ค่าแรงขั้นต่ำ รัฐบาลทำไม่ได้ เหมือน ‘หาเสียง’ !

ค่าแรงขั้นต่ำ รัฐบาลทำไม่ได้ เหมือน ‘หาเสียง’ !

หลังคณะกรรมการค่าจ้างมีมติขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก 6 บาทใน 9 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และปราจีนบุรี ส่วนจังหวัดที่เหลือขึ้น 5 บาททั่วประเทศ เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้มีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 มกราคม 2563 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับแรงงาน

มติครั้งนี้ส่งผลให้กลุ่มที่มีค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดคือ ชลบุรีกับภูเก็ต อยู่ที่วันละ 336 บาท ส่วนต่ำสุดคือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา อยู่ที่วันละ 313 บาท

แต่ค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นครั้งนี้ยังห่างไกลจากนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ใช้ในการหาเสียงว่าจะผลักดันให้ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 400-425 บาท

จึงมีเสียงทวงถามกันไปทั่วว่าทำไมพรรคแกนนำรัฐบาลอย่าง “พปชร.” จึงไม่ทำตามสัญญา

Advertisement

เดชรัตน์ สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ช่วยไขอธิบายว่า การกำหนดนโยบายหาเสียงด้วยการขึ้นค่าแรง 400 กว่าบาท เชื่อว่าบางพรรคไม่ได้คำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และควรเป็นความรับผิดชอบของพรรคการเมือง เพราะก่อนหน้านี้ก็ไม่มีใครคาดว่าจะขึ้นค่าแรงได้ตามที่หาเสียงไว้

ก่อนการเลือกตั้งเกือบจะมีการตัดสินใจขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้ว แต่ปลัดกระทรวงและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องลาออกก่อนเพื่อไปเป็น ส.ว. จึงเลื่อนการตัดสินใจขึ้นค่าแรงออกไป เชื่อว่าตัวเลขในมือน่าจะมีอยู่แล้ว และน่าจะเพิ่มมากกว่า 6 บาท แต่ไม่น่าจะเกิน 20 บาท แต่สถานการณ์หลังเลือกตั้งปัจจัยหลายอย่างไม่เอื้อตามที่คาดไว้ จึงทำให้รัฐบาลขึ้นค่าแรงได้ไม่มาก

“อาจารย์เดชรัตน์” ให้ข้อมูลอีกว่า การขึ้นค่าแรงก็ยังมีหลายภาคส่วนไม่เห็นด้วย แต่เป็นความรับผิดชอบของพรรคการเมืองที่นำเสนอนโยบายไว้ เพราะกำหนดตัวเลขเกินจากความเป็นจริงมาก คงชี้แจงแทนไม่ได้ว่าพรรคดังกล่าวกำหนดนโยบายบนเหตุผลหรือหลักการใด

Advertisement

ถ้ามองอีกประเด็นหากเศรษฐกิจชะลอตัวก็ไม่ได้หมายความว่าควรจะขึ้นค่าแรงแค่ 6 บาท หรือถ้าเศรษฐกิจเป็นไปตามที่รัฐบาลคาดไว้จริง การขึ้นค่าแรง 400 กว่าบาท ก็คงเป็นไปไม่ได้

ส่วนผลทางจิตวิทยาที่หลายฝ่ายคาดว่าน่าจะขึ้นค่าแรงได้มากกว่านี้จากหลายสาเหตุ เพราะไม่มีการปรับขึ้นมานานหลายปี ถ้าติดตามในรอบ 6 ปี อัตราการขึ้นค่าแรงจะมีน้อยกว่าการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพของแรงงาน หรือความสามารถในการผลิตของแรงงานแต่ละคน ซึ่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4% ต่อปี ขณะที่ค่าแรงเพิ่มขึ้น 2% ต่อปี

ดังนั้น การขึ้นค่าแรงน้อยกว่าผลิตภาพของแรงงานก็ทำให้เห็นชัดเจนว่าผู้ใช้แรงงานจะเสียเปรียบ

ขณะที่การขึ้นค่าแรงอยู่ในช่วงที่ประชาชนจะใช้จ่ายเงินในช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่ว่าการขึ้นค่าแรงน้อยกว่าที่คาดไว้ จะมีผลในลักษณะการคาดการณ์รายได้จะน้อยกว่าที่ประเมินไว้ ดังนั้น การใช้จ่ายในภาพรวมน่าจะชะลอตัวหากเปรียบเทียบในช่วงเดียวกันกับปีใหม่ช่วงปีก่อนๆ และเรื่องนี้ส่งให้ภาวะเศรษฐกิจยิ่งชะลอตัวลงไปอีกเพราะกำลังซื้อไม่เพิ่มขึ้น

“สำหรับการขึ้นค่าแรงครั้งนี้ไม่น่ากระทบกับภาคการเกษตร หรือการผลิตเพื่อส่งออก เพราะการขึ้นค่าแรง 5-6 บาท ยังน้อยกว่าค่าผลิตภาพของแรงงาน และหากมองไปถึง 2 ไตรมาสแรกในปี 2563 การส่งออกน่าจะดีขึ้นบ้าง หากข้อมูลสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนตกลงกันได้” อาจารย์เดชรัตน์สรุปมุมมอง

ด้าน วิชิต ปลั่งศรีสกุล นักวิชาการด้านกฎหมายและที่ปรึกษาสภาองค์กรชุมชนท้องถิ่น จ.ประจวบคีรีขันธ์ ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมามีพรรคการเมืองหาเสียงขึ้นป้ายทั่วประเทศทุกเขตเลือกตั้ง จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาท แล้วไม่ทำจริง อาจเข้าข่ายหลอกลวงประชาชน เสี่ยงกับความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จึงเป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะดำเนินการ การประกาศนโยบายหาเสียงถือเป็นสัญญาประชาคมที่ทำให้บางคนหลงเชื่อว่าจะขึ้นค่าแรงแล้วลงคะแนนให้ หากไม่สามารถทำได้จริงพรรคดังกล่าวก็ควรจะชี้แจงกับประชาชน

“วันนี้ถ้าหากยังไม่ขึ้นค่าแรง 5-6 บาท ก็คงไม่มีใครว่าอะไร เพราะไม่มีปัจจัยที่เป็นบวก แต่ที่ชัดเจนคือผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มขึ้น และเชื่อว่าอีก 2 ปี ก็ไม่น่าจะขึ้นค่าแรงได้ถึง 425 บาท ตามที่หาเสียงไว้ได้” วิชิตฟันธง

ด้าน ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งล่าสุดถือเป็นความโชคดีของผู้ประกอบ เนื่องจากการปรับค่าจ้างตั้งแต่ปี 2556 ที่ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศ เป็นเรื่องผิดปกติ หลังจากนั้นทิ้งช่วงไปนานถึง 3 ปี จึงกลับมาเข้าสู่ระบบค่าจ้างขั้นต่ำแบบเดิมที่แบ่งเป็นกลุ่ม กำหนดตัวเลขแต่ละจังหวัดไม่เท่ากันเป็นทิศทางที่ควรจะเป็น

ดังนั้น ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่พ้นระยะฟื้นตัวของนายจ้างแล้ว แต่การเติบโตของค่าจ้างเฉลี่ยและผลิตภาพแรงงานเติบโตขึ้นทุกปี ปัจจุบันจึงเกิดช่องว่างระหว่างค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับขึ้นกับผลิตภาพโดยเฉลี่ยของแรงงานตามกันไม่ทัน กล่าวคือ ผลิตภาพแรงงานเกินกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ

“แต่อย่างว่า ที่ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเรื่องของแรงงานแรกเข้า เลยไม่เป็นประเด็น แต่ถ้ามองว่าคนงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ค่าจ้างเฉลี่ยกับผลิตภาพยังเป็นไปในทิศทางเดียวกันอยู่ ไม่ทิ้งกัน แต่จะมีทิ้งห่างกับค่าจ้างขั้นต่ำเพราะช่วงหลังเราขึ้นช้า เราขึ้นทีละ 2% แค่นั้น” ยงยุทธให้ข้อมูล

หากรัฐบาลทำตามนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 425 บาท จะส่งผลอย่างไรบ้าง “ยงยุทธ” บอกว่า การจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400-425 บาท ซึ่งขึ้นถึงร้อยละ 21 เป็นไปได้ยากมาก สมมุติว่านายจ้างที่มีต้นทุนอยู่ประมาณร้อยละ 10 หากจะปรับขึ้นเท่ากับว่านายจ้างจะต้องแบกภาระส่วนต่างที่ 70 บาทต่อวัน เป็นภาระที่สูงมากในเศรษฐกิจปัจจุบัน

“ผมถึงบอกว่านายจ้างโชคดี เพราะว่าไม่ได้ปรับขึ้นค่าจ้างตามที่หาเสียงกันไว้ 400-425 บาท ถ้า 425 บาท ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะขึ้นไปเกือบ 100 บาทในแต่ละวัน จึงเป็นไปไม่ได้เลยในภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตช้าแบบนี้ รวมถึงอุตสาหกรรมส่งออกก็มีปัญหา อัตราการจ้างงานก็ชะลอตัว การปรับขึ้นก็แค่ไม่เป็นไปตามสัญญาแค่นั้นเอง” ยงยุทธระบุ

ถือเป็นการผิดสัญญาที่หาเสียงกับประชาชนไว้หรือไม่ แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้รัฐบาลทำเหมาะสมแล้วหรือไม่

ยงยุทธบอกว่า “เหมาะสมแล้ว แต่เพียงกลืนน้ำลายตัวเองไปนิดหน่อย เนื่องจากช่วงการหาเสียง เศรษฐกิจประเทศกำลังโตขึ้นเกือบร้อยละ 4 จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดนโยบายเช่นนี้ แต่หลังจากนั้นทิศทางกลับตรงกันข้าม เพราะเศรษฐกิจขณะนี้กำลังถอยหลังลงมาต่ำมากเหลือเพียงร้อยละ 1”

“หากพูดถึงผลกระทบ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ 5-6 บาท มีผลน้อยมาก ขึ้นเพียง 1.8% แทบไม่เป็นเปอร์เซ็นต์อะไรเลยในต้นทุน เช่น ต้นทุน 20% จะเกิดภาระประมาณเดือนละ 25 บาท ตกวันละ 1 บาทเท่านั้น รวมถึงกลุ่มเอสเอ็มอีก็ไม่มีผล แต่เดิมที่คุยกันไว้ว่าจะขึ้น 10 บาท อันนั้นน่าจะมีผลมากกว่า การขึ้นในตอนนี้เป็นการยันเอาไว้ ไม่ให้อำนาจในการจ่ายของแรงงานลดลงเท่านั้นเอง แต่หากถึงเวลาเหมาะสมก็น่าจะปรับขึ้นได้อีก” ยงยุทธสรุป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image