รัฐและเครือข่ายส่วนที่ไม่ใช่มนุษย์ ในการกำหนดตัวตนของกองทัพ/ทหาร : พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

เรื่องการเกณฑ์ทหารที่กลายเป็นประเด็นในตอนนี้เป็นเรื่องที่ได้เปิดประเด็นให้เราเห็นอะไรมากมายในบ้านนี้เมืองนี้ และก็มีการถกเถียงกันมากมายตามหน้าสื่อ

ทั้งที่ถกเถียงกันอย่างอารยะ คือนำเอาเหตุผลและความหวังดีมาแลกเปลี่ยนกัน หรือแบบที่จะหาทางจะลดทอนความน่าเชื่อถือ หรือกล่าวหาอะไรเกินเลยไปจากสาระสำคัญของข้อเสนอของแต่ละฝ่าย

ส่วนหนึ่งข้อถกเถียงมักจะวนเวียนเรื่องของความเป็นชาติและการให้ความหมายกับความเป็นชาติ ใครแตะเรื่องทหารเรื่องกองทัพเท่ากับแตะต้องชาติ เรื่องนี้คนก็เขียนกันอยู่มากด้วยแนวคิดการเมืองเชิงวัฒนธรรมนั้นเป็นเรื่องฮิตในการวิเคราะห์การเมืองไทย

อีกข้อถกเถียงหนึ่งก็อยู่ในมิติเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมืองของรัฐและความมั่นคง ตั้งประเด็นไปที่เรื่องของสัดส่วนของงบประมาณและความคุ้มค่า รวมถึงประสิทธิภาพ รวมถึงความคุ้มค่าของการเกณฑ์ทหาร อย่าลืมว่าการเกณฑ์ทหารนั้นเอาจริงก็มีการจ่ายเบี้ยเลี้ยงเงินเดือน ซึ่งถ้าเรื่องนี้เป็นประเด็นจริงว่าไม่ได้ใช้งานฟรี สิ่งที่ต้องถามต่อก็คือความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณที่การตรวจสอบจะต้องตามมา ต่างจากเรื่องมิติทางวัฒนธรรมที่สามารถผลักคนที่เห็นต่างออกจากวงสนทนาด้วยข้อหาชังชาติได้ง่ายๆ

Advertisement

สิ่งที่ผมอยากเสนออาจจะคาบเกี่ยวกับประเด็นทั้งสองประเด็น

ประเด็นแรก การอธิบายเรื่องรัฐชาติ (nation-state) เป็นเรื่องความสลับซับซ้อนของเรื่องรัฐสมัยใหม่กับชาติสมัยใหม่ เรามักมองว่ากองทัพในวันนี้เป็นกองทัพที่เป็นกองทัพสมัยใหม่ ในฐานะกองทัพแห่งชาติ

ทั้งที่ในอีกด้านหนึ่งกองทัพก็มีมาตั้งแต่ก่อนสมัยใหม่ และความสัมพันธ์ในแบบนายกับลูกน้องในระบบทหาร ทั้งในกรม ในรุ่น และตามบ้านที่ไปทำงานกับนาย ก็ไม่น่าจะเป็นความสัมพันธ์ในแบบสมัยใหม่สักเท่าไหร่

ส่วนในมิติของความเป็นสมัยใหม่นั้น ส่วนสำคัญก็คือการจัดองค์กร ภารกิจ และเทคโนโลยี ยุทโธปกรณ์ การกำหนดความเป็นชาติสมัยใหม่ก็มีความสำคัญ โดยเฉพาะชาติที่มีความหมายรวมสี่มิติเข้าด้วยกันคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน (ส่วนหลังปรากฏในคำขวัญใหม่ๆ ของกองทัพมาได้หลายสิบปีแล้ว)

ภารกิจที่จะต้องปกป้องสถาบันหลักๆ ของชาติ (หรือปกป้องชาติที่มีองค์ประกอบหลายประการ) กับการต้องเผชิญกับมิติในเรื่องของการตรวจสอบและมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเรื่องที่กองทัพจะต้องเผชิญอยู่บ่อยครั้งเมื่อสังคมมีระดับของความเป็นประชาธิปไตยสูงขึ้น โดยรูปธรรมก็คือเรื่องของงบประมาณทหาร การโยกย้าย และการควบคุมบังคับบัญชา และแม้ว่าจะอยู่ในสังคมประชาธิปไตย แต่กองทัพเองก็มีความสามารถในการสร้างสภาวะรัฐซ้อนรัฐได้เสมอในแง่ของการมีหน่วยงานด้านความมั่นคงอีกหลายหน่วยที่แทรกตัวในระบบราชการในนามของงานพลเรือนของกองทัพ

เรื่องที่ต้องเน้นย้ำก็คือการเป็นกองทัพสมัยใหม่ของไทยเกี่ยวโยงกับความเข้าใจเรื่องของการเปลี่ยนผ่านสู่สมัยใหม่ของรัฐไทย โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐสมัยใหม่ของไทยในสองระลอก โดยการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สมัยใหม่ครั้งแรกเป็นการเข้าสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเปลี่ยนผ่านรอบที่สองคือเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งในรายละเอียดมีพลวัตอีกมากมายภายในกระบวนการดังกล่าวที่ทำให้กองทัพมีทั้งพลานุภาพและอิทธิพลในการเมืองไทยมาโดยตลอด

จึงไม่น่าแปลกใจที่เรื่องการยกเลิกการเกณฑ์ทหารจึงสะเทือนกองทัพเป็นอย่างยิ่ง และถ้าจะอภิปรายต่อไปอีกนั้นก็สะเทือนมากกว่าเรื่องความเป็นชาติในทางวัฒนธรรม และสะเทือนรัฐมากกว่าเรื่องของงบประมาณและความคุ้มทุน

เพราะการเกณฑ์ทหารถูกใช้แทนที่การยกเลิกระบบไพร่และทาส (ส่วนข้อวิจารณ์ว่าทหารเกณฑ์จะยังมีมิติของความเป็นไพร่ทาสอยู่มากบ้างน้อยบ้างนั้นไม่ใช่ประเด็นที่ผมจะขออภิปรายในที่นี้) ซึ่งการแทนที่นี้กระทบสาระสำคัญที่เป็นแก่นแกนของความเป็นรัฐและพลเมืองสมัยใหม่ ที่จะต้องเป็น citizen-soldier หรือเป็นทั้งพลเรือนและทหารในแบบใหม่

เรื่องนี้เราพูดกันน้อย เพราะเราจะสนใจส่วนที่เป็นทหารอาชีพและกองทัพประจำการตามตำราว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านสังคมและรัฐสมัยใหม่ จากระบบขุนนาง/ขุนศึก และระบบทหารรับจ้าง สู่ความเป็นสมัยใหม่ของกองทัพ ทั้งที่เรื่องลึกๆ อีกเรื่องคือแก่นแกนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงกองทัพนั้นไม่ใช่มีแต่กองทัพประจำการ (standing army) แต่มีการบังคับเกณฑ์พลเมืองที่ออกจากสังกัดมูลนายให้เข้ามาเป็นทหารเกณฑ์และปลดออกไปเป็นหนุน

ผมไม่ได้มีเจตนาที่จะบอกว่าการยกเลิกการเกณฑ์ทหารทำไม่ได้เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐ แต่หมายถึงว่า มันเป็นเรื่องที่มากกว่าการพูดถึงหรือแตะต้องจินตกรรมของความเป็นชาติเท่านั้น แต่มันหมายถึงว่าเราจะต้องชี้ให้เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของการจัดการกองทัพ แต่เป็นเรื่องที่เปิดให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในเรื่องของการจัดโครงสร้างและรูปแบบใหม่ของรัฐด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องของชาติ ดังนั้นการถกเถียงเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องเอาชาติ และกองทัพเป็นตัวตั้งแบบแตะต้องไม่ได้ แต่อาจร่วมกันพิจารณาว่าเราจะปรับเปลี่ยนโครงสร้าง รูปแบบและแก่นแกนสาระของรัฐของเราอย่างไรให้อยู่ในโลกปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และคงต้องย้ำว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของความเป็นรัฐเดี่ยวหรือไม่เป็นรัฐเดี่ยว แต่อาจจะต้องคิดเทียบเคียงกับโครงสร้างส่วนอื่นของรัฐที่เปลี่ยนแปลงได้ อาทิ ระบบราชการส่วนที่ไม่ใช่ทหารที่เราสามารถแตะต้อง ปฏิรูปได้ และไม่จำเป็นจะต้องเกณฑ์คนมาทำราชการหมุนเวียนเปลี่ยนไป และสามารถยุบ เปลี่ยน หรือเพิ่มได้ โดยไม่ต้องเกี่ยวพันกับวาทกรรมของชาติ และก็ไม่เคยมีการที่จะยุบระบบราชการทิ้งไปหมด ทั้งที่ในยุคก่อนสมัยใหม่นั้นทุกคนก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของราชการอยู่แล้ว

จึงขอสรุปว่า อาจมีทางเป็นไปได้ที่การอภิปรายเรื่องทหารอาจไม่ใช่เรื่องที่จำกัดวงอยู่ในเรื่องของชาติ และกองทัพ แต่ควรจะพูดกันในเรื่องประสิทธิภาพของรัฐและความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวของรัฐในภาพรวม โดยที่ไม่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องรู้สึกว่าถูกผลักอยู่ในมุมที่เป็นคนที่ไม่หวังดีหรือมีเจตนาแอบแฝง

ในส่วนที่สอง อยากจะกล่าวถึงเรื่องของเครือข่ายส่วนที่ไม่ใช่มนุษย์ในการกำหนดตัวตนของกองทัพ/ทหาร เพื่อชี้ให้เห็นว่า ในการอภิปรายเรื่องของการปฏิรูปกองทัพ/ทหาร ยังมีเรื่องที่เราคิดกันแบบเดิมๆ อยู่ก็คือ เราเชื่อว่ากองทัพ/ทหาร ทรงพลังและเป็นผู้กำหนดในทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะทางการเมืองและสังคมวัฒนธรรม หรือมองว่ากองทัพและทหารซึ่งประกอบด้วยมนุษย์สามารถกำหนดอุดมการณ์ วาทกรรม รวมทั้งกำหนดการเมืองจากการยึดอำนาจการเมือง กำหนดงบประมาณเอง และกำหนดความเป็นอิสระจากการควบคุมของสังคมและการเมืองในนามของการเป็นมืออาชีพ

ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็เชื่อว่าจะคุมกองทัพ/ทหารได้ก็ด้วยการต่อสู้ทางอุดมการณ์ เช่น ถามคำถามถึงตัวตนของทหารว่าทหารมีไว้ทำไม ถามคำถามเรื่องใครกำหนดมิติความมั่นคงของชาติ ภารกิจของกองทัพ การมีกรรมาธิการและสิทธิเสรีภาพในการตรวจสอบงบประมาณของกองทัพ

สิ่งที่ยังไม่ได้ค่อยให้พูดกันก็คือการนำเอาแนวคิดพิสดารใหม่ๆ ในทางมานุษยวิทยา เช่น พวก actor-network theory มาทำความเข้าใจตัวตนและการกำหนดความหมายของกองทัพ/ทหาร ซึ่งจะทำให้เราเริ่มตั้งคำถามใหม่ๆ เพิ่มไปจากว่า ทหารมีไว้ทำไม ไปสู่การอธิบายเครือข่ายที่เชื่อมร้อยเข้าด้วยกันของกองทัพ/ทหาร ในฐานะกลุ่มก้อนและการกระทำของมนุษย์ กับปัจจัยที่ไม่ใช่มนุษย์ที่กำหนดการกระทำของมนุษย์หรือในที่นี้คือกองทัพ/ทหาร

อาทิ แทนที่เราจะเชื่อว่าทหารกำหนดทุกสิ่งทุกอย่าง ก็ต้องเริ่มเข้าใจเครือข่ายหรือองค์ประกอบอื่นๆ ที่กำหนดตัวตนของทหารที่มากไปกว่าเรื่องของสิ่งที่มนุษย์กำหนด อาทิ อุดมการณ์ วัฒนธรรม ภารกิจ มาสู่สิ่งที่เป็นเรื่องที่ถือเป็นอีกส่วนที่สร้างความเป็นตัวตนของทหารสมัยใหม่ นั่นก็คือ เทคโนโลยีและอาวุธยุทโธปกรณ์ และเรื่องของการพัฒนาและภัยพิบัติ

ขอขยายความว่าทหารหรือกองทัพนั้นไม่เสมอไปที่จะต้องถูกมองว่าผลาญงบประมาณ หรือใช้งบประมาณไม่ถูกต้อง แต่ตัวตนของพวกเขาถูกกำหนดไม่ใช่แค่โดยภารกิจเหมือนที่เราเข้าใจกัน

แต่ถูกกำหนดโดยวัตถุหรือปัจจัยที่ไม่ใช่มนุษย์เหล่านี้ การแสวงหาเทคโนโลยีการรบ ยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ อาจเป็นเรื่องแบบไก่กับไข่ หมายถึงว่าเราเข้าใจว่าทหารกำหนดภารกิจก่อนแล้วเลือกซื้อยุทโธปกรณ์ แต่เอาเข้าจริงอาจเป็นไปได้ว่าความคุ้นเคยหรือการรับรู้และความเลื่อมใสในยุทโธปกรณ์บางอย่าง หรือบรรยากาศและประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวอาจจะมีส่วนในการกำหนดว่าเราต้องมีภารกิจเช่นนั้น (เรื่องนี้ต้องย้ำว่าไม่ใช่เรื่องการคอร์รัปชั่นการซื้ออาวุธ หรือการไม่มีเหตุผลของกองทัพ) เช่น การไปดูงานเรื่องยุทโธปกรณ์บางครั้งก็เกิดแรงบันดาลใจว่าของมันต้องมีเพราะเรามีภารกิจอะไรแบบนี้ที่ไม่เคยนึกถึง

ประเด็นนี้ทำให้เราเริ่มเห็นว่า ปัจจัยส่วนที่ไม่ได้เริ่มจากความคิด เช่น การกำหนดภารกิจจากมนุษย์ หรือความเป็นชาติในการกำหนดภารกิจของกองทัพ หรือไปถึงเรื่องที่ว่าวัตถุหรือปัจจัยที่ไม่ใช่มนุษย์จะมามีชีวิตและอิทธิพลเหนือเราได้อย่างไร เราเป็นผู้สร้างมันขึ้นมาไม่ใช่หรือ เทคโนโลยีไม่ได้กำหนดเรา เราต่างหากที่เป็นผู้กำหนดเทคโนโลยี

ประเด็นอยู่ที่ว่าไม่ใช่แค่เทคโนโลยีที่จับต้องไม่ได้ หรือความคิดที่กำหนดพฤติกรรมของเรา แต่สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ อาทิ ยุทโธปกรณ์มันมี “ชีวิต” ของมันและแม้มันจะถูกผลิตจากน้ำมือมนุษย์ แต่สุดท้ายมันสามารถกำหนดความนึกคิดและพฤติกรรมของเราได้ อาทิ ความใหม่และทรงประสิทธิภาพของมัน ทำให้เรารู้สึกว่า “ของมันต้องมี” และจำเป็น ขณะที่การเสื่อมสภาพของมันไม่ว่าจะมาจากการใช้งาน หรือการไม่ใช้งานมันแล้ว ก็มีผลต่อความรู้สึกนึกคิดของเราว่า เราต้องแสวงหายุทโธปกรณ์ใหม่มาทดแทน และนี่เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้กองทัพเราทันสมัยและได้รับการปฏิรูปแล้ว

นอกจากนั้น การอธิบายว่ากองทัพมีความจำเป็นในภารกิจภัยพิบัติและพัฒนา สิ่งนี้ก็ทำให้เราเห็นถึงปัจจัยของเครือข่ายที่ไม่ใช่มนุษย์ในการกำหนดตัวมนุษย์ที่ชัดเจนเพิ่มเติมจากมิติการเมืองวัฒนธรรม และเศรษฐศาสตร์การเมือง อาทิ เมื่อธรรมชาติ “พิโรธ” คือไม่ถูกควบคุมโดยมนุษย์และไม่ได้สร้างจากมนุษย์ ก็เห็นแต่จะมีกองทัพที่สามารถรับมือกับภัยคุกคามในแบบนี้ได้ (และแน่นอนด้วยยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย การฝึกฝนและจิตใจอันกล้าหาญของทหารหาญ นับเนื่องมาจากภัยพิบัติต่างๆ รวมทั้งการกู้ภัยที่ถ้ำหลวง เป็นต้น)

ส่วนเรื่องการพัฒนาสิ่งที่ได้เห็นก็คือ แม้ว่าจะมีหน่วยงานอื่นๆ ในการทำหน้าที่พัฒนา แต่เมื่ออยู่ในเงื่อนไขของธรรมชาติ หรือเงื่อนไขการสู้รบก็เห็นจะมีกองทัพนี่แหละที่สามารถเข้าถึงและพัฒนาได้อย่างรวดเร็วกว่าหน่วยราชการอื่น หรืออาจเป็นไปได้ว่าเหตุผลที่ทหารเชื่อว่างานพัฒนาเป็นส่วนของกองทัพด้วยนั้น ก็เพราะว่าในการรบของทหาร ทหารไม่ได้รบในความหมายแค่ใช้อาวุธไปห้ำหั่นมนุษย์อีกฝ่ายหนึ่งในนามของศัตรู หรือหมายถึงการทำลายล้างเท่านั้น

เพราะทหารก็จะต้องมีหน่วยอย่างทหารช่าง เพื่อสร้างถนน สะพาน และส่วนอื่นๆ ในการที่จะเข้าถึงเป้าหมาย ดังนั้น ถนน สะพาน และสิ่งปลูกสร้างมากมายก็มีนัยยะทางยุทธศาสตร์ที่ทหารจะต้องมีศักยภาพในการสร้างและบำรุงรักษา การบอกให้ทหาร/กองทัพไม่กระทำภารกิจดังกล่าวจึงไม่ใช่เรื่องง่ายในโลกทัศน์และชีวทัศน์ของกองทัพ และจะเห็นว่าปัจจัยที่ไม่ใช่มนุษย์เหล่านี้มีนัยสำคัญในการกำหนดความหมายและตัวตนของทหาร/กองทัพด้วย ไม่ใช่แค่มองว่าทุกเรื่องเป็นการกำหนดและเปลี่ยนแปลงโดยมนุษย์เท่านั้น แต่เครือข่ายที่เชื่อมโยงมนุษย์และส่วนที่ไม่ใช่มนุษย์ทั้งธรรมชาติ อาวุธยุทโธปกรณ์ แผนที่ และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ กลับเชื่อมโยงเป็นพันธกิจและภารกิจของกองทัพทั้งสิ้น

ส่วนของธรรมชาติที่ไม่ใช่เรื่องของน้ำมือมนุษย์โดยตรงและเรื่องของยุทโธปกรณ์นี่แหละครับที่ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กองทัพมีความเข้าใจความหมายและตัวตนของเขาเหนือไปจากเรื่องของศัตรูที่เป็นประเทศอื่นและผู้คน มิพักต้องกล่าวถึงการอธิบายตัวเองของกองทัพและทหารว่าเป็น “รั้ว” ของชาติ ซึ่งเขาก็มองตัวเองว่าเป็นทั้งมนุษย์และเป็นทั้งส่วนที่ไม่ใช่มนุษย์ที่คอยป้องกันชาติและชีวิตของประชาชนและสถาบันสำคัญต่างๆ โดยเสียสละได้แม้กระทั่งชีวิต หรือการฝึกที่พ้นความเห็นมาตรฐานความเป็นปกติของมนุษย์ทั่วไป

ในขณะที่คนจำนวนหนึ่งก็อาจจะพยายามมองว่าทหารเป็นเสมือนยุทโธปกรณ์อย่างหนึ่งที่จะต้องถูกใช้และจัดวางให้เหมาะสมเท่านั้น ซึ่งในห้วงขณะเดียวกันนั้น ทหาร/กองทัพอาจจะมองว่าคนเหล่านี้ที่โยกย้ายและไม่เห็นค่าพวกเขาไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีของทหารและไม่รับรู้ถึงความสำคัญของพวกเขา ดังนั้นการมองว่ากองทัพมีชีวิตมีเลือดเนื้อหรือไม่มีชีวิตเลือดเนื้อ จึงมีลักษณะที่สลับซับซ้อนและมีพลวัตเป็นอย่างยิ่ง และมิตินี้อาจมีส่วนที่ทำให้ทหาร/กองทัพคิดว่าตนมีภารกิจพิเศษกว่าหน่วยงานอื่นในห้วงขณะวิกฤตเพราะความมีคุณสมบัติพิเศษของตน (อันนี้ตัดเรื่องการวางแผน หรือผลประโยชน์ออกไปก่อนในการวิเคราะห์นะครับ)

เรื่องที่ผมเล่ามาคงไม่ใช่สาระหลักของข้อถกเถียงเรื่องของทหารมีไว้ทำไม และเรื่องควรยกเลิกการเกณฑ์ทหารหรือไม่ แต่หากเราเข้าใจเรื่องของการรับรู้และการสร้างตัวตนและความหมายของกองทัพโดยเฉพาะกองทัพไทยในแง่มุมอื่นๆ ที่ยังไม่ค่อยได้พูดกันนัก ก็อาจมีผลสักนิดสักหน่อยในการทำความเข้าใจกับตัวตนและภารกิจของกองทัพ/ทหารของเราครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image