แบงก์เตรียมพร้อมโมบายแบงกิ้ง ป้องกันระบบล่มช่วงปลายปี

แบงก์เตรียมพร้อมโมบายแบงกิ้ง ป้องกันระบบล่มช่วงปลายปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพรวมการสำรองเงินสดในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 ลดลงจากช่วงปีใหม่ 2562 เล็กน้อย เนื่องจากปัจจุบันประชาชนเปลี่ยนไปทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล้กทรอนิกส์มากขึ้น ทั้งการใช้บริการโมบายแบงกิ้งในการโอนเงิน การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดผ่านโมบายแบงกิ้ง การชำระเงินด้วยกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์(อีวอลเลท) ที่ออกมาให้บริการหลากหลายบรัท รวมทั้งเป๋าตัง ของภาครัฐ ขณะเดียวกันมีการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตด้วย ทั้งนี้ ร้านค้าต่าง ๆได้เพิ่มช่องทางการชำระเงินอิเล้กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้นผ่านทั้งอีดีซี และคิวอาร์โค้ดร้านค้า หรือการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ เป็นต้น

โดยช่วงปีใหม่ 2563 นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้สำรองธนบัตรชนิดราคาต่าง ๆ เพื่อรองรับความต้องการเบิกจ่ายธบัตรของธนาคารพาณิชย์ตามความต้องการของประชาชนที่ประชาชนมีใช้ธนบัตรในระดับสูงกว่าปกติ มูลค่าอยู่ที่ 120,000 ล้านบาท ลดลง 10,000 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมาที่ 130,000 ล้านบาท ด้านธนาคารพาณิชยืได้มีการสำรองเงินสดผ่านช่องทางสาขา และเครื่องเอทีเอ็ม ลดลงเช่นกัน ส่วนหนึ่งจากความต้องการใช้เงินสดที่ลดลง และจำนวนสาขาและเครื่องเอทีเอ็มของธนาคารพาณิชย์ที่ปรับลดลง

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ทุกธนาคารได้มีการพัฒนาระบบอีเพย์เม้นต์ และขีดความสามารถในการรองรับธุรกรรมการเงินผ่านโมบายแบงกิ้งอย่างต่อเนื่องรองรับการทำธุรกรรมที่เข้ามาพร้อมกันจำนวนมาก เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาระบบโมบายแบงกิ้งขัดข้องโดยเฉพาะในช่วงสิ้นเดือน หรือสิ้นปี โดยในส่วนของระบบกลางที่ดูแลโดยบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ จำกัด ได้ขยายความจุรองรับปริมาณธุรกรรมระหว่างธนาคาร 2 เท่าเป็น 1,000 รายการต่อวินาที จากช่วงที่มีธุรกรรมสูงสุด 500 รายการต่อวินาที ซึ่งธนาคารต่าง ๆ ได้มีการเพิ่มปริมาณความจุรองรับปริมาณธุรกรรมเป็น 2 เท่าเช่นกัน มั่นใจว่าช่วงสิ้นปี 2562 ทุกธนาคารจะมีระบบที่สามารถรองรับการทำธุรกรรมของลูกค้าได้

Advertisement

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารได้มีการเตรียมความพร้อมขยายความจุรองรับปริมาณธุรกรรมไว้เรียบร้อยแล้ว โดยบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี จำกัด หรือ เคบีทีจี บรัทลุกของธนาคารเป็นผู้รับผิดชอบดุแลในส่วนนี้ พร้อมกันนี้ เคบีทีจี ยังมีทีมงานมอนิเตอร์ติดตามปริมาณธุรกรรมของลูกค้าอยู่ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันที

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท. และธนาคารพาณิชย์มีการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันระบบโมบายแบงกิ้งขัดข้องช่วงปลายปี 2562 เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งทุกธนาคารได้เฝ้าระวังและขยายเพดานความจุปริมาณธุรกรรม โดยหากมีปัญหาแต่ละธนาคารจะมีวิธีการจัดการของตนเอง และจะเป็นปัญหาเฉพาะธนาคารนั้น โดยจะไม่กระทบกับระบบธนาคารพาณิชย์ภาพรวม ส่วนช่วงปลายปี 2562 นี้ ระบบจะขัดข้องหรือไม่ต้องขึ้นกับปริมาณธุรกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ๆ

“ในช่วงสิ้นปี 2562 นี้ระบบไม่ล่มแน่หรือไม่ คงตอบไม่ได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ธุรกรรม เพราะว่าปริมาณการใช้สูงขึ้นทุกวัน ตอนนี้เฉลี่ย 8 ล้านรายการต่อวัน และที่ปริมาณธุรกรรมสูงสุดคือ 12 ล้านรายการต่อวัน ซึ่งเพดานสามารถรับได้ 2 เท่าของช่วงที่สูงสุด ทำให้แต่ละธนาคารต้องไปดูว่าเพดานความจุของตนเองมีเท่าไร ถ้าหากไม่ได้ 2 เท่าก็ต้องไปเพิ่มเป็น 2 เท่า ซึ่งทุกธนาคารจะต้องดำเนินการ” นางสาวสิริธิดา กล่าว

Advertisement

นางสาวสิริธิดา กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท. ได้มีการรายงานสถิติระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขัดข้องที่กระทบต่อการให้บริการผ่านช่องทางสำคัญ โดยปัจจุบันช่องทางโมบายแบงกิ้งถือว่าเป็นช่องทางหลักที่ประชาชนใช้บริการ โดยสถิติโมบายแบงก์กิ้งขัดข้องในไตรมาส 3 เริ่มมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ถือเป็นทิศทางที่ดีและเป็นสิ่งธปท.ต้องการเห็น ในไตรมาส 4 ปกติจะเป็นช่วงเวลาที่จะมีปริมาณธุรกรรมมากที่สุดของปี เชื่อว่าทุกธนาคารมีการยกระดับระบบ เฝ้าระวัง และติดตาม ซึ่งธปท.หวังว่าในไตรมาส 4 จะเห็นยอดระบบขัดข้องลดลง และในไตรมาส 4 จะเปิดเผยข้อมูลสถิติระยะเวลาในการขัดข้องด้วย ทำให้ทุกธนาคารต้องทำแผนทำระบบระยะยาว เพื่อป้องกันไม่ให้ขัดข้องกระทบการใช้บริการของประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image