‘สภานายจ้าง’ ชี้ ขึ้นค่าแรง ยิ่งกระตุ้นให้ผู้ประกอบการหันพึ่ง ‘หุ่นยนต์’ เพิ่ม

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยถึงกรณีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ว่า การปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าว เป็นไปตามมติเห็นชอบของคณะกรรมการค่าจ้าง หรือบอร์ดไตรภาคี ซึ่งยอมรับได้ เพราะเมื่อปล่อยให้บอร์ดไตรภาคีทำหน้าที่ส่วนนี้ ผลที่ออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับ และส่วนตัวมองว่า การปรับขึ้นค่าแรงในอัตรานี้ ยังดีกว่าการปรับขึ้นแบบก้าวกระโดดเป็น 400 บาท ตามที่พรรคการเมืองได้หาเสียงไว้

นายธนิต กล่าวว่า ทั้งนี้ หากมองในมุมของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ปัจจุบันประสบกับภาวะขาดทุนอยู่แล้ว การปรับขึ้นค่าแรงนี้จะเป็นการซ้ำเติมภาวะขาดทุนให้เพิ่มขึ้นไปอีก จากการคำนวณ เช่น ลูกจ้าง 1 คน ได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้นวันละ 6 บาท 1 เดือนเป็นเงิน 180 บาท รวม 1 ปี เป็นเงิน 2,160 บาท ทั้งนี้ หากนายจ้าง มีลูกจ้างจำนวน 500 คน ใน 1 ปี นายจ้างจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 1,080,000 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับโรงงานขนาดใหญ่ ที่มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอ การปรับขึ้นค่าแรงนี้อาจมีผลกระทบไม่มากนัก

“ผลกระทบที่จะตามมาจากการปรับขึ้นค่าแรงนี้ คือ จะยิ่งกระตุ้นให้ผู้ประกอบการหันไปพึ่งพาระบบออโตเมชั่น, หุ่นยนต์ (โรบอท) มากขึ้น และโดยเฉพาะการลงทุนสมัยใหม่ที่ต้องอาศัยความแม่นยำของเทคโนโลยี ทำให้สินค้ามีคุณภาพ มีมาตรฐาน ประกอบกับการลงทุนในระบบออโตเมชั่นมีราคาถูกลง จากเดิมอยู่ที่ 3,000,000 บาทต่อเครื่อง ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 700,000 บาท ยิ่งจูงใจผู้ประกอบการ เพราะจะช่วยให้การลงทุนถึงจุดคุ้มทุนได้เร็วขึ้น” นายธนิต กล่าว

นายธนิต กล่าวว่า กังวลถึงภาวะการทำงานของแรงงานในปี 2563 อย่างมาก เพราะโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีแนวโน้มไม่พึ่งพาแรงงานคน โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะซบเซา สถานการณ์การส่งออกที่ไม่ฟื้น ทำให้นักศึกษาจบใหม่กว่า 520,000 คน มีเปอร์เซ็นต์ว่างงานสูง ดังนั้น รัฐบาลควรมีมาตรการป้องกันการจ้างงานที่จะชะลอตัว โดยสนับสนุนการปรับและพัฒนาทักษะแรงงานให้สูงขึ้น เพื่อเป็นแรงงานที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการในตลาด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image