สอท.ประเมินภาวะเศรษฐกิจปี’62 ตรงหมด เทรดวอร์ยืด-บาทแข็ง ฉุดส่งออกวูบ

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2562 จนถึงปัจจุบัน สอท.ได้ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจมาตลอด ซึ่งถือว่าเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ทั้งหมด สืบเนื่องตั้งแต่ปี 2561 มีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เกิดขึ้น ทำให้ไตรมาส 4 ของปี 2561 เริ่มส่งผลกระทบค่อนข้างชัดเจนกับตัวเลขการส่งออก พอเข้ามาในปี 2562 สอท.ก็ประเมินว่าภาคการส่งออกของไทยไม่น่าจะดีได้ เพราะสงครามการค้าทวีความรุนแรงต่อเนื่อง โดยสอท.ประเมินว่า สงครามการค้าจะยืดเยื้อและยาวนาน เพราะเชื่อว่าไม่ใช่เฉพาะการทำสงครามการค้ากันเท่านั้น แต่มีเบื้องหลังอีกมาก อาทิ สงครามเทคโนโลยี สงครามค่าเงิน และความต้องการเป็นผู้นำในภูมิภาค ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ทำให้เชื่อว่าสงครามการค้าไม่น่าจะเกิดขึ้นแค่ในช่วงสั้นๆ และคงส่งผลกระทบกับทั้งโลก

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ประเทศไทยมีการพึ่งพาต่างประเทศ ในการสร้างรายได้หลัก ทั้งภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว รวมกันกว่า 77% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) โดยสอท.มีการปรับลดตัวเลขประมาณการส่งออก โตไม่เกิน 2% หรือทำให้ไม่ติดลบได้ก็ถือว่าเก่งมากแล้ว แม้กระทรวงพาณิชย์จะตั้งเป้าการเติบโตของส่งออกไว้ที่ 8% ในช่วงต้นปี 2562 โดยเมื่อผ่านมาจนถึงกลางปี ก็เริ่มเห็นว่าสงครามการค้าได้ปรับเปลี่ยนเป็นสงครามเทคโนโลยี และสงครามค่าเงิน ทำให้ 10 เดือนที่ผ่านมา ยอดการส่งออกไทย ติดลบ 2.4% เหลืออีก 2 เดือนสุดท้ายของปี ที่เชื่อว่าสถานการณ์ต่างๆ คงไม่ได้พลิกฟื้นได้เร็ว ทำให้การคาดว่าการส่งออกทั้งปี 2562 จะติดลบ 2%

“ค่าเงินบาทแข็งค่า เป็นเรื่องที่ภาคเอกชนกังวลมาก โดยหากธปท.ไม่มีมาตรการที่ดีพอ และสามารถทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้าง ก็มีโอกาสที่จะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าต่ำกว่าระดับ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐได้ โดยในปีที่ผ่านมา เครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังเป็นภาคการท่องเที่ยว ที่เชื่อว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวในปี 2562 จะแตะระดับ 40 ล้านคนได้ แม้จะมีปัจจัยกดดันในเรื่องของค่าเงินบาทแข็ง และสงครามการค้ากระทบกับคนจีน ทำให้ระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งจีนเป็นลูกค้าหลักของไทยด้วย”นายเกรียงไกรกล่าว

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ค่าเงินบาทแข็งก็คงเป็นหน้าที่ของธปท. ที่จะต้องหามาตรการในการทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง รวมถึงการกระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุนมากกว่านี้ ทั้งการซื้อเครื่องจักรใหม่ๆ เข้ามา หรือการออกไปลงทุนต่างประเทศ ซึ่งการลงทุนเพิ่มเติม หรือการนำเงินออกจากประเทศมากขึ้น ก็จะทำให้ค่าเงินบาทคลายความแข็งค่าลงได้บ้าง แต่ปัญหาตอนนี้คือ เศรษฐกิจโลกยังไม่ค่อยดีเท่าที่ควร การส่งออกโตลดลง ทำให้ยอดการผลิตสินค้าและการใช้งานเครื่องจักร อยู่ที่ 60% เท่านั้น จึงยังไม่ถึงจุดที่จะทำให้นักลงทุนตัดสินใจสั่งซื้อเครื่องจักรเข้ามาเพิ่ม ภาครัฐจึงต้องพยายามหาวิธีการกระตุ้นเพิ่มเติมให้ได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image