‘กอบศักดิ์’ เชื่อแฟลชม็อบกระทบหุ้นไทยเล็กน้อย แนะ ก.ล.ต.แก้หลุมดำ ดึงนักลงทุนหน้าใหม่เพิ่ม

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า กรณีการเกิดแฟลชม็อบขึ้น ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกทางกฎหมายที่มีรองรับอยู่แล้ว โดยเชื่อว่าในปี 2563 สุดท้ายจะคลายตัวในที่สุด แม้ในช่วงแรกจะส่งผลกระทบกับตลาดหุ้นไทยจนปรับตัวลดลง เพราะมองว่าปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย รวมถึงปัจจัยพื้นฐานของตลาดทุนในระยะยาวไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงเชื่อว่าหลังการเมืองคลี่คลาย ตลาดทุนไทยจะสามารถดำเนินต่อไปได้ ในส่วนของภาคเศรษฐกิจไทยก็จะพยายามประคับประคอง ให้เศรษฐกิจสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้ โดยยอมรับว่าเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลงส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศตามไปด้วย

“หลังจากเกิดการชุมนุมขึ้น ก็ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยปิดลบกว่า 20 จุด ก็ต้องยอมรับว่าการชุมนุมสร้างผลกระทบให้ตลาดหุ้นจริง เพราก็เป็นเรื่องปกติที่ตลาดจะผันผวนตอบรับกับปัจจัยความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เข้ามากระทบ ยกตัวอย่างตลาดหุ้นสหรัฐ ที่พอประธานาธิบดีส่งข้อความอะไรใหม่ ก็ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐผันผวน ลดลงหลายจุดได้ ทำให้นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นจะต้องเข้าใจ และยอมรับความผันผวนที่เกิดขึ้นให้ได้ โดยหากปัจจัยการเมืองนิ่งหรือมีความชัดเจน ตลาดหุ้นก็พร้อมจะปรับตัวขึ้นไปในทางที่ดีขึ้น แต่หากการเมืองไม่นิ่งตลาดก็จะสะท้อนข่าวลบสลับกันไป” นายกอบศักดิ์กล่าว

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ปัจจัยพื้นฐานตลาดหุ้นไทยไม่ได้เปลี่ยนไป เพราะยังมีศักยภาพและมีโอกาสเติบโตได้ในระยะยาว เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค นอกจากนี้ การเร่งเพิ่มบัญชีผู้ลงทุนก็อยากให้ตลาดพัฒนาสินทรัพย์ที่มีอยู่ ให้มีคุณภาพมากขึ้น ในส่วนของทิศทางเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) คาดว่าจะชะลอการไหลออกลง แต่การที่เงินทุนไหลออกบ้าง ก็ส่งผลดีต่อค่าเงินบาทให้มีแนวโน้มอ่อนค่าลง หลังช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแข็งค่าต่อเนื่องจาก 32-33 บาท มาอยู่ที่ 30 บาทในปัจจุบัน ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศ เรื่องงบประมาณปี 2563 ที่อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนกังวล เชื่อว่าจะผ่านสภาและสามารถเบิกจ่ายได้ในช่วงปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เนื่องจากเสียงของรัฐบาลมีเพียงพอที่จะผ่านเรื่องดังกล่าวได้ และเชื่อว่าทุกฝ่ายจะเห็นความสำคัญของการผ่านงบประมาณเพื่อให้สามารถพัฒนาประเทศต่อไปเช่นกัน ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นในปีต่อไป

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่ตลาดทุนไทยจะก้าวเข้าสู่อันดับ 1 ของตลาดทุนที่ใหญ่สุดในภูมิภาค หลังจากปี 2540 ไทยถือว่าเป็นตลาดทุนที่มีขนาดใหญ่สุดในภูมิภาค ก่อนที่จะตกอันดับลงมา ซึ่งตอนนี้ถือว่ามีโอกาสที่จะก้าวเข้าสู่อันดับเดิมได้ โดยสำคัญที่จะต้องร่วมมือกันพัฒนาคือ การตอบโจทย์ แก้ไขปัญหา และรับมือกับความท้าทายทั้ง 4 ข้อ ได้แก่ 1.การก้าวเข้าสู่อนาคตดิสรับชั่น ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัททุกบริษัทต้องคิดและหาคำตอบให้ได้ว่า บริษัทจะอยู่ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ได้อย่างไร เพราะหากไม่คิดวางแผนไว้ก่อน ก็อาจจะอยู่ไม่ได้ในอนาคต รวมถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และตลาดทุนทั้งหมด ก็ต้องคิดตอบโจทย์เรื่องนี้ให้ได้เช่นเดียวกัน เพราะดิสรัปชั่นเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาส ที่จะนำสิ่งใหม่มาสร้างให้เป็นสินทรัพย์ใหม่ๆ ขึ้น

Advertisement

“สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกกฎหมายดิจิทัลแอสเซทขึ้น ซึ่งถือเป็นผู้กำกับดูแลประเทศแรกๆ ที่เริ่มทำในภูมิภาคนี้ จึงสะท้อนให้เห็นว่า ตลาดทุนไทยพร้อมอาแขนรับการดิสรัปชั่น ความท้าท้ายที่สำคัญ 2 เป็นเรื่องของการที่เอเชียผงาดขึ้นมาสู่การเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญมากขึ้น จึงเป็นเวทีของประเทศไทย เพราะรอคอยเวลาที่จะเป็นพระเอกมานานแล้ว หลักจากเป็นผู้เล่นระดับพระรองมานาน โดยการก้าวขึ้นมาจะทำให้มีโอกาสมากมาย แต่ต้องหาวิธีการใช้โอกาสนั้นให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยต้องหาวิธีทำให้บริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) สามารถก้าวออกไปต่างประเทศ และกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีความสำคัญในระดับภูมิภาค ขณะเดียวกันก็ต้องหาทางในการนำพันธมิตรที่มีคุณภาพ เข้ามาเสริมในตลาดทุนไทยได้ เพื่อสร้างโอกาสในการเชื่อมต่อไปยังตลาดหุ้นจีนต่อไป”นายกอบศักดิ์กล่าว

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า 3.การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีการพัฒนาเพิ่มขึ้นในหลายด้าน แต่การพัฒนาเหล่านั้นก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตาม แม้ว่าตลาดทุนจะมีเครื่องมือต่างๆ เช่น การทำโครงการเพื่อพัฒนาสังคม (ซีเอสอาร์) การออกหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม การทำวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยเฉพาะการทำซีเอสอาร์ของบริษัทจดทะเบียนต่างๆ ที่ขณะนี้นิยมทำค่อนข้างมาก แต่เนื่องจากเป็นการทำงานที่แยกกันของแต่ละบริษัท จึงทำให้ผลที่เกิดขึ้นไม่มีพลังมากนัก ซึ่งเชื่อว่าหากทุกบริษัทมาร่วมกันทำซีเอสอาร์แค่ปีละ 2-3 ครั้งต่อปี ก็เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่สังคมมากกว่า 4.การขจัดหลุมดำในตลาดหุ้นไทย เช่น การมีขาใหญ่ในตลาด หรือการปั่นหุ้น เพราะหากตลาดหุ้นไม่มีความปลอดภัย จะส่งผลกระทบต่อการเข้ามาของนักลงทุนหน้าใหม่ เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์จะจัดตั้งมากว่า 30 ปี แต่จำนวนบัญชีหุ้นทั้งระบบมีเพียง 1.7 ล้านบัญชีเท่านั้น ขณะที่จำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายในแต่ละเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 3 แสนบัญชี หรือมีสัดส่วนเพียง 0.5% ของประชากรทั้งประเทศ ทำให้ต้องแก้ไขปัญหาให้ตลาดทุนเป็นที่พึ่งของประชาชนมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image