ฝ่ายค้าน พลิกเกม ขอชิงเก้าอี้ประธานแก้ รธน. ยกร่างรธน.ใหม่ทั้งฉบับ รณรงค์นอกสภา

ฝ่ายค้าน พลิกเกม ขอชิงเก้าอี้ประธานแก้ รธน. ยกร่างรธน.ใหม่ทั้งฉบับ รณรงค์นอกสภา

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 24 ธันวาคม ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ สัดส่วนฝ่ายค้านทั้ง 19 คน ประชุมหารือแนวทางการพิจารณาศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะมีการประชุมกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560

โดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน เป็นประธานการประชุม กล่าวว่า กมธ.แก้รัฐธรรมนูญในสัดส่วนพรรคฝ่ายค้าน 19คน หารือกันมีมติว่า จะส่งบุคคลชิงตำแหน่งประธานกมธ.ชุดนี้ รวมถึงตัวบุคลากรในตำแหน่งอื่นๆทั้งรองประธานกมธ. เลขานุการ ผู้ช่วยเลขานุการ และโฆษกกมธ.

นายโภคิน พลกุล กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า กมธ.แก้รัฐธรรมนูญในสัดส่วนฝ่ายค้านมีมติเสนอชื่อตนชิงตำแหน่งประธานกมธ.  แม้รู้ว่าโหวตแล้วจะแพ้ แต่ต้องทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเต็มที่ ฝ่ายค้านยังเชื่อว่าแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญดีที่สุดคือ การตั้ง ส.ส.ร.มาแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด1และ2 โดยอาจแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดช่องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ  ขอเชิญทุกฝ่ายร่วมมือให้การแก้รัฐธรรมนูญเดินหน้าไปได้

วันนี้เป็นเพียงการศึกษาแนวทางแก้ไข เราจะตั้งตุ๊กตาไว้ให้ แล้วให้กระบวนการต่อไปมาดำเนินการ ผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจว่ารัฐบาลจะให้แก้รัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ นายโภคินตอบว่า คนเราต้องอยู่ด้วยความหวังและความเชื่อ ถ้ารัฐบาลมองประเทศเป็นหลักคิดว่าควรมาร่วมเดินกับฝ่ายค้านด้วย วันนี้ยังไม่รู้เลยว่า รัฐธรรมนูญที่ ส.ส.ร.จะร่างมาจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร  ถ้าทุกพรรคเห็นด้วย มาตรา256จะไม่มีความหมาย สามารถแก้ไขได้เลย  แต่จะแก้ไขไม่ได้ ถ้ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วย ดังนั้นมาตรา256 ไม่ใช่อุปสรรค

Advertisement

เมื่อถามว่า คิดว่า ส.ว.จะเห็นด้วยกับการให้มีส.ส.ร.หรือไม่ นายโภคิน กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่ถ้าอยากให้ประเทศเดินหน้าไปด้วยกัน ควรฟังเสียงจากทุกฝ่าย เพราะรัฐธรรมนูญนี้ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบเลย ถ้านี่คือทางออกของบ้านเมือง เรามาเดินไปด้วยกันหรือไม่  ถ้าเห็นด้วยกับแนวทางก็มาเดินไปด้วยกัน  ไม่มีอะไรยากเลย

ส่วนจะหาฉันทามติจากประชาชนนอกสภาฯมาร่วมแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น  จะต้องให้ความรู้แก่ประชาชนด้านต่างๆเพราะประชาชนอยากมีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่กมธ.19 คนคุยกันเอง แต่ไม่ควรใช้เวลานานเกินไป ภาควิชาการและภาคประชาชนมีสิทธิแสดงความเห็น  กมธ.ก็ทำหน้าที่ไปควบคู่กับการให้ความรู้ประชาชน  และคิดว่า ประเด็นนี้ควรเปิดเผยกระบวนการทุกขั้นตอนให้ประชาชนรับรู้ด้วย

 

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image