ตร.เตือนชาวเน็ตวิพากษ์วิจารณ์คดีเกาะเต่าบิดเบือนคำตัดสินศาลเข้าข่ายผิดพ.ร.บ.คอมพ์

รองโฆษก ตร.เตือน ชาวเน็ตวิพากษ์วิจารณ์คดีเกาะเต่า บิดเบือนคำตัดสินศาล เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คอมพ์ แจงตำรวจไม่มีเหตุผลที่จะจับแพะ หรือสร้างพยานเท็จ

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร.เปิดเผยถึงประเด็นบนโซเชียลมีเดียและสื่อได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับการโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์ความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสการสืบสวนสอบสวนด้านนิติวิทยาศาสตร์ในการวิเคราะห์เชิงสถิติตัวอย่างสารพันธุกรรม (DNA samples) จากจำเลย ชาวเมียนมาทั้ง 2 คน ที่นำมาสู่การจับกุม จนสรุปความเห็นทางคดีส่งฟ้องและมีคำตัดสินในคดีฆ่าข่มขืนนักท่องเที่ยวสัญญาติอังกฤษ เหตุเกิดที่บริเวณหาดทรายรี ต.เกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2557

ในคดีดังกล่าวเป็นคดีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการระดมสรรพกำลังจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ชำนาญการ ทั้งด้านสืบสวน สอบสวน และนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งคณะทำงานของคดีดังกล่าวก็ยังมี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. สมัยดำรงตำแหน่งเป็นรอง ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. สมัยดำรงตำแหน่งเป็นรอง ผบช.น. ซึ่งได้นำทีมทำงานพร้อมกำกับดูแลคดีดังกล่าวด้วยตนเอง จนคดีสำเร็จตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม

โดยในการสืบสวนสอบสวนพิสูจน์ทราบถึงตัวคนร้ายของคดีนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แสวงหาข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐาน โดยทำการตรวจเก็บสารพันธุกรรมจากชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนมาก เพื่อตรวจพิสูจน์และเปรียบเทียบสารพันธุกรรมของผู้ต้องสงสัยที่พบจากผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ รายใดไม่ปรากฏหลักฐานเชื่อมโยงถึงก็ตัดประเด็นข้อสงสัยออกไป มีการสอบปากคำพยานจำนวนหลายปาก การตรวจในทางเทคโนโลยีเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารและผลการตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ตลอดจนข้อมูลภาพถ่ายกล้องวงจรปิดในห้วงเวลาที่เกิดเหตุ ตามเส้นทางที่มีการสืบสวนพบเบาะแสของผู้ต้องสงสัย

Advertisement

สำหรับการตรวจเก็บสารพันธุกรรม (DNA samples) ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยกองพิสูจน์หลักฐานได้มีการเก็บสารพันธุกรรมทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่อาจจะเกี่ยวข้องจำนวนมาก และมีการใส่ถุงมือป้องกันการปนเปื้อน ใช้น้ำยาตรวจที่มีคุณภาพ เครื่องตรวจอัตโนมัติ มีมาตรฐานในการตรวจพิสูจน์ เพื่อความรอบคอบในการรวบรวมพยานหลักฐาน มีการจัดเก็บและตรวจพยานวัตถุทุกชิ้นอย่างละเอียด โดยเครื่องมือที่ใช้ตรวจพยานหลักฐานทางชีววิทยาเป็นเครื่องมือที่ได้คุณภาพ การตรวจสอบจึงมีความชัดเจนน่าเชื่อถือ และมีความละเอียดในเรื่องของห้วงเวลา และพิจารณาประเด็นข้อสงสัยต่างๆ ทีละประเด็น โดยตัดผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปทีละคน ทีละประเด็น ไม่ได้เฉพาะเจาะจงจำเลย ทั้งนี้ คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้ใช้เวลาทั้งสิ้น (15 กันยายน  – 2 ตุลาคม 2557) 18 วัน สามาถจับกุมคนร้ายที่ก่อเหตุมาดำเนินคดีได้ จากนั้นได้ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ก่อนสรุปความเห็นทางคดีส่งสำนวนการสอบสวนไปยังชั้นพนักงานอัยการเพื่อพิจารณา และสั่งฟ้องคดีต่อศาลเพื่อพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป

ซึ่งในชั้นศาลนั้น พนักงานอัยการจังหวัดเกาะสมุยได้ยื่นฟ้องจำเลยชาวเมียนมาทั้ง 2 คน ในข้อหาความผิดต่อชีวิต ข่มขืนกระทำชำเรา ลักทรัพย์ และความผิดต่อพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2558 ว่าจำเลยทั้งสองมีความผิด ให้ประหารชีวิตสถานเดียว จำเลยอุทธรณ์

ต่อมา ในวันที่ 1 มีนาคม 2560 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คือให้ประหารชีวิต และเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ประหารชีวิต โดยให้เหตุผลว่าการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีเหตุผลน่าเชื่อถือและมีพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์สนับสนุน เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 5 ปี

Advertisement

พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวอีกว่า กรณีดังกล่าว Mixed profile เป็นส่วนหนึ่งของวัตถุพยาน แต่ในการพิจารณาวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา ที่นำไปสู่คำพิพากษาที่รับฟังลงโทษจำเลย มีความสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน คณะผู้พิพากษาในแต่ละชั้นศาลท่านได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานหลายด้านหลายอย่างประกอบกัน ตั้งแต่พยานหลักฐานในชั้นการสืบสวนที่เชื่อมโยงเหตุพยานพฤติเหตุและบุคคลต่างๆ ได้อย่างเจือสมจนสามารถเชื่อมโยงมาถึงตัวจำเลยทั้งสองได้ การรับฟังพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ตรวจเก็บโดยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญที่ได้จากที่เกิดเหตุและตรงกันกับ DNA ในตัวและบนร่างกายศพซึ่งตรงกับของจำเลยทั้งสอง นอกจากนี้ศาลยังได้วินิจฉัยจากคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นการสอบสวน นำไปสู่การติดตามตรวจยึดข้อมูลอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องของผู้ตายที่จำเลยได้ลักไปหลังจากทำร้ายผู้ตาย โดยการนำตรวจค้นของพยานเพื่อนของจำเลย ตามที่จำเลยให้ข้อมูลได้ในพงหญ้าหลังบ้านเพื่อนชาวพม่าที่จำเลยนำไปฝากไว้ ซึ่งเพื่อนจำเลยที่รับฝากไว้ได้ทำลายและนำไปโยนทิ้งเพราะกลัวจะมีความผิดหลังจากรู้ว่าเกิดเหตุฆาตกรรมบนเกาะเต่า นอกจากนี้ในคำพิพากษาศาลได้ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานของตำรวจไม่มีการปรักปรำกล่าวหาจำเลยก่อน จนกระทั่งผลการตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์ (DNA) ของวัตถุพยานที่พบในศพตรงกับกับอัตลักษณ์ (DNA) ของจำเลยพนักงานสอบสวนจึงมีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลย

ข้อสังเกต

  1. ศพและดีเอ็นเอคราบอสุจิจากร่างกายของศพ ถูกดำเนินการที่ห้องปฏิบัติการที่ นต.รพ.ตร.
  2. วัตถุพยานในที่เกิดเหตุและตัวอย่างผู้ต้องสงสัย ถูกดำเนินการที่ห้องปฏิบัติการ สพฐ.ตร.
  3. เมื่อพนักงานสอบสวนดำเนินการนำผลการตรวจพิสูจน์หลักฐานทั้งสองแห่งมาทำการตรวจเปรียบเทียบ จึงทราบว่าดีเอ็นเอที่คราบอสุจิจากร่างกายของศพตรงกับดีเอ็นเอของจำเลยทั้งสอง
  4. ตร.มีการตรวจดีเอ็นเอผู้ต้องสงสัย จำนวน 243 ราย เป็นชาวต่างชาติ 5 ราย คนไทย 56 ราย พม่า 182 ราย จะเห็นว่าไม่ใช่เจาะจงเฉพาะจำเลยทั้งสอง
  5. ในเรื่องการคำนวณค่าทางสถิติเป็นการปฏิบัติงานปกติของผู้เชี่ยวชาญดีเอ็นเอในการคำนวณหาความเชื่อมั่นอยู่แล้ว เพื่อให้ตนเองมีความมั่นใจในการลงความเห็นยืนยันตัวบุคคล แต่รูปแบบรายงานการตรวจพิสูจน์ของ ตร.จะไม่ปรากฏผลการคำนวณทางสถิติเข้าไปในรายงาน แต่จะเก็บไว้ประกอบสำนวน ซึ่งไม่มีกฎระเบียบใดๆ ที่ระบุไว้ว่าจะต้องมีค่าทางสถิติระบุไว้ในรายงาน

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่มีเหตุผลที่จะจับแพะ หรือสร้างพยานหลักฐานเท็จที่จะปรักปรำจำเลย โดยยังคงไม่เข้าใจว่าทำไมยังมีบุคคลที่พยายามบิดเบือนการตัดสินของศาล ซึ่งเป็นการล่วงละเมิดอำนาจของศาล ควรใช้ดุลยพินิจและควรเคารพคำตัดสินของศาลประเทศนั้นๆ และฝากเตือนไปยังกลุ่มบุคคลหรือผู้ใดที่บิดเบือนข้อเท็จจริง ถือเป็นการสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของประเทศ ทำลายภาพลักษณ์ของระบบกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งหากมีผู้ใดนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อาจเข้าข่ายความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนฯ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14 (1) จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจะมีการสืบสวนสอบสวน หากพบการกระทำผิดจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาดตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image