“วิลาศ” เล็งร้องป.ป.ช.-สตง. สอบต่อสัญญารอบ 4 ผู้รับเหมาสร้างรัฐสภา จี้สภาเรียกค่าปรับด้วยเหตุล่าช้า

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม เวลา 10.30 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร แถลงถึงปัญหาการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ล่าช้าว่า การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ได้ต่อสัญญามาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งครั้งที่ 3 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ และแน่นอนว่าจะต้องมีการต่อสัญญาอีกเป็นครั้งที่ 4 เพราะการก่อสร้างทั้งหมดมีความคืบหน้าไม่ถึง 70 เปอร์เซ็นต์

นายวิลาศ กล่าวว่า ได้รับข้อมูลจากข้าราชการว่าบริษัทที่ปรึกษาโครงการดังกล่าวจะขอต่อสัญญาขยายเวลาไปอีก 502 วัน แต่รัฐสภาจะให้ต่อเวลาได้แค่ 382 วัน โดยให้สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ทั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาอ้างว่าระหว่างการก่อสร้าง บริษัทผู้ว่าจ้างใช้สิทธิ์เข้าไปใช้งานในสิ่งก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จอดรถ ห้องประชุมจันทรา และห้องประชุมกรรมาธิการของส.ว. ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2562 รวมถึงยังมีปัญหาการส่งมอบพื้นที่บางส่วนที่ยังล่าช้า ส่วนตัวเห็นว่าเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะในสัญญาข้อที่ 34 ระบุว่าการเข้าใช้พื้นที่ก่อนไม่ถือว่าเป็นการรับมอบงานตามสัญญา จึงจะนำไปเป็นเหตุในการขอขยายสัญญาไม่ได้ หรือถ้ามีอุปสรรคในการทำงาน ผู้รับเหมาต้องแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบภายใน 15 วัน ซึ่งบริษัทดังกล่าวไม่ได้แจ้งใดๆต่อสำนักงานเลขาธิการสภาฯ

นายวิลาศ กล่าวอีกว่า หากสำนักงานเลขาธิการสภาฯจะขยายสัญญาการก่อสร้างต่ออีกเป็นครั้งที่ 4 ตนจะยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพราะการขยายเวลาหลายครั้งที่ผ่านมานั้นเป็นไปโดยมิชอบ การอ้างเหตุดังกล่าวถือว่าฟังไม่ขึ้น เพราะเมื่อมีการส่งมอบพื้นที่ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วการก่อสร้างควรจะแล้วเสร็จใน 900 วันตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกุล อดีตกรรมการผู้จัดบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เคยยืนยัน และความพยายามจะขยายสัญญาทุกครั้งที่ผ่านมาทำเป็นขบวนการ มีการหารือกันระหว่างผู้ใหญ่ของคู่สัญญา โดยจะมีคนในคณะกรรมการตรวจสอบการจ้างงานของสภาฯ เป็นผู้ประสานงาน กับผู้คุมนโยบายของบริษัทที่ปรึกษาการก่อสร้าง ได้รับผลตอบแทนซึ่งกันและกัน โดยมีหลักฐานที่เป็นเอกสารราชการทั้งหมด

“ผมเห็นว่าไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น ถึงเวลาแล้วที่ควรเริ่มปรับค่าเสียหายแก่บริษัทผู้รับเหมาวันละ 12.28 ล้านบาทได้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2562 ไปจนกว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จ และสภาฯควรตั้งคณะกรรมการสอบสวน นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาฯ อีกคดีหนึ่ง กรณีทำสัญญาขยายสัญญาก่อสร้างโดยอ้างหลักฐานเท็จ และที่ทำมาทั้งหมดไปเอื้อประโยชน์อะไรหรือไม่ และเห็นว่าเป็นโครงการที่เละเทะที่สุด เพราะมีคณะกรรมการควบคุมการก่อสร้าง และคณะที่ปรึกษา ควบคุมงานก่อสร้างหลายชุด ทั้งบุคคลภายนอก และข้าราชการของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ และยังได้รับประโยชน์ทางราชการตอบแทน ทั้งเบี้ยเลี้ยง เบี้ยประชุม และตำแหน่ง” นายวิลาศ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image