‘สุวิทย์’ นำยุวชนอาสา แก้ไขปัญหากุ้งก้ามกรามกาฬสินธุ์ เล็งนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิต

‘สุวิทย์ พร้อมคณะ’ ลงพื้นที่ จังหวัดกาฬสินธุ์ นำยุวชนอาสากาฬสินธุ์ แก้ไขปัญหาการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ตามนโยบายรัฐบาล โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยในการเพิ่มผลผลิตจาก 120 กก.ต่อไร่เป็น 200 กก.ต่อไร่

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 15 ธันวาคม ที่ทำการสมาพันธ์กลุ่มผู้เลี้ยงก้ามกรามบัวบาน บ้านโป่งแค ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณะลงพื้นที่โครงการยุวชนอาสา จ.กาฬสินธุ์ เพื่อติดตามดูโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการเพิ่มมูลค่าการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามแบบบูรณาการในพื้นที่ ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ พร้อมพบปะและเยี่ยมชมกิจกรรมของสมาชิกผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม โดยมีนายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการกาฬสินธุ์ นายจิระพันธ์ ห้วยแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ นายชาญชัย ศรศรีวิชัย ปลัด จ.กาฬสินธุ์ นายผดุงศักดิ์ อิ่มเอิบ นายอำเภอยางตลาด นายวีระชาติ ภูโปร่ง ประธานสมาพันธ์ผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามบัวบาน พร้อมด้วยผู้นำชุมชน ยุวอาสา สมาชิกผู้เลี้ยงกุ้งกร้ามกราม ให้การต้อนรับจำนวนมาก

นายสุวิทย์ กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ครั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมโครงการยุวชนอาสา จ.กาฬสินธุ์ ในการร่วมแก้ไขปัญหาการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม และเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจากเดิม 120 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 200 กิโลกรัมต่อไร่ อีกทั้งยังสามรถลดต้นทุนการผลิตจาก 230 บาทเหลือเพียง 190 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มอัตราการรอดตายของลูกกุ้งจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 45 ทั้งนี้เพื่อเป็นต้นแบบให้อีก 3หมู่บ้าน ที่เลี้ยงกุ้งก้ามกราม ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการเพิ่มมูลค่าการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามแบบบูรณาการ ในพื้นที่บ้านโคกก่อง และบ้านโพธิ์ชัย ต.บัวบาน อ.ยางตลาด ซึ่งมีจำนวนคนจนตามตามระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) จำนวน 120 คน

นายสุวิทย์ กล่าวต่อว่า ก่อนที่ชาวบ้านจะเริ่มโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการเพิ่มมูลค่าการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม พบว่าปัญหากุ้งก้ามกรามที่เลี้ยงนำมาจำหน่ายในตลาดมีขนาดเล็ก ซึ่งยังไม่เป็นที่พอใจของผู้บริโภค แถมมีราคาสูง ไม่แน่นอน การอนุบาลลูกกุ้งมีอัตราการรอดตายต่ำ ปัญหาสายพันธุ์ลูกกุ้งไม่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ รวมถึงปัญหาคุณภาพน้ำที่ใช้ในการเลี้ยง ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้โครงการ “หมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ของ อว. ได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาและพัฒนากระบวนการผลิตกุ้งก้ามกรามร่วมกับชาวบ้าน จนกระทั่งได้ผลผลิตที่ดีขึ้น จากนั้นจึงต่อยอดโดยการนำนักศึกษาใน โครงการยุวชนอาสาลงไปทำงานร่วมกับชาวบ้าน พร้อมนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามแบบพัฒนาที่ได้มาตรฐานเข้าไปใช้ ตั้งแต่การเตรียมบ่อเลี้ยง การจัดหาลูกกุ้ง อาหาร รวมทั้งการติดตั้งระบบเติมอากาศที่ประดิษฐ์จากนักศึกษาของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์เข้าไป และนำเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์กุ้ง ก้ามกรามเพื่อเพิ่มมูลค่า การจัดทำระบบบัญชี

นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า ผลการดำเนินโครงการ ปรากฏว่ากุ้งก้ามกรามมีขนาดสม่ำเสมอ สามารถขายได้ทั้งบ่อพร้อมกัน และเป็นต้นแบบให้กับหมู่บ้านอื่น ๆ ได้อีกด้วย ทั้งนี้สำหรับโครงการยุวชนอาสา อว.นั้นเป็นการส่งนักศึกษา 800 คนลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชาวบ้าน 1 ภาคการศึกษา จำนวน 83 โครงงาน ลงชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย 83 ตำบล ใน 15 อำเภอ จาก ทั้งหมด 18 อำเภอ ของ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งประสบปัญหาด้านความยากจน ความเหลื่อมล้ำ หรือปัญหาคุณภาพชีวิตในมิติต่าง ๆ มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมเฉลี่ยต่อคนต่อปีเพิ่มสูงขึ้น โดยค่าเป้าหมายเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 และลดสัดส่วนคนจนลดลง มีค่าเป้าหมาย ลดลงร้อยละ 2.5 ต่อปี โดยจะมุ่งพัฒนาศักยภาพที่มุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย ยกระดับคุณภาพและรายได้ด้านการท่องเที่ยว และส่งเสริมการค้า การลงทุน เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และพัฒนาทุนมนุษย์ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมที่มีความมั่นคงและสงบสุข ตามนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนของรัฐบาล โดยนำร่องที่ จ.กาฬสินธุ์เป็นแห่งแรก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image