ขสมก. ยันแผนฟื้นฟูใหม่แก้ขาดทุนได้ พร้อมจบปัญหาปมขัดแย้งสหภาพฯ

นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ขณะนี้จากการที่ขสมก.ได้ประชุมหารือร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) เพื่อสร้างการรับรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับรายละเอียดของการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการก่อนหน้านี้ หลังจากที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.” เมื่อวันที่21 พฤศจิกายน 2562 จนเกิดการคัดค้านและการประชุมถูกเลื่อนออกไป แต่ขณะนี้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจที่ตรงกัน หลังจากนี้จึงวางทิศทางการทำงานร่วมกันระหว่างขสมก.และสหภาพฯไว้ว่า จะต้องมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกัน เพื่อลดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งหลังจากนี้ ขสมก.ได้เตรียมที่จะจัดประชุมชี้แจงกลุ่มย่อย เพื่อทำความเข้าใจกับพนักงานทุกฝ่ายอีกครั้ง โดยตามที่ขสมก.ได้มีการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการของขสมก.ขึ้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดทุน และลดภาระค่าครองชีพของประชาชนในการเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง ลดภาระการสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐ ลดปัญหาการจราจร และลดมลภาวะทางอากาศ

นายสุระชัยกล่าวว่า ยืนยันว่าขสมก. ได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการทุกอย่างตามเดิม เพื่อให้เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 จำนวน 7 ข้อ แต่ได้มีการปรับรายละเอียดของบางส่วนคือ ประเด็นเรื่อง การจัดหารถโดยสาร จำนวน 3,000 คัน จะแบ่งเป็นการเช่า จำนวน 2,511 คัน โดยจะเปลี่ยนจากการซื้อใหม่เป็นการเช่าใช้แทน โดยยืนยันว่าแนวทางข้างต้นไม่ได้เป็นการจ้างเอกชนให้มาเดินรถแทน ตามที่มีการสื่อสารออกไปในช่วงก่อนหน้านี้ แต่เป็นเพียงการเช่าใช้รถเท่านั้น ซึ่งจะใช้วิธีการเปิดประมูล เพื่อนำรถมาให้บริการกับประชาชนโดยยังให้พนักงานของขสมก.เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด เนื่องจากจะสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่าย จากปัจจุบันที่คิดเป็นต้นทุน 50 บาทต่อกิโลเมตร ลงมาอยู่ที่ 39 บาทต่อกิโลเมตร เพราะต้องวางแผนในระยะยาว เนื่องจากการเช่ารถจะทำให้สามารถบริหารจัดการได้ง่ายกว่าการซื้อ เพราะเมื่อซื้อใหม่แล้วต้องถือเป็นทรัพย์สินขององค์กร ในระยะยาวก็ต้องเกิดการบำรุงรักษาต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุการใช้งาน แม้จะมีข้อดีตรงพลังงานมีราคาถูก แต่ก็ต้องแลกกับต้นทุนการซื้อที่มีราคาสูง โดยตามแผนงานเบื้องต้น การเช่ารถดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการศึกษาเพื่อกำหนดราคากลางทั้งยังต้องรอแผนปฏิรูปเส้นทางทั้ง 110 เส้นทางให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะสามารถคำนวณราคากลางได้ ส่วนรูปแบบการลงทุนโครงการเบื้องต้น คาดว่าจะให้เป็นในรูปแบบของเอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี)

นายสุระชัยกล่าวว่า สำหรับการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ ที่จะมีการจัดสรรใหม่ โดยขสมก.รับผิดชอบเดินรถอยู่ 137 เส้นทาง ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะลดลงเหลือกี่เส้นทาง โดยเส้นทางทั้งหมดอยู่ในความดูแลของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ซึ่งส่เหตุที่ต้องปรับปรุงเป็นเพราะที่ผ่านมาพบปัญหาการวิ่งทับซ้อนเส้นทางกันเป็นจำนวนมาก อาทิบริเวณหน้าสวนจตุจักรไปถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีรถเมล์วิ่งทับเส้นทางกันถึง 30 สาย บริเวณถนนลาดพร้าวจากแฮปปี้แลนด์ถึงห้าแยกลาดพร้าว มีรถวิ่งทับเส้นทางถึง 27-28 สาย เพราะพฤติกรรมผู้โดยสารนิยมนั่งรถต่อเดียวแบบนั่งยาวตก 50-60 กม. เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายแทนการนั่งหลายต่อ ทำให้รัฐบาลมีนโยบายที่จะทำค่าโดยสารแบบ 30 บาท นั่งได้ทุกสายทั้งวัน เพื่อลดปัญหาจราจรและความทับซ้อนของเส้นทางรถโดยสาร โดยการวางแผนที่จะเก็บค่าโดยสารที่ 30 บาทต่อวัน ประเมินว่าเบื้องต้นภาครัฐคงต้องจ่ายเงินอุดหนุนในช่วงแรกไปก่อน เพื่อลดภาระให้ประชาชน อย่างไรก็ตาม หากดูตามแผนฟื้นฟูของขสมก. ทั้งการปรับเส้นทางเดิมรถใหม่ และการเช่ารถ ซึ่งในอนาคตอาจจะเป็นรถขนาดเล็กลงจากเดิม 12 เมตร เป็น 9-10 เมตร ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของขสมก.ได้ และจะแก้ไขปัญหาขาดทุนสะสม และอาจเห็นกำไรภายในระยะ 5-10 ปี โดยกระบวนการเสนอทบทวนแผนฟื้นฟูหลังจากนี้ จะต้องเสนอให้คณะกรรมการบริหารกิจการองค์การ (บอร์ด ขสมก.) เห็นชอบก่อน จากนั้นจะเสนอไปที่กระทรวงคมนาคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และ ครม.ตามขั้นตอน เพื่อทบทวนแผนดังกล่าว ซึ่งคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลา 1 ปีครึ่งขึ้นไปจะแล้วเสร็จทั้งหมด

หากในอนาคตต้นทุนเพิ่มมากขึ้น ค่าโดยสารก็มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้เพิ่มเติม เนื่องจากราคาค่าโดยสารที่ตั้งไว้ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก เพราะหากก๊าสปรับราคาขึ้น น้ำมันขึ้น หรือค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นอีก ไปถึง 400-500 บาท ค่าโดยสารก็ต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ไม่ใช่ยืนอยู่ที่ 30 บาทเท่าเดิม ส่วนในประเด็นการเกษียณอายุของพนักงาน ซึ่งเป็นประเด็นกับสหภาพฯนั้น ขสมก.ยืนยันว่ายังดำเนินการตามแผนฟื้นฟูคือ ลดจำนวนพนักงานเก็บค่าโดยสารและพนักงานในสำนักงานบางส่วน ขณะที่พนักงานขับรถยังไม่มีแผน เพราะขสมก.ยังขาดพนักงานในส่วนนี้ โดยจะต้องหาจ้างพนักงานเพิ่มเติมรวมถึงจ้างพนักงานเกษียณที่ยังมีคุณสมบัติเพียงพอกลับมาขับรถเพิ่มเติม นอกจากนี้ กรณีหนี้สินกว่า 110,000 ล้านบาทของขสมก. ก็จะให้รัฐยกเว้นไว้ก่อนตามแผนเดิม ขณะที่หนี้ใหม่ก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะจะไม่มีการจัดซื้อรถใหม่ แต่จะใช้วิธีเช่าโดยใช้ค่าโดยสารมาจ่ายค่าเช่าแทนทั้งหมดนายสุระชัยกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image