ห่วงเด็ก-เยาวชน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนน จมน้ำ ช่วงปีใหม่ ชวนเฝ้าระวัง
เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ที่สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม สถาบันแห่งชาติฯ ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เรื่อง “7 วัน ไม่อันตราย ช่วยกันดูแลเด็กให้ปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่” ภายใต้การเฝ้าระวังความปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวนการ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวว่า จากบทสรุป 7 วันอันตราย ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 463 ราย และบาดเจ็บ 3,892 ราย และสาเหตุการตายอันดับหนึ่ง คือ เมาแล้วขับ ส่วนตัวเลขจำนวนการตายของเด็กตั้งแต่อายุตั้งแต่ 1-17 ปี ในปี 2561 มีเด็กตายจำนวน 545 คน สาเหตุการตายรวมกลุ่มโรคและการบาดเจ็บในเด็ก ในส่วนของเด็กเล็กจะตายเยอะ เช่น ปอดอักเสบ ท้องเสีย น่าสนใจว่าในช่วงวัยรุ่นมีสาเหตุการตายจากอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้น
เมื่อเทียบสัดส่วนการตายด้วยการบาดเจ็บและกลุ่มโรคอื่น ๆ (เปรียบเทียบในเด็กอายุ 1-17ปี) เด็กจะตายด้วยการบัดเจ็บสูงถึงจำนวน 53.5% และจากสถิติสาเหตุการตายจากการบาดเจ็บทางถนน การจมน้ำเป็นเหตุการตายที่เพิ่มสูงขึ้นชัดเจนในกลุ่มเด็กอายุ 11-12 ปี ไปจนถึงวัยรุ่น
ในช่วง 7 วันอันตราย ในช่วงต้นปี2562 ที่ผ่านมา ในเด็กอายุ 1-17 ปี ตายจากการบาดเจ็บถึง 3,756 คน ใน 1 ปี เฉลี่ย 10 คน ต่อวัน ในช่วง 7 วันอันตรายของปีใหม่เฉลี่ย 14 คนต่อวัน และในช่วง 7 วัน อันตรายสงกรานต์ เฉลี่ย 23 คน ในเดือนเมษายน ตายเฉลี่ย 19 คน/วัน
อย่างไรก็ตาม เพื่อลดปัญหาการเสียชีวิตในเด็กและเยาวชน เริ่มที่ภัยอุบัติเหตุบนท้องถนน การยึดเหนี่ยวเด็กกับคาร์ซีท สามารถลดการบาดเจ็บในเด็กได้ ส่วนการจมน้ำ รัฐต้องจัดพื้นที่เล่นสวนน้ำ โดยจะต้องมีผู้ควบคุมการเล่น ต้องมีเสื้อชูชีพที่มีความเหมาะสมกับเด็ก