หอการค้าประเมินศก.ยังฟื้นได้ไม่เต็มที่ แนะรัฐเร่งเบิกจ่ายงบ กระตุ้นใช้จ่ายในประเทศเพิ่ม

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนพฤศจิกายน 2562 จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างหอการค้าภูมิภาคทั่วประเทศ 369 ตัวอย่างทั่วประเทศ สำรวจในวันที่ 20-26 พฤศจิกายน 2562 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในเดือนพฤศจิกายน 2562 อยู่ที่ระดับ 45.9 ปรับลดลงจากเดือนตุลาคม ที่ระดับ 46.0 ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 เป็นต้นมา ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในอนาคต ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 47.8 จากระดับ 47.7 ในเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ จะเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของจังหวัด เดือนพฤศจิกายน ความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ ปรับลดลงมากกว่าดีขึ้นแทบทั้งหมด อาทิ เศรษฐกิจของจังหวัดโดยรวม ปัจจุบันมองว่าแย่ลง 35.1% ดีขึ้น 18.4% คาดการณ์อีก 6 เดือนข้างหน้า แย่ลง 28.4% ดีขึ้น 25.3% ไม่เปลี่ยนแปลง 46.3% การบริโภคภายในจังหวัด แย่ลง 31.8% ดีขึ้น 19.7% คาดการณ์อีก 6 เดือนข้างหน้า แย่ลง 28.0% ดีขึ้น 25.3% ภาคเกษตรกรรมของจังหวัด แย่ลง 33.2% ดีขึ้น 9.0% คาดการณ์อีก 6 เดือนข้างหน้า แย่ลง 36.5% ดีขึ้น 22.0% และการจ้างงานในจังหวัดปัจจุบัน แย่ลง 19.7% ดีขึ้น 5.4% คาดการณ์อีก 6 เดือนข้างหน้า แย่ลง 17.2% ดีขึ้น 8.7% โดยจากตัวเลขดัชนีดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ปรับตัวลดลงทุกภูมิภาค ทั้งเศรษญกิจโดยรวม การลงทุน ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การค้าชายแดน และการจ้างงาน โดยตัวเลขอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ในทุกภาค

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในขณะนี้เริ่มฟื้นตัว แต่ยังไม่ชัดเจน โดยดัชนีเริ่มเงยหัวกลับได้มากขึ้น จึงมองว่าเศรษฐกิจปัจจุบันมองว่าซึมตัวลง แต่ในอนาคตคาดว่ามีโอกาสฟื้นตัวได้ แต่ต้องรอสัญญาณความชัดเจนอีก 2-3 เดือน จึงจะเห็นผลชัดเจนขึ้น โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยภาพรวมทั้งปีจะเติบโตได้ที่ 2.5-2.6% ส่วนในช่วงครึ่งปีหลังจะโตได้ดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรก โดยในปี 2563 คาดว่า เศรษฐกิจจะโตที่ 2.9-3.1% แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่การถอนตัวออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือ เบร็กซิท ยังคงเป็นไปตามกรอบกำหนดเดิม และสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ชะลอการเก็บภาษีเพิ่มเติมระหว่างกัน ทำให้มีโอกาสเพิ่มขึ้นที่ไตรมาส 1 ปี 2563 เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ นอกจากนี้ มองว่าแนวทางที่ต้องเร่งแก้ไขคือ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และดำเนินการโครงการลงทุนในทุกพื้นที่ หามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ เพื่อให้เกิดการบริโภคในช่วงปลายปี ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของแรงงานไทย ให้ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ และพัฒนาโครงการอินเทอร์เน็ตหมู่บ้านให้ครอบคลุมท่ัวทุกพื้น ที่เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้ เพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และส่งเสริมการโฆษณาการท่องเที่ยวไทย ให้เป็นที่สนใจของชาวต่างชาติ รวมถึงการส่งเสริมให้ไทยเที่ยวไทย เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในช่วงปลายปีนายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวว่า สำหรับปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นหลักๆ คือ การที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งปี เหลือโต 2.6% ซึ่งถือว่าโตลดลงกว่าปี 2561 รวมทั้งคาดการณ์ปี 2563 โตที่ 2.7-3.7% เท่านั้น บวกกับการส่งออกของไทยในเดือนตุลาคม ที่ผ่านมาลดลง4.54% มูลค่าอยู่ที่ 20,757.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าปรับลดลง 7.57% มูลค่าอยู่ที่ 20,251.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ไทยยังเกินดุลการค้า อยู่ที่ 506.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนปัจจัยลบในประเทศ เป็นเรื่องของการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ ดัชนีหุ้นไทย ปรับตัวลดลง และการที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและเศรษฐกิจโลก ที่คาดว่าจะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงมีความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกยังอยู่ในเกณฑ์สูงและมีความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้น

Advertisement

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ส่วนปัจจัยบวกยังมีในเรื่องผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ของภาครัฐ และการออกมาตรการชิมช้อปใช้ เฟส 3 รวมทั้งมาตรการสินเชื่อ เพื่อที่อยู่อาศัยในช่วงปลายปี ทั้งยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะด้านอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มเข้ามาช่วยผลักดันเศรษฐกิจ การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 1.5% เหลือ 1.25% มูลค่าการลงทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการและขยายกิจการสูงถึง 445,025 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มจากช่วงเดียวกันของปี2561 กว่า 37.94% และการที่ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากระดับ 30.66 บาทต่อเหรียญสหรัฐ มาอยู่ที่ 30.24 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ในช่วงสิ้นเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศไทย ในรูปแบบของการเกินดุลการค้า แม้ว่าเม็ดเงินจากต่างชาติจะไม่ได้ไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image