ผ่านมาก็ไม่ได้เข้ามาจำนวนสูงมาก เนื่องจากแอลทีเอฟมีเพดานสูงสุด 5 แสนบาท แต่กองทุนเอสเอสเอฟเพดานสูงสุด 2 แสนบาท อาจสร้างความกังวลในส่วนของตัวเลข 3 แสนบาทที่หายไป แต่ประเมินว่าบุคคลที่ซื้อกองทุนแอลทีเอฟเต็มเพดาน5 แสนบาทมีไม่มาก เนื่องจากบุคคลที่มีรายได้เกิน 5 ล้านบาทต่อปี ต้องเสียภาษีในอัตรา 35% มีเป็นส่วนน้อยจริงๆ ทำให้แม้เพดานที่ตั้งไว้ 5 แสน ลดลงเหลือ 2 แสน ก็ต้องซื้ออยู่ดี เนื่องจากได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี

“ประชากรที่มีรายได้ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะได้ประโยชน์จากกองทุนเอสเอสเอฟเต็มเม็ดเต็มหน่วย มีแรงจูงใจเพิ่มขึ้น ในการซื้อกองทุนเอสเอสเอฟเต็มเพดานที่ 2 แสนบาท เพราะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีสูงมาก ทำให้ในแง่ของตัวเพดานที่กำหนดไว้แม้จะลดลง แต่หากผู้ที่ต้องซื้อเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างไรก็ต้องซื้อ โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้อยู่ในระดับปานกลางจนถึงล่าง แต่ผู้ที่มีรายได้สูงต้องซื้ออยู่ดี แต่อาจซื้อได้ลดลง ซึ่งต้องหาช่องทางอื่นในการลดหย่อนภาษีแทน คาดว่าตัวเม็ดเงินไหลเข้ามาในตลาดทุนจะน้อยลงกว่าเดิม จากปกติเข้ามา 6 หมื่นล้านบาท จะหายไปอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง แต่คงไม่ได้หายไปเลย เชื่อว่าคงมีเข้ามาไม่ต่ำกว่า 2-3 หมื่นล้านบาทต่อปีแน่นอน ส่วนจะจูงใจได้หรือไม่ ต้องมองว่าคนที่จำเป็นต้องซื้อเพื่อลดหย่อนภาษี อย่างไรก็ต้องซื้อ”นายประกิตกล่าว

นายประกิต กล่าวว่า สำหรับกองทุนเอสเอสเอฟ คาดทำให้สัดส่วนการนำเงินมาลงทุนในหุ้นลดน้อยลง เพราะตามเงื่อนไขแล้วไม่ได้จำกัดรูปแบบหรือประเภทในการลงทุน ทำให้อาจมีการโยกเงินลงทุนไปอยู่ในตลาดตราสารหนี้แทนก็ได้ เบื้องต้นถือว่าดี เนื่องจากนักลงทุนบางรายก็ไม่ได้ต้องการความเสี่ยง หรืออาจไม่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้ ก็ทำให้สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อย ออมเงินในระยะยาวได้ รวมถึงยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเหมือนเดิม ถือว่าเกิดประโยชน์ค่อนข้างมาก และไม่ได้เป็นส่วนทำให้เม็ดเงินลดลงด้วย เพราะหากกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ(พีวี) ก็เห็นว่าไม่ได้มีการนำเงินไปลงทุนในตลาดตราสารหนี้ 100% ส่วนใหญ่แบ่งเป็นตราสารหนี้ 50% ตราสารทุนอีก 50% ซึ่งสรุปแล้วมองว่ากองทุนเอสเอสเอฟ ถือว่าช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ในระดับหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image