ประมงตรังลั่นพร้อมเคลื่อนไหว ยื่นหนังสือ ‘บิ๊กตู่’ ให้แก้ปัญหารัฐบาลออกกฎระเบียบจนเดือดร้อน

ผู้ประกอบประมงพาณิชย์ตรังประกาศพร้อมเคลื่อนไหวยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เรียกร้องแก้ปัญหาความเดือดร้อนประมงเร่งด่วน ยืนยันพร้อมหยุดทำประมงและหยุดกิจการทุกประเภทหากรัฐไม่แก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม นายบุรินทร์ จันทร์แพทย์รักษ์ อายุ 38 ปี เจ้าของเรือประมงอวนล้อมจับ ขนาด 150 ตันกรอส อ.กันตัง จ.ตรัง กล่าวว่า ชาวประมงและธุรกิจต่อเนื่องประมงทุกประเภทในจังหวัดตรังไม่ต่ำกว่า 80 คน เตรียมพร้อมเคลื่อนไหวยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านนายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พร้อมกับประมงทั้ง 21 จังหวัดติดชายฝั่งทะเล เพื่อเรียกร้องรัฐบาลให้เร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประมงอย่างเร่งด่วนจำนวน 11 ข้อ เช่น หยุดออกกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ คำสั่งต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพประมงเพิ่มเติมอีก ,เสนอให้แก้กฎหมาย พ.ร.ก.ประมง พ.ศ.2558 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยเร็ว ,ให้รัฐเร่งซื้อประมงออกนอกระบบคืนโดยเร็ว , ให้สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับชาวประมงภายในเดือนธันวาคมนี้ , ปัญหาขาดแคลนแรงงานประมง ,หยุดการนำเข้าสัตว์น้ำจากต่างประเทศทันที , เพิ่มวันทำการประมง และให้ทบทวนแนวทางที่จะบังคับให้บริษัทจำหน่ายน้ำมันดีเซลให้กับชาวประมงต้องจ่ายเงินผ่านบัตรฟรีทการ์ด ( Fleet CARD) เป็นต้น

นายบุรินทร์ กล่าวว่า ชาวประมง และธุรกิจต่อเนื่องภาคการประมงเดือดร้อนหนักมายาวนานหลังจากรัฐบาลออกกฎ ระเบียบ ต่างๆออกมาบังคับใช้กับประมงไทย ขณะนี้สินค้าสัตว์น้ำราคาตกต่ำอย่างมากเป็นประวัติการณ์ หากเปรียบเทียบราคากับปีที่ผ่านมาพบว่าตกต่ำจากปีที่แล้วเกินครึ่ง เป็นผลจากการที่มีปลาจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาขายตีตลาด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องเย็นบางแห่งมีการนำเข้าปลามาจากต่างประเทศเข้ามาจนเต็มสต๊อก เช่น ราคาปลาโอ (ปลาทูน่า) ราคาตกมากเหลือกิโลกรัมละไม่ถึง 20 บาท จากราคาปกติปีที่แล้วกก.ละ 40 บาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นทุกอย่าง ค่าแรงงานเพิ่มขึ้นเนื่องจากเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ การทำบัตร ค่าประกันสุขภาพต่อหัวไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท โดยภาครัฐบังคับให้ทำเอ็มโอยู ตกหัวละ 10,000 กว่าบาท ถ้าเป็นเรือขนาดใหญ่ต้องมีลูกน้องไม่ต่ำกว่า 30 – 40 คน ต้นทุนคนงานในการจัดทำเอกสารต่างๆให้ถูกต้องไม่ต่ำกว่า 4 – 5 แสนบาท และมีระยะเวลาแค่ 1 ปี ก็ต้องมาต่อทำใหม่ ขณะที่โทษตามกฎหมายรุนแรงมาก เช่น เรือของตนเองขนาดมากกว่า 150 ตันกรอสถือเป็นระดับสูงสุด โทษปรับตาม พ.ร.ก.ประมง สูงสุดจำนวน 30 ล้านบาทคูณจำนวนคน ถ้าคนประมาณ 30 คน ปรับสูงมากเกือบ 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโทษที่รุนแรงที่สุดในโลกไม่มีประเทศไหนมีโทษสูงสุดเท่านี้

นายบุรินทร์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ หากสินค้าสัตว์น้ำมีราคาสูงจะไม่เป็นปัญหา แต่ขณะนี้สินค้าราคาตกต่ำลงเรื่อยๆ ปลามีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ เศรษฐกิจภายในประเทศก็ไม่ดีคนบริโภคอาหารทะเลน้อยลง ส่งออกก็น้อยลง จึงเป็นผลกระทบต่อเนื่องกัน คนที่รับภาระหนักที่สุดคือ ประมง ขณะที่กฎระเบียบบังคับต่างๆออกมาใหม่ทุกวัน และไม่มีแนวโน้มที่จะหยุดกับการออกกฎหมาย จึงทำให้เดือดร้อนอย่างมาปัญหาตลอดระยะเวลา 5 ปีนี้ หลายคนต้องปิดกิจการ การออกมาเรียกร้องครั้งนี้โดยผู้เดือดร้อนทั้งหมดถือเป็นการต่อสู้เรียกร้อยครั้งใหญ่ที่สุด โดยรวบรวมผู้เดือดร้อนที่ใหญ่ที่สุด ทั้ง 22 จังหวัด

Advertisement

“หากการเรียกร้องครั้งนี้ทางภาครัฐไม่เหลียวแล หรือรัฐบาลไม่ทำตามคำเรียกร้อง เราคงต้องหยุดกิจการทั้งหมดทั่วประเทศ เป็นไปตามมติสมาคม จะสู้ครั้งสุดท้ายเพื่ออนาคต เพื่อลูกหลาน หากรัฐบาลไม่สนใจอีกไม่ตอบรับข้อเสนอ คงจะต้องยุติอาชีพนี้ในปีนี้ เพราะทำต่อไปไม่ได้ มีแต่ขาดทุน และหนี้สิน และจะเป็นไปตามมติของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย” นายบุรินทร์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image