เปิดมุมมอง ‘พรเพชร วิชิตชลชัย’ รีโนเวท ส.ว.รับการเมือง ปี63

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา

เปิดมุมมอง ‘พรเพชร วิชิตชลชัย’ รีโนเวท ส.ว.รับการเมือง ปี63

หมายเหตุ – นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา (ส.ว.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ มติชนŽ ถึงบทบาทการทำหน้าที่ ส.ว.ในรอบปี 2562 ต่อเนื่องถึงปี 2563 รวมทั้งวิเคราะห์ถึงทิศทางการเมืองในปี 2563

 

บทบาทและภารกิจของ ส.ว.ในปี 2562

วุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ 2560 มีลักษณะหน้าที่และอำนาจแตกต่างจากวุฒิสภาที่เราเคยมีประวัติศาสตร์พอสมควร จะเห็นได้ว่า ตลอดเวลาตั้งแต่ปี 2475 จะมีระบบ 2 สภาเป็นส่วนใหญ่ จะมีสภาเดียวก็ตอนที่รัฐประหาร โดยเริ่ม 2 สภาในสมัยคณะราษฎร ที่มองว่าการออกกฎหมายตามนิติบัญญัติเป็นเรื่องสำคัญ อาจจะต้องมีการทบทวนพิจารณา เพราะบางเรื่องอาจจะผ่านไปด้วยกระแสหรือแรงกดดันจากผู้แทนของประชาชน จึงต้องให้มี 2 สภา ในหลายประเทศก็มีแนวคิดเช่นนี้คือ Second Thought หรือความคิดที่สอง นี่คือหน้าที่หลักของวุฒิสภา

ส่วนองค์ประกอบในระยะแรกเป็นเรื่องการแต่งตั้งวุฒิสภา ที่เพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงในปี 2540 ที่วุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง พอถึงปี 2550 วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งผสมการสรรหา ที่ปูพื้นฐานแบบนี้ก็เพื่อให้มองเห็นว่า วุฒิสภาถูกมองว่าเป็นสภาที่สอง หรือเป็นสภาพี่เลี้ยง ก็เป็นการใช้คำพูดที่ไม่ดี เพราะการสร้างระบบสองสภา คือการให้คนมาดูอีกครั้งหนึ่ง

Advertisement

ดังนั้นวุฒิสภาจึงมีหน้าที่พิจารณากฎหมายที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร เป็นหลักที่ใช้มานาน หน้าที่ประการที่สองคือ การตรวจดูการทำงานของรัฐบาลเพื่อดูว่ารัฐบาลได้ทำไปตามนโยบาย ทำไปในสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ วุฒิสภาปี 2560 มีการเพิ่มขึ้นมาในความสัมพันธ์ใน 2 มิติ คือ เรื่องการมีบทบัญญัติการปฏิรูปประเทศตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี ที่เป็นหลักที่ก่อกำเนิด คสช.ขึ้นมา หากเราย้อนกลับไปเมื่อปี 2557 ที่เขาบอกว่าเป็นการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงออกตามพัฒนาการของ คสช.พอ คสช.ได้เข้ามามีอำนาจ ก็เข้ามาตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ก็เลยยังไม่ยุติตามนั้น เมื่อมีรัฐธรรมนูญ 2560 จึงมีเรื่องการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ อันนี้คือหลักที่หนึ่ง ซึ่งวุฒิสภาต้องมีหน้าที่มาดูแลร่วมกับรัฐบาล และฝ่ายอื่นๆ เพื่อให้ความมั่นใจว่าจะมีการปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่แตกต่างคือ วุฒิสถาต้องเข้ามามีบทบาทให้เกิดเป็นรูปปฏิธรรม ไม่ใช่พูดเฉยๆ

กฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ เช่น การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกันการปฏิรูปประเทศ จะต้องทำโดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศต้องเสนอเข้าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา นี่คือสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมพร้อมของวุฒิสภา นอกเหนือจากหน้าที่พื้นฐานที่เคยทำกันมา

ตอนที่ผมมาทำหน้าที่จึงเห็นว่า จะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการที่จะทำกฎหมายปฏิรูป หรือการปฏิรูปประเทศให้ประชาชนเข้าใจ ดังนั้นโครงการวุฒิสภาพบประชาชนจึงเกิดขึ้น ก่อนที่จะมีข้อบังคับที่เป็นเรื่องสำคัญ การพบประชาชนไม่ใช่หน้าที่ของ ส.ส.เท่านั้น ส.ว.ก็ต้องพบประชาชน เพื่อเราจะได้รู้ถึงปัญหาของประชาชนในเรื่องที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ นำความเห็นของเขาไปใช้ใน 2 ด้าน คือ

1.นำไปให้รัฐบาลรับทราบ ประชาชนเดือดร้อนเรื่องอะไร ต้องการน้ำ ทางเกษตรต้องการอะไร เพราะวุฒิสภาไม่สามารถจะไปสั่งหน่วยงานของรัฐได้ รัฐบาลก็อาจจะส่งให้ทำแผนปฏิรูปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ตามระบบการบริหารราชการปกติ หาก ส.ว.ไม่รู้เรื่องไปพร้อมกับ ส.ส.ก็คงไปช่วยเขาทำงานไม่ได้

และ 2.การทำงานในระบบกรรมาธิการ ในวุฒิสภามีจำนวน 26 คณะ กรรมาธิการเหล่านี้ต้องศึกษาเรื่องในหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเองเพื่อนำไปสู่แผนการปฏิรูปประเทศ ในขณะเดียวกันเพื่อความมั่นใจ เราจึงตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาอีก 1 คณะ เพื่อติดตามแผนปฏิรูปประเทศ ที่เรียกว่า คณะกรรมการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่ประกอบด้วยกรรมาธิการจากคณะต่างๆ

นี่คือโครงสร้างใหม่ที่แตกต่างจากวุฒิสภา เราหวังว่าจะประสบความสำเร็จในการทำงาน นอกจากนี้ ยังต้องจัดงานสัมมนาต่อเนื่อง ซึ่งจะฟังจากนักวิชาการ ด้วยเหตุนี้กรรมาธิการ 26 คณะ ในแต่ละจะสามารถตั้งอนุกรรมาธิการได้ 4 คณะ ที่จะประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกร่วมด้วย องค์ประกอบต่างๆ จะมากขึ้นกว่าวุฒิสภาในสมัยก่อน

 

แผนงานของส.ว.ที่จะขับเคลื่อนในปี 2563

เรื่องการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ส่วนนี้ก็เป็นการทำงานปกติ ส.ว.จะต้องร่วมให้ความเห็นชอบกฎหมายทุกอย่างที่เข้ามา กฎหมายงบประมาณดูแล้วก็เป็นการยากที่ ส.ว.จะไปแก้ไข เพราะมีเวลาจำกัด เพราะหากไปแก้ไขจะทำให้งบประมาณไม่ออก

แต่ในขณะเดียวกันเราจะมีกรรมาธิการดูแลควบคู่กันไป ซึ่งอำนาจนั้นยังเป็นของ ส.ส.อยู่ แต่ในกฎหมายปกติ ส.ว.สามารถที่จะแก้ไข และส่งกลับไปให้ ส.ส. ซึ่งกฎหมายที่ผ่านเข้ามาในช่วงการทำงานมีเข้ามาที่ ส.ว.ประมาณ 4-5 ฉบับ เป็นกฎหมายสั้นๆ ที่อยู่ในรูปพระราชกำหนด ซึ่ง ส.ว.ก็ได้ให้ความเห็นชอบไป

แผนงานในปี 2563 มีไฮไลต์ที่ตั้งไว้คือ เราหวังว่าจะมีการทำงานกับ ส.ส.มากขึ้น ในด้านนิติบัญญัตติก็ต้องพร้อม เมื่อเราลงสนามแข่งแล้วเราก็ต้องทำให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น และก็คงต้องมีการประเมินผล

 

ความพร้อมของส.ว.ต่อการศึกษาและแก้ไขรัฐธรรมนูญ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตอนนี้สภาเสนอญัตติตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่มีหน้าที่ศึกษาและเสนอว่าจะแก้ไขอย่างไร ทาง ส.ว.ก็ยังไม่ได้ไปร่วมด้วย เพราะยังเป็นชั้นศึกษา หน้าที่ของเราคือการติดตามดูว่า เขามีประเด็นใดที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข ส.ว.จะต้องส่งให้ กรรมาธิการที่เกี่ยวข้องศึกษา

ซึ่งในขั้นตอนการศึกษายังไม่มีผลอย่างเป็นทางการ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องเสนอเข้าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ไม่ใช่ผ่าน ส.ส.และมา ส.ว.นี่เป็นหลักการประการแรกซึ่งยังเขียนเงื่อนไขไว้อีกหลายอย่าง เช่น ส.ว.ต้องเห็นชอบด้วยอย่างน้อย 1 ใน 3

ผมอยากเรียนอย่างตรงไปตรงมาว่า ถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแก้ไขในประเด็นที่ควรแก้ไข และเราก็เห็นด้วย หรือถึงแม้เราไม่เห็นด้วย เราก็มาหารือกันได้ มันก็ผ่านได้ เราไม่ได้ปิดประตูตายที่จะไม่แก้รัฐธรรมนูญ แต่ที่สำคัญ ที่มีการบอกกัน ที่มีการกลัวกัน ก็คือ ยกเลิก เปลี่ยนแปลงมาตรา 256 ที่ว่าด้วยวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเงื่อนไขทั้งหมดเลย

และมีการเสนอว่า ถ้าแก้มาตรา 256 อันเดียวก็ยกเลิกไปเลย แล้วให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ไปเขียนใหม่ ผมว่าโดยทางกฎหมายก็ทำไม่ได้แล้ว หากเสนอเข้ามาก็คงไม่ได้ ไม่ผ่าน ผมพูดได้เลย อย่าไปคิดเลย ถ้า ส.ส.จะมาคุยก็คุยกันยาก เพราะมาตรานี้คือกุญแจสำคัญ นี่คือความเห็นส่วนตัวของผม คิดว่าหลายคนก็มีความคิดเหมือนผม

เพราะการแก้มาตรา 256 จะกระทบกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญทั้งหมด ดังนั้น ส.ว.จะไม่ได้เข้าไปมีส่วนในการแก้พิจารณารัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ส่วนที่ผมเห็นด้วยที่ต้องแก้ไขคือ เรื่องระบบคำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่มีปัญหา หรือเรื่องคุณสมบัติต่างๆ เอาออกกันง่ายดายเหลือเกิน ส.ว.ก็ยินดีแก้ไข พูดกันได้ทุกเรื่องทุกอย่าง แต่ทั้งนี้ก็ต้องแก้ไขไปตามกระบวนการที่ระบุในมาตรา 256 อยากให้เข้าใจว่า ส.ว.ไม่ได้มีเสียงเป็นใหญ่ และ ส.ว.ไม่ได้หวงแหนอะไร

ใครจะไม่อยากให้บ้านเมืองดี ดังนั้นรัฐธรรมนูญที่ควรแก้ไข ควรจะเข้าใจด้วยกันทั้งสองสภา ไม่ใช่ไปตั้งคนนั้นคนนี้มา ส่วนที่ ส.ว.มีส่วนสำคัญในการเลือกนายกรัฐมนตรี เรื่องนี้ก็ว่ากันไป เพราะเป็นในส่วนนี้เป็นแค่บทเฉพาะกาลเท่านั้น ก็ยังพอคุยกันได้ แต่ถ้าบอกว่าล้มรัฐธรรมนูญนี้แล้วเขียนขึ้นใหม่โดยใครก็ไม่รู้ผมว่าเป็นไปไม่ได้ ส่วนนี้ผมพูดเองนะ หากต้องการ ส.ส.ร. ที่ผ่านการเลือกตั้ง ก็ต้องหาวิธีการที่พอฟังได้ วิธีการที่เสนอมาง่ายๆ แบบนี้ยังถือว่าฟังไม่ได้

 

มองการเมืองในปี 2563 มีทิศทางอย่างไร

ในปี 2563 จะมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจนิดหน่อย เพราะเป็นผลกระทบต่อจากปี 2562 ที่ได้รับผลกระทบกันทั่วโลก ก็หวังว่าปี 2563 จะเป็นช่วยที่ผ่านการลงเหวมาหมดแล้ว แต่เราต้องมองด้วยความเป็นธรรม เพราะเศรษฐกิจเวลามันไปมันไปทั่วโลก

แต่ใครเป็นต้นเหตุของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ตอนนี้ไม่น่าจะใช่ประเทศไทย ประเทศไทยมีครั้งเดียว ในวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งตอนนั้นเงินสำรองระหว่างประเทศไม่มีเหลือเลย ไอเอ็มเอฟต้องเข้ามา นอกนั้นก็เป็นวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรา

แต่ไม่ว่าวิกฤตของใครก็จะกระทบเศรษฐกิจของไทยด้วย รัฐบาลก็โดนโจมตีเยอะ ถึงแม้รัฐบาลจะเก่งแค่ไหน ก็พูดแก้ตัวยาก ประเด็นเศรษฐกิจก็แล้วแต่โชคดีโชคร้ายของรัฐบาลด้วย ว่าอยู่ในช่วงไหน แต่ว่าขาลงแล้วก็ต้องมีขาขึ้น

ส่วนความขัดแย้งในทางการเมืองมีมากน้อยเพียงใด อันนี้ก็จะเห็นว่าความขัดแย้งทางการเมืองมันเป็นธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตย ถ้าการแก้ไขเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยก็คงไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าวิกฤตกลายเป็นความรุนแรง ซึ่งเราก็มีประสบการณ์มาแล้ว แต่ผมคิดว่าในยุคของโซเชียลมีเดียคนก็ย่อมรู้ว่าอะไรเป็นอะไร เช่น เรื่องข่าวที่รัฐบาลจะเก็บภาษีผ้าอนามัย ไม่นานคนก็รู้แล้วว่าไม่ใช่ความจริง ก็สามารถที่จะขจัดปัญหาได้

ก็หวังว่าความขัดแย้งทางการเมืองก็จะมีการเข้าใจกันได้โดยง่าย โดยไม่เอาโซเชียลมีเดียปลอมมาใช้ บ้านเมืองก็จะเดินหน้าต่อไปได้ เราต้องใช้วิธีการตามระบอบประชาธิปไตย ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ หรือเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ รวมตัวกันใหม่ ประเทศไทยเพิ่งมีระยะ 10 กว่าปีที่มีความขัดแย้งของพรรคการเมือง ที่ไม่อาจรวมกันได้ เหมือนเป็นคนละเผ่าพันธุ์ ในสมัยก่อนผมเห็นคนที่โกรธกัน ด่ากันสุดท้ายก็มารวมกันได้

แต่ผมเชื่อว่าวันหนึ่งจะสามารถมารวมกันได้ ผมเฝ้าดูการเมืองตั้งแต่เด็ก ก็เห็นว่าฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล เดี๋ยวก็มารวมกัน จะเห็นว่า พรรคนั้นเคยอยู่ฝั่งนี้ คนโกรธกันก็มารวมกันได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นได้ ประชาธิปไตยจะพัฒนาไปเรื่อยๆ เพราะอยู่ในระบบการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ในวันนี้เราก็จะเห็นเหมือนกันที่มีหลายพรรคที่เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติ ยอมที่จะมารวมตัวกันเป็นรัฐบาล ถ้าเราสังเกตเมื่อก่อนการรวมเป็นรัฐบาลของพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ได้รุนแรงจนรวมกันไม่ได้ ซึ่งหวังว่า อีกไม่นานคงรวมกันได้

การที่ฝ่ายค้านบอกว่า ถ้าไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 จะนำพามาสู่ความขัดแย้ง ผมคิดว่า อยากแก้ก็แก้สิ แก้ไปตามวิธีการที่ผมว่า อาจจะเป็นการสมานฉันท์ด้วยซ้ำ ไม่มีใครอยากขัด หรือไม่ทำสิ่งที่ดีในทางการเมือง แล้วที่บอกว่าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) บอกว่าไม่พื้นที่ในสภา จึงต้องออกไปขับเคลื่อนการเมืองนอกสภานั้น ผมเห็นว่า พรรค อนค. เขาก็หมดไปแต่ชื่อ แต่ตัวบุคคลยังอยู่ และตัวบุคคลที่สามารถเข้ากับพรรค หรือไปอยู่กับพรรคที่ปฏิบัติตามอุดมการณ์ทางการเมือง ก็สามารถทำได้ ส่วนพวกที่ถูกตัดสิทธิก็สามารถทำงานเบื้องหลังได้อยู่

ดังนั้นระบบรัฐสภาก็ยังอยู่ในวิสัยที่ทำได้ แต่ถ้าไปสู้ด้วยวิธีการอื่น ผมก็ไม่เห็นด้วย เพราะไม่อยากให้เกิดวิกฤตขึ้นมาที่จะต้องกลับมาตั้งต้นใหม่ พรรค อนค.มีปัญหาเพราะอะไร ถ้าปัญหาเกิดเพราะรัฐธรรมนูญก็แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ผมมองว่ายังมีช่องทางที่จะรักษาอุดมการณ์ของพรรค อนค.ไว้ได้

 

สุนันทา บวบมี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image