สมาพันธ์มะพร้าวไทยเสนอแนวทางนำเข้าตามกรอบอาฟต้าหวั่นทุบราคาผลผลิตในประเทศ

 

นายอุดร โพธิ์พ่วง ผู้ประสานงานพรรคพลังประชารัฐ จ.ประจวบคีรีขันธ์ อดีตอนุกรรมาธิการแก้ปัญหาราคามะพร้าว สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับข้อเสนอจากมติที่ประชุมสมาพันธ์ชาวสวนมะพร้าวไทยที่ อ.ทับสะแก เพื่อขอให้รัฐบาลเร่งรัดแนวทางแก้ไขปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำในระยะยาว หากมีการนำเข้ามะพร้าวจากกรอบการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟต้าภาษี 0 % ให้นำเข้า 3 เดือนต่อปีในเดือนตุลาคม พฤศจิกายวน และธันวาคม สำหรับกรอบการค้าองค์การการค้าโลกหรือดับเบิ้ลยูทีโอให้นำเข้าตามโควต้าเดือนมิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคมและกันยายน โดยให้นำเข้าเฉพาะส่วนที่ขาดแคลน จำนวนที่นำข้าให้รวมมะพร้าวผล เนื้อมะพร้าวสดและแห้ง น้ำกะทิและน้ำมันมะพร้าว ไม่ให้กระทบกับผลผลิตภายในประเทศ ผู้นำเข้าห้ามนำไปจำหน่าย จ่าย โอนภายในประเทศ นอกจากนั้นให้กำหนดคุณสมบัติของผู้นำเข้าและต้องขนส่งมะพร้าวจากท่าเรือไปโรงงานแปรรูปตรวจสอบได้โดยระบบจีพีเอส

นายอุดร กล่าวว่า สำหรับมะพร้าวในประเทศให้รัฐบาลรักษาเสถียรภาพด้านราคาที่เฉลี่ยผลละ 15 บาท ส่วนการประมาณการ การนำเข้านอกจากมะพร้าวผลให้คำนวณจาการยอดนำเข้าเฉลี่ย 2 ปีย้อนหลัง การนำเข้าทุกกรอบและสิ้นสุดเวลานำเข้าต้องไม่มีผลผลิตตกค้าง ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปต้องไม่นำมะพร้าวนำเข้าไปกะเทาะเปลือกนอกโรงงาน เพราะจะส่งผลกระทบเนื่องจากไม่สามารถควบคุมและตรวจสอบปริมาณได้ มีปัญหาจาการควบคุมแมลงศัตรูมะพร้าวที่ปนเปื้อนมาจากต่างประเทศ ขณะที่มะพร้าวนำเข้าจะมีคุณภาพต่ำ ราคาถูก เมื่อนำไปกะเทาะในล้งรวมนอกโรงงานทำให้มีผลกระทบกับคุณภาพและราคามะพร้าวภายในประเทศ

ด้านผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปเพื่อส่งออกรายใหญ่แห่งหนึ่ง ระบุว่า ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรจำนวนมากที่มีอาชีพรับจ้างกะเทาะเปลือกมะพร้าว เพื่อทำมะพร้าวขาวส่งโรงงานใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ราชบุรีและ จ.สมุทรสงคราม ล่าสุดขาดรายได้ เนื่องจากภาครัฐมีข้อจำกัดห้ามไม่ให้นำมะพร้าวนำเข้าจากท่าเรือกรุงเทพฯและแหลมฉบัง ส่งไปจ้างกะเทาะนอกนอกโรงงาน ขณะที่ผู้ประกอบการไมมีศักยภาพในการกะเทาะมะพร้าวภายในโรงงานตามข้อกำหนด ทำให้โควตาที่สั่งนำเข้าเพื่อนำมาผลิตแปรรูปส่งออกไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ขาดโอกาสในการแข่งขันกับตลาดต่างประเทศ

Advertisement

นายสายชล ชนะภัย รองประธานสภาเกษตร จ.ประจวบคีรีขันธ์ ด้านพืชสวน กล่าวว่า จากการประเมินคาดว่าโควตาที่กำหนดนำเข้า 3.2 หมื่นตันตามกรอบอาฟต้า ไม่สามารถนำเข้าได้ครบทั้ง 15 โรงงาน เนื่องจากยังมีขั้นตอนการซื้อ การขนส่งทางเรือ ขณะที่มะพร้าวที่นำเข้าทั้งหมด โรงงานกะทิไม่สามารถนำออกไปกะเทาะเปลือกนอกโรงงานได้ และการนำเข้าระยะสั้นจึงไม่น่าจะมีผลกระทบกับราคาผลิตในประเทศ ปัจจุบันมีการรับซื้อหน้าสวนเฉลี่ยผลละ 24 บาท แต่ยอมรับปัญหาการนำเข้ามะพร้าวจะถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างว่าโรงงานกะทิจะรับซื้อวัตถุดิบลดลงจากนั้นล้งจะรวมหัวกันลดราคารับซื้อ เพื่อฟันกำไรส่วนต่าง ทั้งที่ผู้บริโภคในประเทศต้องซื้อผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวในราคาเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image