ประวัติศาสตร์ ผ่านเลนส์ ช่างภาพเยาวชนจิตอาสา บันทึก “จดหมายเหตุประเทศไทย”

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ประวัติศาสตร์ ผ่านเลนส์ ช่างภาพเยาวชนจิตอาสา บันทึก “จดหมายเหตุประเทศไทย”

ช่างภาพเยาวชนจิตอาสา – ภาพของเหล่านักเรียนมัธยมปลายสวมเสื้อสีเหลือง สะพายกล้อง แบกเลนส์ เดินเกาะกลุ่มปักหลักถ่ายภาพ บันทึกเรื่องราวผ่านภาพถ่าย นับเป็นภาพคุ้นตาของประชาชนผู้ร่วมในงานสำคัญๆระดับชาติ

นับตั้งแต่งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร งานอุ่นไอรัก คลายความหนาว และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 รวมถึงขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

ภาพถ่ายเหล่านั้น ก็ได้บันทึกประวัติศาสตร์ อีกบทหนึ่ง จากฝีมือของเด็กๆ ในเครือข่ายช่างภาพเยาวชนจิตอาสา ที่ได้เก็บไว้ในหอจดหมายเหตุ เพื่อส่งต่อความทรงจำสู่คนรุ่นต่อไป

และการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในวันที่ 12 ธันวาคม นี้ ก็นับเป็นห้วงเวลาที่เหล่าช่างภาพเหล่านี้ เฝ้ารอคอย

สุรกานต์ ดะห์ลัน ครูที่ปรึกษาเครือข่ายเยาวชนช่างภาพจิตอาสา ผู้ริเริ่มเครือข่ายนี้ เผยว่า ในปี 2549 ผมเพิ่งเริ่มทำงานที่โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ เป็นปีที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ตอนนั้นก็คิดว่าควรมีชมรมถ่ายภาพในงานที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ก็คงดี ด้วยยึดเอาพระราชดำรัสของพระองค์ ที่ว่าการถ่ายภาพใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นได้ ไม่ใช่แค่ความสนุก เราก็คิดว่างานจะช่วยให้เด็กๆ มีโฟกัสในการถ่ายภาพมากขึ้น ไม่สะเปะสะปะ

Advertisement

เริ่มจากชมรมเด็กหลังเลนส์ โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ งานแรกกับการถ่ายภาพงานยกเสาชิงช้า จวบจนวันนี้ นับเป็นเวลากว่า 12 ปี ของการเดินทางของเหล่าเยาวชน ผ่านทั้งงาน พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จนถึงงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้เข้าไปถ่ายภาพพระเมรุมาศ ให้กับกรมศิลปากร รวมไปถึงงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่พวกเขาก็ได้เก็บบันทึกภาพเช่นกัน มีสมาชิกอย่างอบอุ่นกว่า 112 คน ตั้งแต่ชั้น ม.2 ไปจนถึงมหาวิทยาลัยปี 1

Advertisement

สุรกานต์ ดะห์ลัน
สุรกานต์ ดะห์ลัน

แต่กว่าจะได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายช่างภาพเยาวชนจิตอาสา ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

สุรกานต์เผยว่า ก่อนจะเข้ามาในเครือข่าย นักเรียนที่สมัครเข้ามา ต้องทำข้อสอบทฤษฎี 100 ข้อ เช่น แผนผังสถลมารค ให้รู้ว่าเส้นทางเป็นอย่างไร ก่อนจะเป็นการสอบภาคปฏิบัติ เดินในเส้นทางซ้อมสถลมารค 7 กิโลเมตร เพื่อจะได้รู้มุมกล้องของเขา ว่ามุมเช่นนี้ เลนส์ประมาณนี้ ถนัดถ่ายแบบไหนควรอยู่จุดไหน รวมไปถึงสอนเรื่องการเข้าสังคม พฤติกรรมและอารมณ์ เพราะต้องทำงานร่วมกับผู้อื่นและบางทีก็ต้องมีกฎเกณฑ์ในการทำงาน ซึ่งเด็กๆ ที่ผ่านการคัดเลือก ก็แสดงให้เห็นว่าเขาตั้งใจ ตื่นเช้ากลับมืด เดินทั้งวันทั้งคืนก็ไม่เคยย่อท้อ

“การถ่ายภาพของเรา แน่นอนว่าไม่ใช่สื่อหลัก ไม่สามารถจะทำบัตรต่างๆ ได้เพราะไม่มีสังกัด แรกๆ ก็ไปขอเขาถ่ายตามงาน ก่อนขออนุเคราะห์ไป ทำหนังสือไปจากโรงเรียน เราสอนเด็กๆ เสมอว่า ต้องทำตัวให้เหมือนเป็นสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ คือเขาให้ถ่ายอะไร ห้ามถ่ายอะไร ต้องรู้ อะไรไม่เหมาะสมก็ไม่ควรถ่าย ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา หากไม่ได้รับการตรวจกล้องจากสันติบาล ต่อให้เขาให้ยกกล้องมาถ่ายพระราชวงศ์ที่เสด็จในขบวนได้ ก็จะไม่ถ่าย เราต้องซื่อสัตย์ หากนำไฟล์ภาพของทุกคนมาเรียงต่อกัน ก็จะเห็นว่าไม่มีการแอบถ่ายเลยแม้แต่ครั้งเดียว มีเพียงครั้งที่ผ่านมา ที่้ได้ตรวจกล้องแล้ว จึงถ่ายภาพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะเสด็จฯเลียบพระนครได้ และครั้งนี้เราก็ได้ทำหนังสือไปถึงสันติบาล ขออนุญาตถ่ายภาพในส่วนของพสกนิกรเฝ้าฯรับเสด็จ”

ไม่เพียงมีโอกาสได้บันทึกภาพถ่าย แต่ภาพเหล่านั้นยังได้ร่วมเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุ สุรกานต์เผยว่า ปกติแล้ว ประชาชนทุกคนจะสามารถส่งทุกอย่างที่เป็นของส่วนตัว ไปที่หอจดหมายเหตุเป็นหลักฐานของชาติได้ แรกๆ เราก็ใช้วิธีนี้ส่งรูปเข้าไป หลังๆ หอจดหมายเหตุเห็นความตั้งใจของเราจึงได้ให้เราส่งภาพให้อย่างเป็นทางการ เด็กๆ ที่มาอยู่ในเครือข่าย บางคนเป็นยูทูบเบอร์ เป็นเจ้าของแฟนเพจ มีสไตล์รูปต่างกัน เราก็จะบอกเด็กว่าให้ถ่ายในสไตล์จดหมายเหตุนะ ให้เห็นเรื่องราว มีสถานที่ ภาพชัด ไม่ใช่เบลอ หรือดูเป็นศิลปะเกินไป

และถือเป็นโอกาสดี ที่เด็กๆ จะได้บันทึกประวัติศาสตร์อีกครั้ง

“ผมถูกสอนว่า ให้เราเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ อย่าดูแต่เพียงหน้าจอทีวี หรือหนังสือพิมพ์ ให้ออกมาเอง ในห้วงเวลาหนึ่งที่เรือไม่ได้ออกมาสู่ลำน้ำเจ้าพระยาเลย ก็คิดว่าเป็นโอกาสอันดี ที่จะได้กดชัตเตอร์ ได้เห็นภาพในเฟรมภาพของเรา ก็ถือเป็นความโชคดีเล็กๆ ของคนไทย และบอกลูกศิษย์ให้เป็นส่วนหนึ่งของงาน ซึ่งพวกเราก็รอคอยวันนั้น” สุรกานต์เผย

ข้ามมาที่เหล่าสมาชิกครอบครัวเยาวชนจิตอาสา อย่าง ภูมิ-ธนวิชญ์ มาศมัณฑนะ วัย 17 ปี ชั้น ม.5 โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (ทวีวัฒนา) ในพระราชูปถัมภ์ฯ เผยว่า ชอบถ่ายภาพมาตั้งแต่ ม.1 ก่อนเริ่มฝึกฝนด้วยการออกไปถ่ายภาพทุกวัน ก่อนจะสมัครเข้ามาในเครือข่ายช่างภาพเยาวชนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และได้ถ่ายภาพงานบรมราชาภิเษกหลายวัน ทั้งการซ้อมย่อย ซ้อมใหญ่ และงานพระราชพิธีในวันที่ 4-6 พฤษภาคม ได้นั่งอยู่กับประชาชน ในวันที่เสด็จฯเลียบพระนครทางสถลมารค ถือเป็นครั้งแรกที่ได้รับเสด็จ ก็รู้สึกตื่นเต้น ว่าเราได้ถ่ายภาพพระองค์จริงๆ มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ในกล้องของเรา ทุกคนก็ภูมิใจ

“บรรยากาศวันนั้น เรียกได้ว่าสิ่งที่อยู่ในภาพ กับของจริงไม่เหมือนกัน เป็นบรรยากาศที่บอกเป็นคำพูดไม่ถูก มันขนลุก ได้เห็นความรักที่คนไทยมีต่อพระองค์ เป็นประสบการณ์ที่ภูมิใจ”

สำหรับงานครั้งนี้ ธนวิชญ์ได้มาร่วมถ่ายภาพตั้งแต่การซ้อมเทียบเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ที่ท่าราชวรดิฐ รวมถึงการซ้อมย่อยในครั้งต่างๆ ทั้งที่บนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า หรือที่ราชนาวิกสภา และเพื่อให้เข้าใจในพระราชพิธีครั้งนี้มากขึ้น ยังได้หาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ รวมทั้งเดินทางไปที่พิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธี ที่มีโมเดลจำลอง ประวัติเรือแต่ละลำ และย้อนดูคลิปเก่าๆ

“การได้เห็นขบวนเรือพระราชพิธีทั้ง 52 ลำ ที่เคลื่อนอย่างเป็นระเบียบ และภาพของเรือพระที่นั่งแต่ละลำ ที่แม้จะสร้างมานับร้อยปี แต่ยังคงดูเหมือนใหม่ ทำให้รู้สึกประทับใจ ในฐานะคนรุ่นใหม่ นี่ถือเป็นการเปิดโลกมาก จากแค่ถ่ายรูปธรรมดา ก็ได้มาเห็นพระราชพิธีเก่าแก่ ให้เราได้เห็นประวัติศาสตร์ ที่ไม่ได้อยู่แค่หน้าจอโทรศัพท์ ซึ่งในวันจริง เราก็จะตั้งใจ และทำให้ดีที่สุด เพราะหากเรือผ่านไปแล้ว ก็ไม่มีโอกาสอีกแล้ว” ธนวิชญ์เผย

ภูมิ-ธนวิชญ์ มาศมัณฑนะ
ภูมิ-ธนวิชญ์ มาศมัณฑนะ

ด้าน ชยธร ล้อทวีสวัสดิ์ หรือ อะตอม วัย 15 ปี ม.4 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน เผยว่า เป็นคนชื่นชอบการถ่ายภาพบันทึกเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นๆ เพราะรู้สึกว่าหากผ่านช่วงเวลานั้น ก็ย้อนกลับไปไม่ได้อีกแล้ว โดยใช้กล้อง แคนนอน อีโอเอสอาร์ เก็บเรื่องราวต่างๆ จนได้มาเป็นช่างภาพเยาวชนจิตอาสา ถ่ายภาพต่างๆ รวมถึง ขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค และการบวงสรวงเรือพระราชพิธี

“เป็นความประทับใจของผม ที่ได้เห็นเรือพระราชพิธี และเรือในพิธี 10 กว่าลำ ซึ่งเป็นเรือที่มีความสวยงาม แต่ละลำก็มีโขนเรือ และกาบเรือที่แตกต่างกันไป ในโลกนี้ก็อาจจะมีเพียงประเทศไทยที่ยังมีประเพณีเช่นนี้ ในชีวิตอาจได้เห็นไม่กี่ครั้ง ก็จะทุ่มเทกับมันให้มากที่สุด ศึกษาก่อนว่า เรือลำไหนยาวเท่าใด อยู่ตรงไหนจะได้มุมที่ดีที่สุด เพื่อให้วันจริงได้ภาพที่ดีที่สุด”

ขณะที่ เฟี้ยส-ภูวรินทร์ วิเศษชลธาร วัย 17 ปี นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนลาซาล กรุงเทพฯ เผยว่า หลังจากพลาดสมัครร่วมเครือข่ายในรุ่นที่ 3 ก็พยายามฝึกฝนตัวเอง พอประกาศรุ่นที่ 4 ก็รีบสมัครทันที เพราะอยากมีโอกาสได้ถ่ายภาพครั้งประวัติศาสตร์ และได้ลองดูศักยภาพตัวเองว่าเป็นเช่นไร การมาถ่ายรูปครั้งนี้เพราะเรามีเลนส์ไม่ยาวมาก แค่ 18-135 จึงต้องหาข้อมูลให้ดี มาดูมุมตั้งแต่วันซ้อม เพื่อจะได้รู้ว่าประมาณจุดใดถึงจะเก็บภาพได้หมด รวมทั้งศึกษาว่าเรือลำไหน พระองค์ใดประทับ เพราะในพระราชพิธีก็จะมีกฎต่างๆ การได้บันทึกภาพผ่านเลนส์กล้อง ก็ถือเป็นความภูมิใจ จากที่ได้เห็นแต่ในทีวี วันนี้ก็ได้ถ่ายไว้จากเลนส์ของเรา ได้เห็นเรือทั้ง 52 ลำแล่นผ่านอย่างสวยงาม ก็คิดว่าเรามาถึงจุดนี้จริงๆ แล้ว อยากจะพยายามให้เก่งกว่านี้ และทำให้ดีที่สุด

ร้อยดวงใจบันทึกประวัติศาสตร์

ชยธร ล้อทวีสวัสดิ์
ชยธร ล้อทวีสวัสดิ์
เฟี้ยส-ภูวรินทร์ วิเศษชลธาร
เฟี้ยส-ภูวรินทร์ วิเศษชลธาร
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image