‘ศุภชัย’ แนะรัฐฉวยโอกาสบาทแข่ง เร่งลงทุนเพิ่ม ห่วงหนี้ครัวเรือนพุ่ง แจกเงินไม่ได้ผล

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) และอดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) เปิดเผยว่า ทิศทางเศรษฐกิจปี 2563 ประเมินจากพื้นฐานปัจจัยที่คาดว่าจะมีผลกับภาวะเศรษฐกิจในอนาคต โดยให้ความสำคัญที่เรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเคยพูดถึงเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องว่า ปัญหาของเศรษฐกิจจะถูกบดบังด้วยปัญหาทางด้านภูมิเศรษฐกิจศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจะทำให้การวางนโยบายเศรษฐกิจ ที่เป็นเศรษฐกิจแท้ๆ จะทำได้ยากขึ้น เนื่องจากจะเห็นการทำนโยบายพื้นฐานต่างๆ อาทิการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านนโยบายการเงิน การคลัง ที่มีการใช้เงินกันอย่างมากมาย ดูจะไม่ได้ผล เพราะทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ไม่ได้คาดคิดไว้ ซึ่งความจริงแล้วเป็นห่วงตัวแปรเศรษฐกิจน้อยกว่าตัวแปรที่ประเทศเศรษฐกิจมากโดยตัวแปรเศรษฐกิจในปี 2563 เรื่องอัตราดอกเบี้ย คาดว่าอย่างไรก็จะยังอยู่ในระดับต่ำ เพราะจะยังอยู่ในภาวะที่รัฐบาลจะระดมทุกสิ่งในการอัดฉีดระบบเศรษฐกิจ อาทิ การเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ตัวแปรที่สำคัญอีกเรื่อง เป็นปัจจัยการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2563 ที่ปกติมักจะมีผลกระทบกับภาวะเศรษฐกิจมาโดยตลอด ซึ่งครั้งนี้เชื่อว่าจะทำให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงประเมินว่าปี 2563 จะมีแรงกระตุ้นเศรษฐกิจมากพอสมควร ทำให้มุมมองที่เห็นว่าทิศทางเศรษฐกิจปี 2563 จะเลวร้ายกว่าปีนี้ เชื่อว่าจะไม่เป็นอย่างนั้นแน่นอน โดยมองว่านโยบายแจกเป็นการกระตุ้นแค่ระยะสั้น แต่ไม่ได้ทำให้ภาคเอกชนกระตือรือร้นในการลงทุนด้านอื่นๆ เพิ่มเติม รวมทั้งหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้การนำเงินเข้าสู่ระบบไม่ได้ผล

เศรษฐกิจปี 2563 ยังมีโอกาสที่จะขยายตัวเป็นบวกได้ รวมถึงภาคการส่งออกด้วย หากไทยมีการเดินหน้าผลักดันสร้างความเข้มแข็งทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายสำคัญ อาทิ การลงทุนในอีอีซี ที่ต้องการให้มีความชัดเจนและต่อเนื่อง เพื่อดึงโอกาสการค้าและการลงทุนเข้ามาให้มากขึ้น โดยมองว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ไม่ได้ให้ผลดีเท่าการกระตุ้นให้ภาคการส่งออกโตบวก 3-4% ให้ได้ และเข้าร่วมลงทุนโนโครงการหนี่งแถบหนึ่งเส้นทาง รวมถึงใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดด้วย โดยที่ผ่านมารัฐบาลออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินรอบแรกรอบสอง ซึ่งเป็นนโยบายที่ถูกใจประชาชน แต่นโยบายแจกเงินเป็นนโยบายชั่วคราวและไม่ก่อให้เกิดการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่สามารกระตุ้นเศรษฐกิจหรือก่อให้เกิดการลงทุนในภาคเอกชนได้ ส่วนนโยบายการเงินในเรื่องของการลดอัตราดอกเบี้ย ยังเห็นว่าในปีหน้าไม่ควรที่จะปรับลดดอกเบี้ยลง แต่สิ่งที่ให้ความสำคัญมองว่าอาจจะต้องพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยให้มาอยู่ในอัตราเดิม เพื่อศักยภาพในการแข่งขัน และกระตุ้นให้ประชาชนออมมากขึ้น ทั้งยังมองว่าปัญหาเสถียรภาพการเมืองก็น่าห่วง โดยรัฐบาลต้องรักษาเสถียรภาพ เพื่อดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และเดินตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่หลายคนบอกว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติเป็นการสืบต่ออำนาจ ซึ่งความจริงไม่ใช่ เพราะไทยจะต้องมีแผนยุทธศาสตร์ เพื่อให้เดินไปไม่ให้สะดุด อาทิ โครงการอีอีซี ที่ยังล่าช้าจึงอยากเห็นความต่อเนื่องของแผนยุทธ์ศาสตร์ชาติให้มากกว่านี้ เนื่องจากการศึกษาแผนใช้เวลากว่า 3 รุ่นนายศุภชัยกล่าว

นายศุภชัยกล่าวว่า ในปี 2563 มีปัจจัยที่อาจจะสร้างความวิตกได้ 3 ปัจจัยคือ 1.ภาวะเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่หรือประเทศที่กำลังพัฒนา จะมีการสะสมหนี้สินเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตอนนี้อยู่ในระดับ 2-3 เท่าของปี 2551 โดยจะเป็นตัวแปรที่ทำให้ไร้เสถียรภาพได้ 2.ภาวะสินทรัพย์ทางการเงินมีราคาสูงมากกว่าราคาแท้จริงที่ควรจะเป็น ซึ่งความจริงแล้วเกิดภาวะราคาสินทรัพย์สูงกว่าปัจจัยพื้นฐานมาหลายปีต่อเนื่อง แต่คาดว่าปี 2563 จะเพิ่มสูงขึ้นอีก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเหมือนเป็นภายุที่เตรียมเข้ามาแล้ว อาจจะเป็นเหมือนช่วงการเกิดภาวะฟองสบู่แตก เรื่องนี้เชื่อว่าทั่วโลกรับรู้แล้วและพยายามหาทางรับมืออยู่ เพราะมีสัญญาณในเรื่องของภาวะอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะสั้น สูงกว่าพันธบัตรระยะยาวในสหรัฐ สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองที่คนส่วนใหญ่ไม่มั่นใจและไม่มีความหวังในอนาคต ซึ่งจะเป็นปัญหาสะสมที่ปี 2563 ก็จะสะสมมากขึ้นอีก 3.การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างหวือหวาทั่วโลก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเรื่องของการค้า การเคลื่อนไหวของเงินทุน เนื่องจากการที่จะทำมาตรการคิวอีครั้งใหญ่ของประเทศสำคัญทางเศรษฐกิจของโลก ในปี 2563 โดยเฉพาะสหรัฐ ยุโรป จะทำให้เงินที่ถูกผลิตขึ้นใหม่ ไม่มีที่ไป ทำให้จะไหลเข้ามาในตลาดทุนไทยได้มากขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็เห็นใจรัฐบาลไทย และดีใจที่กระทรวงพาณิชย์ ที่เป็นหน่วยงานที่ควรบ่นและกังวลเรื่องค่าเงินมากที่สุด ไม่ได้ออกมาบ่นถึงเรื่องดัลกล่าวมากนัก แสดงว่ากระทรวงพาณิชย์มีความเข้าใจดีว่า การที่จะต่อสู้โดยที่ให้ทุกอย่างเป็นกลไกตามเดิมในสมัยโบราณ ด้วยการทำให้ค่าเงินบาทถูก เพื่อเอามากระตุ้นในเรื่องการส่งออก ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องเสมอไป เนื่องจากการที่บาทถูก จะไม่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการลงทุนใหม่ หรือนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยต้องการมากที่สุด

หากไทยเป็นประเทศที่อัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่า โดยพื้นฐานของเศรษฐกิจภายในด้วย คือจะบอกว่าเงินบาทแข็งหรือเงินของต่างประเทศ เพราะเหตุที่มีเม็ดเงินจากต่างชาติไหลเข้ามาในประเทศนั้นๆ เพียงอย่างเดียว ซึ่งปัจจัยนั้นเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินแข็งขึ้นชั่วคราว พอเงินเหล่านั้นไหลออกก็จะทำให้เงินอ่อนค่าลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศไทยต้องระวังว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างหวือหวาของอัตราแรกเปลี่ยนจะเกิดขึ้นได้ แต่ความจริงแล้วบ้านเราการที่เงินบาทแข็งเป็นเพราะว่าตัวค่าที่แท้จริงทำให้ต้องแข็ง เพราะหากเทียบกับอัตราราคาเฉลี่ยของเรา กับอัตราราคาเฉลี่ยของสินค้าที่เราขายแข่งในโลก ซึ่งขึ้นอยู่กับต้นทุนการผลิตที่ดีกว่า ประสิทธิภาพการผลิตดีกว่า หรือเทคโนโลยีที่ดีกว่า ก็แสดงว่าหากค่าเงินบาทแข็งก็จะแข็งเพราะเรื่องนี้ ไม่ได้แข็งเพราะมีการตัดราคา หรือไม่ได้แข็งเพราะมีเงินทุนจากต่างชาติไหลเข้ามา ซึ่งหากเงินบาทแข็งเพราะปัจจัยเหล่านี้ จะทำให้แม้เงินบาทแข็ง ไทยก็ยังสามารถอยู่ได้นายศุภชัยกล่าว

Advertisement

นายศุภชัยกล่าวว่า ไม่ได้รู้สึกแปลกใจกับการที่ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 27 บาทต่อเหรียญสหรัฐ  เพราะปัจจัยพื้นฐานของไทยแข็งแกร่ง เอื้อให้เป็นไปในทิศทางนั้น จึงไม่อยากให้มองว่าค่าเงินบาทเป็นปัญหาหรือเป็นแรงฉุด ในเรื่องของการแข่งขันหรือการส่งออก แต่ควรมองว่าเป็นการนำจุดแข็งที่เงินบาทแข็งค่ามาเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับการแข่งขันภายใน หรือประสิทธิภาพให้กัผู้ประกอบการในด้านการผลิต และการนำเข้าเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้  ซึ่งในปี 2563 คาดว่าค่าเงินบาทน่าจะอยู่ที่  30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม นอกจากนี้ ก็ไม่ต้องการให้ผู้ประกอบการหรือผู้ส่งออกมองว่าค่าเงินบาทเป็นตัวฉุดการขยายตัวของภาคส่งออก แต่ต้องการให้ดึงเรื่องของค่าเงินบาทมาเสริมความแข็งแกร่งในการแข่งขันในตลาดโลก โดยหากไทยต้องการพัฒนาประเทศเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 จะต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยค่อนข้างสูงโดยจะต้องซื้อกระบวนการการผลิตที่จะต้องไปกับลงทุนในหลักหลายด้านเข้ามาอย่างมากมายซึ่งหากค่าเงินบาทถูกการกระทำดังกล่าวก็จะไม่เกิดขึ้นโดยในอดีตที่ผ่านมาก็เป็นในลักษณะนี้มาโดยตลอด ซึ่งตั้งแต่ปี 2553 เป็นช่วงที่ไทยใช้วิธีทำให้ค่าเงินบาทถูก ค่าจ้างแรงงานถูกมาตลอด ซึ่งก็ได้ผลแค่ชั่วคราว จนทำให้ในเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้น ก็ไม่สามารถรับมือได้ จึงมองว่าประเทศไทยจะต้องลงทุนด้านเทคโนโลยีให้มากที่สุด โดยรัฐบาลจะต้องเจรจากับต่างประเทศ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีเข้ามา รวมถึงต่อรองกับนักลงทุนต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนด้านเทคโนโลยีในประเทศไทย เพื่อคุ้มครองการถ่ายทอดเทคโนโลยีพิเศษต่างๆ ซึ่งต่างชาติจะกังวลการขโมยหรือคัดลอกเทคโนโลยีมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image