สกู๊ปหน้า1 : ทช.แก้ขยะทะเล นำร่อง‘ระยองโมเดล’

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อไม่นานมานี้ มีการรับรองปฏิญญากรุงเทพฯ 2019 ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน (Bangkok Declaration on Combating Marine Debris in ASEAN Region) ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการแก้ปัญหาขยะในภูมิภาค และกรอบปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล (ASEAN Framework of Action on Marine Debris) เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกันที่จะช่วยลดปริมาณขยะทะเล

นั่นเป็นกรอบในระดับภูมิภาค ส่วนในกรอบของไทย มีแผนยุทธศาสตร์และแผนการบริหารจัดการขยะระดับประเทศ และแผนแม่บทในการบริหารจัดการขยะ แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ.2559-2564) ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้ปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ มีแผนแม่บทในการบริหารจัดการขยะบกรวมถึงขยะทะเล

ทั้งนี้ ไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีขยะทะเลมากลำดับที่ 10 ของโลก โดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งกำลังขยายตัวจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนของภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และการเคลื่อนย้ายแรงงาน จึงมีแนวโน้มจะมีขยะจากกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น คาดกันว่าปริมาณขยะมูลฝอยอาจสูงถึง 20.08 ล้านตัน ภายในปี 2580 ดังนั้น จึงต้องวางแผนจัดการขยะอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จึงมีดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาโครงการ “ระยองโมเดล” โดยกำหนดเป้าหมายว่าภายในปี 2565 จ.ระยอง จะไม่มีขยะพลาสติกหลุดลอดสู่สิ่งแวดล้อมและไหลลงสู่ทะเล สร้างมลพิษต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงผลต่อสัตว์ทะเลหายากโดยเด็ดขาด

Advertisement

ดังนั้น วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จึงสั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พิจารณาพื้นที่ที่มีความพร้อมในการแก้ขยะทะเล เพื่อเป็นต้นแบบให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ทช.จัดโครงการบริหารจัดการขยะทะเล เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการ ทส. โดยริเริ่มตั้งแต่สมัย จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. ยังดำรงตำแหน่งอธิบดี ทช. โดยมีแนวทางลดปริมาณขยะในทะเลและชายฝั่ง ด้วยการจัดเก็บขยะตกค้างในระบบนิเวศ ทั้งระบบนิเวศปะการัง ชายหาด และป่าชายเลน

Advertisement

มีแผนดำเนินการในพื้นที่ชายฝั่งทะเล 24 จังหวัด โดยเริ่มที่ จ.ระยอง เป็นพื้นที่นำร่อง โดยคัดเลือกเขตเทศบาลนครระยอง พื้นที่สวนสาธารณะโขดปอ และชุมชนเนินพระ เป็นพื้นที่สาธิตการจัดการขยะทะเลตั้งแต่ ‘ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ’ นั่นคือ เมื่อขยะออกจากอาคารบ้านเรือน จะมีการคัดแยกขยะเบื้องต้นก่อน และร่วมมือกับเทศบาล ขนย้ายขยะและคัดแยกขยะ ถ้าหากขยะเล็ดลอดลงแม่น้ำก็จะมีบูมด้านข้าง คอยดักจับไม่ให้ขยะเข้าสู่ระบบนิเวศป่าชายเลน หรือหากมีขยะในป่าชายเลนก็จะไม่ให้ลงในแม่น้ำ แต่ถ้ายังมีขยะเล็ดลอดมาอีกก็ยังมีบูมกลางแม่น้ำ และถัดจากบูมกลางแม่น้ำก็จะมีเรือมาช่วยเก็บขยะก่อนจะออกสู่ทะเล วันที่ 20 ธันวาคมนี้ รัฐมนตรีว่าการ ทส.จะเป็นประธานเปิด “โครงการพื้นที่สาธิตการบริหารจัดการขยะทะเลครบวงจรอย่างมีส่วนร่วม” ณ สวนสาธารณะโขดปอ (ป่าในเมือง) เทศบาลเมืองระยอง โดยร่วมมือกับเทศบาลนครระยอง และเทศบาลตำบลเนินพระ

ทั้งนี้ จะมีเอกอัครราชทูตประจำประเทศ ไทย 16 ประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น และภาคประชาชนมาร่วมงาน เพื่อเผยแพร่การดำเนินงานให้ภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน หน่วยงานทั้งในประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งประชาชน รับรู้ถึงการบริหารจัดการขยะทะเลอย่างครบวงจร เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ เพื่อร่วมกันบริหารจัดการขยะทะเลอย่างยั่งยืนต่อไป

ด้าน วรวิทย์ ศุภโชคชัย นายกเทศมนตรีนครระยอง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ขยะพลาสติกในแม่น้ำและในทะเล จ.ระยอง มีมาก ทางเทศบาลนครระยองพยายามช่วยกันกำจัดและป้องกันขยะไหลลงทะเลให้น้อยที่สุด หรือไม่มีเลย ผมดูเว็บไซต์เห็นว่าที่ประเทศออสเตรเลีย มีวิธีป้องกันขยะลงทะเลด้วยการใช้ตาข่ายครอบบริเวณปากท่อระบายน้ำที่จะลงสู่แม่น้ำ เป็นวิธีง่ายๆ และประหยัดมาก

“ผมให้เจ้าหน้าที่ไปจัดซื้ออวนตาข่าย มาช่วยกันถักคล้ายถุงกาแฟนำไปครอบบริเวณปากท่อระบายน้ำทิ้งตามริมคลองต่างๆ ที่ไหลลงแม่น้ำระยอง หลังจากนั้นก็ไปตรวจสอบตามท่อน้ำทิ้งต่างๆ ปรากฏว่าพบขยะจำนวนมาก โดยเฉพาะขยะพลาสติก นั่นหมายความว่าก่อนหน้านั้นมีเศษขยะและขยะพลาสติกจำนวนมากไหลลงแม่น้ำระยองออกสู่ทะเล จากการดำเนินโครงการดังกล่าวตั้งแต่ต้นปี สามารถเก็บขยะที่ดักไว้ได้ประมาณ 20 ตัน” นายกเทศมนตรีนครระยองเผย

“วรวิทย์” ยังบอกว่า ขณะนี้สถานการณ์ขยะพลาสติกในทะเลระยองลดน้อยลงไปมากแล้ว แต่ก็ยังต้องดำเนินการต่อไป โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะไม่ปล่อยให้ขยะพลาสติกลงแม่น้ำระยองเลยภายในปี 2565 ล่าสุดเทศบาลนครระยองร่วมกับ นายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ที่ 1 โดยการวางทุ่นกั้นขยะบริเวณป่าชายเลนโครงการป่าในเมือง จ.ระยอง ป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำ พื้นที่กว่า 500 ไร่ ใน ต.ปากน้ำ อ.เมืองระยอง จากนั้นจะนำเรือไปเก็บขยะ

“นอกจากนี้ ยังร่วมกับ ทช.พัฒนาสวนสาธารณะโขดปอ ชุมชน ต.เนินพระ อ.เมืองระยอง เป็นโครงการพื้นที่สาธิตการบริหารจัดการขยะทะเลครบวงจรอย่างมีส่วนร่วม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ คือต้นน้ำอย่าปล่อยให้ขยะลงมา ส่วนกลางน้ำก็ช่วยกันดักเก็บขยะขึ้นมา เมื่อถึงปลายน้ำก็จะไม่มีขยะ และขยะทั้งหมดที่จัดเก็บก็ส่งไปกำจัดที่ศูนย์รวมกำจัดขยะแบบครบวงจรของ อบจ.ระยอง เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงในโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะต่อไป” นายกเทศมนตรีนครระยองสรุป

ป็นอีกโครงการ ที่ ‘ทช.’ ผนึกกำลังกับท้องถิ่น ร่วมกันกำจัดขยะทะเลอย่างครบวงจรให้เห็นผลเป็นรูปธรรม และเป็นต้นแบบให้ท้องถิ่นต่างๆ นำไปต่อยอดดำเนินการต่อไปอย่างยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image