สรท.แนะเลื่อนขึ้นค่าแรง จนกว่าศก.ฟื้น ห่วงซ้ำเติมธุรกิจ-ลดความสามารถแข่งขัน

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการกำลังติดตามมติการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อพิจารณาปรับอัตราค่าแรงงานขั้นต่้ำ ในวันที่ 6 ธันวาคม นั้น เห็นว่าไม่ควรปรับขึ้นในเวลานี้ เพราะการปรับขึ้นค่าแรงในช่วงนี้จะกลายเป็นปัจจัยกดดันหลัก ทำให้ผู้ประกอบการต้องหันมาตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจว่าต้องปรับตัวอย่างไร เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้ หลังจากเจอผลกระทบจากเศรษฐกิจและการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่อง ว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้มีกำไรส่วนต่างเพิ่มขึ้น หรือ มีสินค้าที่แตกต่างและมีคู่แข่งน้อยลง รวมถึงเร่งการตัดสินใจนำเทคโนโลยีหรือเครื่องจักรใช้ในการผลิตอุตสาหกรรมแทนแรงงานคนให้เร็วขึ้น อาจทำให้จำนวนคนตกงานเพิ่มขึ้นอีก

“จังหวะนี้ไม่เหมาะสมที่จะปรับขึ้นค่าแรง เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การค้าโลกลดลง คำสั่งซื้อสินค้าลดลง รวมทั้งขณะนี้ยังมองไม่เห็นปัจจัยบวกที่จะเข้ามาช่วยหนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวดีขึ้นได้ ภาวะแบบนี้คงลากยาวถึงปีหน้า จังหวะที่เหมาะสมในการปรับขึ้นค่าแรง ต้องพิจารณาช่วงสถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว การค้าโลกฟื้นตัว คำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น เมื่อขายของได้มากขึ้น การผลิตมากขึ้น ค่าจ้างแรงงานก็จะเพิ่มขึ้นเอง ถือว่าได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย เป็นการเดินหน้าไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจริงๆ ”นายวิศิษฐ์ กล่าว

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงต้องมอง 2 ด้านคือ แรงงานที่ต้องมีทักษะและฝีมือให้มากยิ่งขึ้น ใบประกอบวิชาชีพและยกระดับคุณภาพพร้อมกันทั้งประเทศ ตอนนี้แรงงานที่มีทักษะจะได้รับค่าจ้างสูงกว่าอัตราขั้นต่ำมากอยู่แล้ว อีกด้านคือมีความชำนาญต่อการพัฒนาสินค้า หากปรับควบคู่กันไปได้จะทำให้ผู้ประกอบการไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่หากยังไม่มีการพัฒนาในข้างต้น การขึ้นค่าแรงจะกระทบโดยตรงกับขีดความสามารถในการแข่งขัน อาจมีหลายสินค้าหลายรายการที่ได้รับผลกระทบแข่งขันกับเพื่อนบ้านไม่ได้ อาทิ ข้าวราคาไทยค่อนข้างสูง แต่ไม่ได้มีรางวัลการันตีอะไร แต่ข้าวของประเทศเพื่อนบ้าน ได้รับรางวัลการันตีคุณภาพถึง 2 ปีซ้อน และขายในราคาที่ต่ำกว่าไทยเกือบครึ่ง ซึ่งหากปล่อยให้เกิดขึ้นแบบนี้ต่อไป ไทยก็จะเสียตลาดไปเรื่อยๆ

” ไทยจะต้องเร่งพัฒนาทั้งแรงงานคนและสินค้า แต่ต้องทำให้ต้นทุนไม่ปรับเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมากนัก เพื่อไม่ให้กระทบกับราคาที่จะขาย เพราะหากต้นทุนสูง ต้องขายของแพงและกลับเข้าสู่วงวนเดิมๆ ในการที่สินค้าไทยไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าประเภทเดียวกันของต่างประเทศได้ ในส่วนของการควรปรับขึ้นในอัตราระหว่างเท่าใด ไม่สามารถแบ่งชัดเจนได้ ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ ที่จะได้รับผลกระทบมากน้อยไม่เท่ากัน อาทิ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งอยู่แล้ว การขึ้นค่าแรงจะเป็นภาระซ้ำเติมเข้าอีก แต่บางธุกิจมีสินค้าเฉพาะจริงๆปรับขึ้นก็อาจไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก “นายวิศิษฐ์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image