กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค โดย : ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

ชนชาติสยามตั้งถิ่นฐานในสุวรรณภูมิมาช้านาน ต่อมาเปลี่ยนเป็นประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2482 จากนั้นคนไทยและประเทศไทยจึงเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ด้านศิลปวัฒนธรรมสยามและไทยเป็นชาติหนึ่งที่มีความเป็นมายาวนาน โดยมีวัฒนธรรมแห่งสายน้ำควบคู่กับพิธีกรรมต่างๆ เพราะบรรพบุรุษไทยในสมัยโบราณถือเอาชัยภูมิที่มีแม่น้ำลำคลองเป็นที่สร้างบ้านแปลงเมือง เมื่อบ้านเมืองอยู่ใกล้น้ำการติดต่อคมนาคมจึงใช้เรือเป็นพาหนะ ตามหลักฐานที่ปรากฏตั้งแต่สมัยอยุธยามีเรือต่างๆ จำนวนมากจนชาวต่างชาติเรียกว่า เมืองเรือ หรือเมืองแห่งนาวี

พิธีกรรมสำคัญที่เกี่ยวกับการขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์ คือพิธีบรมราชาภิเษก ก็มีน้ำเข้ามามีบทบาท รวมถึง “กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค” ที่มีหลักฐานบันทึกไว้ตั้งแต่สมัยอยุธยา

ความหมาย

Advertisement

กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค หรือกระบวนพยุหยาตราชลมารค เป็นกระบวนเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำที่เป็นราชประเพณีไทยที่มีมาแต่โบราณ โดยมีหลักฐานชัดเจนตั้งแต่สมัยอยุธยา เรือในกระบวนมีการสลักโขนเรือเป็นรูปสัตว์ในเทพนิยาย มีการจัดกระบวนหลายแบบ ที่รู้จักกันดีก็คือ “กระบวนพยุหยาตราเพชรพวง” ดังปรากฏในลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง ลิลิตพรรณนากระบวนเรือ ประพันธ์โดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เมื่อ พ.ศ.2330 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยยึดถือตามแบบแผนเดิมสมัยอยุธยา ประเภทของการเห่เรือ สามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภทคือ การเห่เรือหลวง (การเห่เรือในงานพระราชพิธี) และการเห่เรือเล่น (การเห่เรือเล่นของชาวบ้านในงานต่างๆ) ในปัจจุบันการเห่เรือยังคงอยู่เฉพาะการเห่เรือหลวง ที่ใช้ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค

สมัยอยุธยา

แม้การใช้เรือในงานพระราชพิธีได้มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยในรัชสมัยพระร่วงเจ้า (พระมหาธรรมราชาที่ 1) ทรงใช้เรือออกลอยกระทง หรือพิธีจองเปรียง ณ กลางสระน้ำ พร้อมการเผาเทียนเล่นไฟในคืนเพ็ญเดือนสิบสอง แต่ก็ไม่มีขบวนเรือโดยเสด็จกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคเริ่มมีมาแต่สมัยพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)

ในยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตามพงศาวดารได้บันทึกไว้ว่า ถึงสมัยสมเด็จพระนเรศวรเมื่อคราวเสด็จฯไปตีเมืองเมาะตะมะเสด็จพระราชดำเนินจากกรุงศรีอยุธยาโดยชลมารค พอได้เวลาฤกษ์ พระโหราราชครูอธิบดีศรีทิชาจารย์ ก็ลั่นกลองฆ้องชัยให้พายเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ อันเป็นเรือทรงพระพุทธปฏิมากรทองนพคุณ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุถวายพระนามสมญา
“พระพิชัย” นำกระบวนออกไปก่อนเพื่อความเป็นสิริมงคล

เมื่อบ้านเมืองสุขสงบชาวกรุงศรีอยุธยานิยมเล่นเพลงเรือ แข่งเรือ เป็นเรื่องเอิกเกริก โดยเฉพาะพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม เมื่อจะเสด็จฯแปรพระราชฐานไปยังหัวเมืองต่างๆ หรือเสด็จฯไปทอดผ้ากฐินยังวัดวาอารามก็มักจะใช้เรือรบโบราณเหล่านั้นจัดเป็นกระบวนเรือยิ่งใหญ่

สมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ มากมาย ทั้งทรงสร้างเมืองลพบุรีขึ้น จึงมีการเสด็จฯ โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค และในบางโอกาสก็โปรดเกล้าฯให้จัดกระบวนเรือหลวงออกรับคณะราชทูตและแห่พระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศส จากกรุงศรีอยุธยามายังเมืองลพบุรี ในช่วงปี พ.ศ.2199-2231 ปรากฏหลักฐานว่าเมื่อพระองค์เสด็จฯแปรพระราชฐานไปยังหัวเมืองต่างๆ มีการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่เรียกว่า “ขบวนเพชรพวง” เป็นริ้วกระบวนยิ่งใหญ่ 4 สาย พร้อมริ้วเรือพระที่นั่งตรงกลางอีก 1 สาย มีเรือทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 100 ลำ ซึ่งนับเป็นกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และนับเป็นต้นแบบสำคัญของกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในสมัยต่อๆ มา

การเคลื่อนกระบวนก็มีการเห่เรือพร้อมเครื่องประโคม จนเกิดวรรณกรรมร้อยกรองที่ไพเราะยิ่ง คือกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งบรรยายถึงความงดงามและลักษณะของเรือในกระบวนครั้งนั้น บทเห่เรือนี้ยังเป็นแม่แบบของกาพย์เห่เรือที่ใช้กันในปัจจุบัน

สมัยธนบุรี

สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสร้างเรือขึ้นใหม่ทั้งชุดแต่ส่วนใหญ่เป็นเรือที่ใช้ในการรบทั้งสิ้น เพราะในสมัยนั้นมีแต่การศึกสงครามโดยมีการแห่เรือสำคัญ คือในการพระราชพิธีสมโภชรับพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ซึ่งอัญเชิญมาจากเวียงจันทน์และมาแห่พักไว้ที่กรุงเก่าคือพระนครศรีอยุธยา มีข้อความในหมายรับสั่งพรรณนากระบวนเรือที่แห่มาจากต้นทางว่ารวมเรือแห่ทั้งปวง 115 ลำ และสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปสมทบที่พระตำหนักบางธรณีกรุงเก่า ความว่ามีเรือแห่มารวมกันเป็นจำนวน 246 ลำ

สมัยรัตนโกสินทร์

สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) พระองค์ได้ทรงสร้างเรือขึ้นมาใหม่อีก 67 ลำ ซึ่งมีทั้งเรือพระที่นั่ง เรือกระบวนปิดทอง เรือพิฆาต และเรือแซง ซึ่งเป็นเรือที่สำคัญๆ เป็นที่รู้จักมาจนทุกวันนี้ ในรัชกาลต่อๆ มาก็ยังมีการสร้างเรือเพิ่มขึ้นอีก

สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ทรงเรือพระที่นั่งกราบคาดสีลายทองเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนเรือพร้อมพระราชวงศ์และเสนาบดีไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีเรือของราษฎรขึ้นไปรับถึงตำบลตลาดแก้ว จังหวัดนนทบุรี

สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) เสด็จพระราชดำเนินฉลองวัดราชโอรส โดยทรงเสด็จลงเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เป็นกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค มีเรือกระบวนรูปสัตว์ด้วย

สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) นับว่าเป็นกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่ใหญ่มาก เพราะได้สั่งสมเรือมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 โดยพระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า “เรือพระที่นั่งและเรือต่างๆ มีอยู่เป็นอันมากไม่มีการสิ่งไรเก็บไว้ก็ไม่มีผู้ใดเห็น ครั้งนี้จะแห่พยุหยาตราเรือให้ราษฎรเชยชมพระบรมโพธิสมภารทั่วกันอีกคราวหนึ่งจะได้เป็นพระเกียรติยศปรากฏไปภายหน้า”

สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้จัดสร้างเรือสุพรรณหงส์ขึ้นใหม่ แทนเรือศรีสุพรรณหงส์ที่มีสภาพชำรุดมาแต่ครั้งอยุธยา แต่มาแล้วเสร็จในรัชกาลที่ 6

สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เป็นช่วงการซ่อมแซมเรือพระที่นั่งและเรือพระราชพิธี ซึ่งทรุดโทรมลงเป็นอันมาก สมัยรัชกาลที่ 6 ทรงเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ (ต่อมาสร้างใหม่ คือเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์) ข้ามฟากไปวัดอรุณราชวราราม แล้วเสด็จฯกลับโดยเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ประสบปัญหาเศรษฐกิจการพระราชพิธีต่างๆ ต้องตัดทอนลง จึงจัดกระบวนพยุหยาตราเป็นครั้งสุดท้ายในรัชกาล เมื่อคราวฉลองพระนครครบ 150 ปี เดือนเมษายน พ.ศ.2475 แล้วหยุดไปเพราะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ไม่มีการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องจากสิ้นรัชกาลเสียก่อน

สมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีการฟื้นฟูกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ โดยได้มีการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคทั้งสิ้น 17 ครั้ง ดังนี้

1.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เมื่อ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2500

2.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2502

3.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2504

4.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ 22 ตุลาคม พ.ศ.2505

5.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ 30 ตุลาคม พ.ศ.2507

6.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ 19 ตุลาคม พ.ศ.2508

7.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ 27 ตุลาคม พ.ศ.2510

8.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) กรุงรัตนโกสินทร์มีอายุครบ 200 ปี เสด็จพระราชดำเนินไปบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์เจ้า เมื่อ 5 เมษายน พ.ศ.2525

9.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) แห่พระพุทธสิหิงค์ เมื่อ 12 เมษายน พ.ศ.2525

10.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) การพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร ประจำกรุงเทพมหานคร เมื่อ 20 ตุลาคม พ.ศ.2525

11.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ 16 ตุลาคม พ.ศ.2530

12.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2539

13.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2542

14.ขบวนเรือพระราชพิธี การประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือเอเปค 2003 เมื่อ 20 ตุลาคม พ.ศ.2546 (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มิได้เสด็จโดยกระบวนเรือ)

15.ขบวนเรือพระราชพิธี ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อ 12 มิถุนายน พ.ศ.2549 (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มิได้เสด็จโดยกระบวนเรือ)

16.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2550

17.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2555 (เลื่อนการจัดกระบวนจากเดิมในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2554 เนื่องจากกระแสน้ำและระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงและไหลแรง)

อนึ่งกระบวนพยุหยาตราที่มีในปัจจุบันนั้น ส่วนมากจะเป็นการเสด็จฯไปทอดผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม และพิธีสำคัญต่างๆ

สมัยรัชกาลที่ 10 ได้มีการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งแรก ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 โดยการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค จากท่าวาสุกรีไปยังท่าราชวรดิฐ ในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2562 (เลื่อนจากเดิมวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2562 เนื่องจากมีกระแสน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นสูง)

เส้นทางเดินเรือ จุดเริ่มต้นของกระบวนเรือนั้นคือบริเวณท่าวาสุกรี โดยจะมีการจอดเรือตั้งแต่หน้าสะพานกรุงธนไปถึงสะพานพระราม 8 เรือจะเริ่มออกจากสะพานพระราม 8 ผ่านป้อมพระสุเมรุสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลศิริราช กรมอู่ทหารเรือ ราชนาวิกสภา พระบรมมหาราชวัง หอประชุมกองทัพเรือ วัดอรุณราชวราราม และไปจอดเรืออยู่หน้าวัดกัลยาณมิตร

ขอเชิญทุกท่านร่วมชมกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมแห่งเดียวในโลก ทั้งนี้ เพื่อสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของชาติไทยให้ยั่งยืนตราบนานเท่านาน

ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image