บันทึกร้อน-การเมือง’62 วิบากกรรม‘อนค.’ อนาคต‘รบ.ปริ่มน้ำ’

การเมืองในรอบปี 2562 เปิดศักราชมาด้วยการเตรียมพร้อมลงสนามการเลือกตั้งทั่วไป หลังมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 จำนวน 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 350 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นวันหย่อนบัตรเลือก ส.ส.เขต โดยเปิดรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ระหว่างวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ 2562
แต่ด้วยระบบเลือกตั้งการแบบจัดสรรปันส่วนผสม ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่นักการเมืองเข้าใจเป็นภาษาชาวบ้านว่า หากพรรคใดได้รับเลือกตั้ง ส.ส.เขต เกินจำนวน ส.ส.ที่พรรคนั้นๆ จะได้ ส.ส.พึงมีแล้ว ก็จะไม่ได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

ด้วยเหตุนี้พรรคการเมืองใหญ่แชมป์เก่าการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างพรรคเพื่อไทย (พท.) ต้องงัดยุทธศาสตร์แตกแบงก์พัน เป็นแบงก์ร้อย แก้เกมระบบการเลือกตั้งที่อาจจะได้ ส.ส.เขตจนเกินจำนวน ส.ส.พึงมี ด้วยการแบ่งบิ๊กเนมการเมืองทั้งอดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส. ไปจดตั้งพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ที่รู้กันว่าเป็นพรรคน้องของพรรค พท. โดยมี ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช นั่งแท่นเป็นหัวหน้าพรรค ทษช.

พร้อมกับสร้าง “บิ๊กเซอร์ไพรส์” ทางการเมือง เมื่อคณะกรรมการบริหารพรรค ทษช.มีมติเอกฉันท์การเสนอพระนาม “ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี” เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ทษช.ต่อ กกต. เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์

Advertisement

กระทั่งช่วงค่ำวันเดียวกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชโองการ เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีใจความ สรุปว่า “ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา
สิริวัฒนาพรรณวดี” และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ อยู่ในหลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ด้วย และไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ในทางการเมืองได้ เพราะจะเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นำมาซึ่งการยื่นคำร้องของ “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่ยื่นร้องต่อประธาน กกต.ให้พิจารณายุบพรรค ทษช. ที่ดึงสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งเป็นข้อห้ามตามระเบียบหาเสียงเลือกตั้ง จึงเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 โดย กกต.มีมติเอกฉันท์ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยยุบหรือไม่ยุบพรรค ทษช.

ระบุความผิดว่า การเสนอชื่อแคนดิเดต นายกรัฐมนตรีของพรรค ทษช. เข้าข่ายผิดมาตรา 92 (2) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง คือ กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น

Advertisement

กระทั่งเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยคดีที่ กกต.เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค ทษช. ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 ฐานกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากกรณีเสนอชื่อแคนดิเดต นายกรัฐมนตรี

โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว มีมติวินิจฉัยให้ยุบพรรค ทษช. และมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิทางการเมืองคณะกรรมการบริหารพรรค 10 ปี และห้ามจัดตั้งพรรคการเมือง และห้ามใช้ชื่อซ้ำและชื่อย่อเกี่ยวกับพรรคการเมืองนี้ เป็นเวลา 10 ปี

การเลือกตั้ง ส.ส.ยังดำเนินต่อไป แม้พรรค ทษช.จะต้องออกจากสนามแข่งขัน

ทั้งนี้ กกต.ได้สรุปยอดเมื่อปิดรับสมัคร ส.ส.แล้วพบว่า มีผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตจำนวน 11,128 คน จากพรรคการเมือง 80 พรรค และแบบบัญชีรายชื่อ 2,718 คนจาก 72 พรรค รวมทั้งสิ้น 13,846 คน

หนึ่งในพรรคการเมืองน้องใหม่ที่ลงสู้ศึกเลือกตั้งครั้งแรก เป็นที่จับตาของบิ๊กเนมการเมืองและคนรุ่นใหม่ นั่นคือ พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กับสัญลักษณ์ของพรรคคือ สามเหลี่ยมสีส้ม ที่มี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” นั่งเป็นหัวหน้าพรรค อนค. และมี “ปิยบุตร แสงกนกกุล” ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการพรรค อนค. โดย กกต.รับรองสถานะเป็นพรรคการเมืองตามกฎหมายเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2561 พร้อมกับเสนอ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เป็นแคนดิเดตนายกฯ

รวมทั้งพรรคน้องใหม่แต่ได้นักการเมืองหน้าไม่ใหม่เข้ามาร่วมก่อตั้งพรรคภายใต้ชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มี “อุตตม สาวนายน” เป็นหัวหน้าพรรค พปชร. และ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” เป็นเลขาธิการ เป็นแคนดิเดตนายกฯ

แต่ผลการเลือกตั้งหลังปิดหีบนับคะแนน แม้ผู้ชนะเลือกตั้งจะยังเป็นพรรค พท.ที่ได้ 137 ที่นั่ง ตามมาด้วยพรรค พปชร. 116 เสียง และพรรคน้องใหม่ อย่างพรรค อนค.ที่เข้าป้ายมาอันดับ 3 ที่ 81 เสียง ชนะพรรคใหญ่อย่าง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่พลิกล็อกพ่ายแพ้ ได้มาแค่ 53 เสียง ส่งผลให้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ต้องแสดงสปิริตลาออกจากหัวหน้าพรรค ปชป.

แม้พรรค พท.จะชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 แต่ด้วยกติกาภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เข้ามามีส่วนร่วมในการโหวตเลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส. เพื่อใช้เสียงข้างมาก 376 เสียงมาชี้ขาดบุคคลที่จะได้รับเลือกเป็นนายกฯ แน่นอนที่ประชุมร่วมรัฐสภาเป็นไปตามความคาดหมาย เทคะแนน 500 เสียง เลือก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ คนที่ 29 ชนะ “ธนาธร” ที่ได้เพียง 244 เสียง พร้อมกับจัดตั้งรัฐบาลผสม 18 พรรคด้วยเสียงปริ่มน้ำ 254 เสียง ต่อ 246 เสียงของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านที่มีพรรค พท.เป็นแกนนำ

วิบากกรรมทางการเมืองหลังการเลือกตั้งกลับพุ่งเป้าไปที่พรรค อนค. เป็นส่วนใหญ่ เริ่มจากเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องของ กกต. ภายหลังที่นายศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นร้องให้ตรวจสอบสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค อนค. สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) เนื่องจากถือหุ้นสื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เข้าลักษณะ ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.และสั่งให้นายธนาธรยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยออกมา นายธนาธรกลายเป็น ส.ส.ที่ทำหน้าที่ภายในสภาไม่ได้

ต่อมาวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยโดยมีมติ 7 ต่อ 2 ชี้ว่านายธนาธรยังคงถือหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดียฯ ในวันที่ยื่นสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ถือเป็นลักษณะต้องห้าม สมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ของนายธนาธรถือว่าสิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ เท่ากับว่านายธนาธรเป็น ส.ส.เพียง 60 วัน คือตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม เป็นวันเลือกตั้ง ถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 เป็นวันก่อนศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้นายธนาธรพ้นจากสมาชิกภาพ ส.ส.

ขณะเดียวกันคดีที่ถาโถมใส่พรรค อนค.ยังคงเดินหน้าอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคดีสำคัญๆ ที่จะส่งผลให้พรรค อนค.ถูกยุบพรรคได้ นั่นคือเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องที่ กกต. ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรค อนค.ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 72 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 กรณีพรรค อนค.กู้เงินจำนวน 191 ล้านบาท จากนายธนาธร หัวหน้าพรรค อนค. ฝ่าฝืนมาตรา 72 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยแจ้งให้ กกต.ทราบและส่งสำเนาคำร้องให้กับพรรคอนาคตใหม่ แจ้งข้อกล่าวหาภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับสำเนาคำร้อง
ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 9 มกราคม 2563

ส่วนอีกหนึ่งคดีร้อนของพรรค อนค.คือ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2562 กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณารับคำร้องที่ นายณฐพร โตประยูร ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การ
กระทำของพรรค อนค. นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล และคณะกรรมการบริหาร พรรค อนค. ผู้ถูกร้องที่ 1-4 ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า ในคดีนี้มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้โดยไม่จำเป็นต้องทำการไต่สวน ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดอ่านคำวินิจฉัย ในวันที่ 21 มกราคม 2563 เวลา 11.30 น.

สำหรับคดีที่นายณฐพรยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น แกนนำพรรค อนค.มักจะเรียกว่า คดี “อิลลูมินาติ” เนื่องจากในคำร้องของนายณฐพร นอกจากระบุถึงพฤติกรรมของแกนนำพรรค อนค.แล้ว ยังระบุว่าสัญลักษณ์ของพรรคอนาคตใหม่ที่เป็นสามเหลี่ยมด้านเท่ากลับหัว มีความเหมือนกับสมาคมอิลลูมินาติ ในช่วงปี 1776 ที่ผู้ก่อตั้งไม่ยึดติดกับความเชื่อเดิมทั้งการปกครองและศาสนา เพื่อก้าวเข้าสู่การปกครองแบบใหม่ (New World Order) และสมาคมนี้อยู่เบื้องหลังการล้มล้างการปกครองระบอบกษัตริย์ของหลายประเทศในยุโรป การที่พรรคใช้สัญลักษณ์แบบนี้แสดงให้เห็นเจตนาที่ซ่อนเร้นวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของพรรค โดยนายณฐพรผู้ร้องระบุว่า เป็นพรรคการเมือง ที่เป็นอันตรายต่อระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ส่วนการขับเคลื่อนการเมืองภายในสภาของพรรค อนค. ก็ไม่สามารถควบคุม ส.ส.ของพรรคให้เป็นเอกภาพ โดยเฉพาะการโหวตญัตติสำคัญๆ ในที่ประชุมสภา อาทิ ญัตติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำประกาศและคำสั่งของ คสช.และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 มักมี 4 ส.ส.พรรค อนค.โหวตสวนมติของพรรค อนค. ได้แก่ นางศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่, พ.ต.ท.
ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี, นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี และ น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี

จนสุดท้ายในการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคอนาคตใหม่ ประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และ ส.ส.พรรค อนค. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 มีมติเอกฉันท์ขับทั้ง 4 ส.ส.พ้นจากพรรค อนค. ทำให้ทั้ง 4 ส.ส.ต้องหาพรรคใหม่สังกัดให้ได้ภายใน 30 วัน เพื่อไม่ให้พ้นสมาชิกภาพ ส.ส.

ทั้ง 4 เสียงของพรรค อนค.ที่ถูกขับพ้นพรรค มีการวิเคราะห์กันว่า น่าจะไปช่วยเติมเสียงให้กับพรรคฝั่งรัฐบาลเพื่อหลุดพ้นสภาพรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ สำหรับเตรียมพร้อมศึกหนักในสภา ทั้งการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ในวาระ 2-3 ระหว่างวันที่ 8-10 มกราคม 2563

ตามด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯและรัฐมนตรีของฝ่ายค้านในห้วงปลายเดือนมกราคม 2563 ที่ล้วนจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ฝั่งรัฐบาล แบบเป็นปึกแผ่น แน่นปึ้ก ไม่แตกแถว เพื่อให้รัฐเชียงกงของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 เดินหน้าไปสู่เป้าหมาย

นั่นคือ อยู่ครบเทอม 4 ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image