‘บอร์ด กสทช.’ ยังไม่เคาะค่าบริการอัตราเดียว เตรียมชงอีกรอบสัปดาห์หน้า (ชมคลิป)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์หน้าจะมีการนำวาระการปรับอัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์ประจำที่ และเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์มือถือให้เป็นอัตราเดียวกัน คือ 1.50 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน สำหรับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ที่มีเลขหมายที่ขอการจัดสรรเลขหมายไว้เกิน 5 ล้านเลขหมาย ทำให้โอเปอเรเตอร์ทั้ง 4 ราย คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เอไอเอส, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ดีแทค และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในอัตราดังกล่าว ส่วนโอเปอเรเตอร์รายเล็กที่มีเลขหมายไม่ถึง 5 ล้านเลขหมายให้จ่ายในอัตรา 1 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 ปี

ทั้งนี้ จากการที่ กสทช. ได้นำ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พร้อมทั้งเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนเลขหมายโทรคมนาคม และ (ร่าง) ประกาศ กสทช เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคมไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะซึ่งคณะกรรมการ กสทช. มีมติให้นำราคา 1.62 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน จากเดิมที่ กสทช. เก็บอยู่ที่ 1.92 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน ไปรับฟังความเห็น แต่โอเปอเรเตอร์ต้องการให้จ่ายในอัตรา 1 บาท นั้น กสทช.เห็นว่าอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของ กสทช. ที่ต้องใช้จ่ายในหลายส่วน ได้แก่ 1.ค่าใช้จ่ายของสำนักงาน กสทช. 2.กองทุนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) 3.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 4.กองทุนพัฒนาเทคโนโลยีด้านการศึกษา 5.จัดสรรเงินเข้ากองทุน กสทช. รวมปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท ซึ่งหากเก็บในอัตราใหม่รายได้ของ กสทช. จะหายไปประมาณ 200 ล้านบาท

นายฐากร กล่าวว่า โอเปอร์เรเตอร์ 3 ราย คือ เอไอเอส, ทรู และดีแทค จ่ายไม่เท่ากัน โดย ทรูมูฟ มีเลขหมายที่ต้องจ่ายในอัตรา 2 บาท จำนวน 70% ขณะที่เอไอเอสและดีแทค ส่วนใหญ่ 60-70% มีเลขหมายจ่ายในอัตรา 1 บาท เนื่องจากเป็นเลขหมายที่ถูกโอนมาจากสัญญาสัมปทานแต่เดิม

ส่วนโอเปอเรเตอร์ที่ถือครองเลขหมายไม่เกิน 5 ล้านเลขหมาย กสทช. จะออกบทเฉพาะกาลในการบังคับใช้อัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์มือถือ 1 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ประกาศในเรื่องนี้มีผลใช้บังคับ และหากมีการขอรับการจัดสรรเลขหมายใหม่เพิ่มเติม ก็ให้ใช้อัตรา 1.50 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน

Advertisement

“สำหรับความคืบหน้าการประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G ขณะนี้ สำนักงาน กสทช. ยังเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 700, 1800, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ และ (ร่าง) ประกาศ กสทช.เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่านความถี่ 2500-2690 เมกะเฮิรตซ์ และ (ร่าง) ประกาศ กสทช.เรื่องแผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่านความถี่ 24.25-27 กิกะเฮิรตซ์ จนถึงเวลา 16.30 น.ของวันที่ 13 ธันวาคม 2562” นายฐากร กล่าว

นายฐากร กล่าวว่า จากนั้นในเวลา 17.00 น. สำนักงาน กสทช. จะมีการประชุมสรุปความคิดเห็นจากการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว เพื่อเสนอต่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านโทรคมนาคม ในวันที่ 16 ธันวาคม 2562 และเสนอเข้าที่ประชุม กสทช.ไม่เกินวันที่ 24 ธันวาคม2562 ก่อนนำ (ร่าง) ประกาศดังกล่าวประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 27 ธันวาคม 2562 หลังจากนั้นจะประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมการประมูลระหว่างวันที่ 2 มกราคม-3 กุมภาพันธ์ 2563 และยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 จากนั้นตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้าร่วมการประมูล วันที่ 5-12 กุมภาพันธ์ 2563 โดยจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 ซ้อมการประมูลสำหรับผู้เข้าร่วมการประมูล วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 และจัดการประมูลแบบหลายย่านความถี่พร้อมกัน วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563

ขณะเดียวกัน ในวันที่ 16 ธันวาคม2562 สำนักงาน กสทช. มีกำหนดการแถลงทิศทางและนโยบายการทำงานของ กสทช.ในปี 2563 โดยหลักๆ เกี่ยวกับแผนการขับเคลื่อน 5G ให้เกิดขึ้นภายในปี 2563 และการจัดระเบียบสายสื่อสาร และนำสายสื่อสารลงดิน

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image