กนง.คงดอกเบี้ย 1.25% คาดจีดีพีปี’62 ลดฮวบ เหลือ 2.5% ส่วนปี’63 คาดโต 2.8%

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกนง.มีมติ 7 ต่อ 0 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโบบายไว้ที่ 1.25% โดยได้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทย ยังมีแนวโน้มเติบโตในระดับต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมทั้งต่ำกว่าระดับศักยภาพที่ควรจะเป็นด้วย ซึ่งสาเหตุมาการส่งออกที่ลดลง ส่งผลต่อการจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศ โดยเบื้องต้นคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของไทยในปี 2562 โตลดลงเหลือ 2.5% จากเดิมที่คาดว่าจะโต 2.8% พร้อมทั้งประเมินการเติบโตของจีดีพีไทย ในปี 2563 จะโตดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2562 อยู่ที่ 2.8% แต่ก็ถือว่าปรับคาดการณ์ลดจากเดิมที่คาดว่าจะโต 3.3%

นายทิตนันทิ์กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยกดดันในเรื่องของภาคการส่งออก ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดไว้ ตามปริมาณการค้าโลกที่ชะลอการเติบโตลง จากสภาวะการกีดกันทางการค้า และสงครามการค้าของสหรัฐและจีน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของภาคการผลิต ที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออก การใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชน มีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งก็มาจากการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ และโครงการร่วมลงทุนของรัฐ รวมถึงเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานบางโครงการ จึงส่งผลกระทบต่อการบริโภคของภาคเอกชน จนมีแนวโน้มชะลอลงจากรายได้ และการจ้างงานที่ปรับลดลง โดยเฉพาะในภาคการผลิตเพื่อส่งออก และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

“หากประเมินภาคการส่งออกของไทยในช่วงที่ผ่านมา ตัวเลขติดลบ แต่หากเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน จะเห็นว่ามีบางประเทศที่ติดลบด้วยตัวเลข 2 หลัก ทำให้ต้องประเมินว่ายังมีปัจจัยภายในและภายในอะไรอีกบ้าง ที่สามารถทำได้เพิ่มเติม รวมถึงได้หารือกันถึงโครงสร้างในตลาดแรงงาน ที่เมื่อการส่งออกชะลอตัวลง ก็จะส่งผลต่ออัตราการจ้างงานลดลงตาม หรือการแรงงานช่วงโอที ซึ่งกระทบกับรายได้ของแรงงาน จนบางส่วนต้องหางานใหม่ บางส่วนออกนอกตลาดแรงงาน ซึ่งต้องติดตามว่าในแรงงานกลุ่มสูงวัย หากออกจากตลาดแรงงานแล้ว เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว จะสามารถกลับเข้ามาได้หรือไม่”นายทิตนันทิ์กล่าว

นายทิตนันทิ์กล่าวว่า สำหรับทิศทางค่าเงินบาท หากเทียบกับการประชุมในครั้งที่ผ่านมา หลังจากกงน.ได้ออกมาตรการผ่อนคลายเงินทุนต่างชาติ จากเดิมที่คาดว่าเงินจะแข็งค่าต่อเนื่อง ก็ปรับเปลี่ยนทรงตัวแทน ทั้งยังเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวทั้งสองทิศทาง ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาคมากขึ้น เพราะช่วงที่ผ่านมาแข็งค่าต่อเนื่อง ก็คงมีโอกาสอ่อนค่าลงได้บ้าง สะท้อนได้จากการที่ภาคเอกชน ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ไทย ได้ออกไปลงทุนซื้อธนาคารในต่างประเทศ โดยจากนี้จะติดตามสถานการณ์ค่าเงินและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิดต่อไป รวมทั้งเรื่องความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบาง ให้เสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะคุณภาพสินเชื่อของธุรกิจเอสเอ็มอีที่ด้อยลง

Advertisement

นายทิตนันทิ์กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีตัวเลขการลงทุนในระดับที่ต่ำมาก การให้ความสำคัญกับสัดส่วนการลงทุนมากขึ้น จึงมีความจำเป็น ส่วนนโยบายการเงิน หากดูผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลในระยะยาว 10 ปี ให้ดอกเบี้ยเพียง 1.6% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำมาก จึงสะท้อนให้เห็นว่าภาวะขณะนี้เอื้อต่อการลงทุนเพิ่มขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม กนง.ยังมีความพร้อมที่จะใช้เครื่องมือทางการเงินเพิ่มเติม หากมีความจำเป็นที่ต้องใช้จริงๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image