ธ.ก.ส.ยกเครื่องแบงก์ลุยงานแก้จนตามนโยบายรัฐ-อุ้มลูกค้าพักชำระหนี้ป้องกันไม่ให้เป็นเอ็นพีแอล

 

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส. ) เปิดเผยว่า  ขณะนี้ ธ.ก.ส.อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างองค์กรให้เข้าไปสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความยากจนตามแนวทางของรัฐบาล โดยจะปรับบทบาทพนักงานธ.ก.ส.กว่า  20,000 ราย ให้ทำหน้าที่เข้าไปช่วยดูแลคนจนมากขึ้นจากเดิมพนักงานจะดูแลในเรื่องการปล่อยสินเชื่อ และธุรกรรมต่างๆ ของธนาคาร ทั้งนี้จะเริ่มปรับโครงสร้างการทำงานในสาขาด้วยการแบ่งพนักงานทำหน้าที่ดูแล 3  กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1.กลุ่มดูแลลูกค้ารายย่อย เช่น เกษตรกร เป็นต้น  2.กลุ่มพัฒนาลูกค้าเพื่อสร้างอาชีพให้คนในชุมชน 3.กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสหกรณ์การเกษตร

นายอภิรมย์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในการดูแลกลุ่มลูกค้ารายย่อย ธ.ก.ส. หารือกับธนาคารแห่งประเทศ(ธปท.) ในปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน ( Preventive Debt Restructuring)วงเงิน  90,000 ล้านบาท สำหรับลูกค้ารายย่อยที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ 3 ปี ซึ่งมียอดสินเชื่อรวม 770,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส.จะใช้วงเงิน 90,000 ล้านบาทช่วยในการป้องกันลูกหนี้ที่พักชำระหนี้กลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในอนาคต อาทิ ลูกค้ารายใดมีปัญหาการผ่อนชำระ สามารถเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ ด้วยการชำระแค่เฉพาะดอกเบี้ย แต่ให้ค้างเงินต้นไว้ และสามารถผ่อนชำระสูงสุดได้นาน 20 ปี รวมถึงระหว่างการพักชำระหนี้สามารถขอสินเชื่อเพื่อปรับปรุงการผลิตได้ด้วย โดยในอนาคตธปท.อยากจะเห็นธนาคารพาณิชย์ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้เกษตรรายย่อย และเอสเอ็มอีด้วยในลักษณะดังกล่าวด้วย

นายอภิรมย์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ธ.ก.ส.ยังมีแผนปรับโครงสร้างทุนของธนาคาร มีแผนจะออกพันธบัตรออมทรัพย์(บอนด์) ระยะยาว 5 -7 ปี จำนวน 50,000  ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับโครงการพักชำระหนี้ เนื่องจากการพักชำระหนี้ทำให้ธ.ก.ส.จะสูญเสียรายได้บางส่วนไป เพราะลูกค้าที่เคยกู้เงินระยะสั้นกลายเป็นลูกค้าระยะยาว ซึ่งก่อนหน้านี้คณะกรรมการ ธ.ก.ส.ที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน อนุมัติให้ธนาคารออกพันธบัตรระดมทุนระยะยาวแล้ว 10,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในปีบัญชีนี้ ซึ่งสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2563 แต่ในภายหลังฝ่ายปฏิบัติการขออนุมัติคณะกรรมการเพิ่มเติมอีก 40,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในปีบัญชีหน้า หรือปี 2563 (เดือนเมษายน 2563- มีนาคม 2564) ดังนั้นทำพันธบัตรรวม 50,000 ล้านบาท

Advertisement

นายอภิรมย์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้การทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนนั้น ธ.ก.ส.จะทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรณีรัฐบาลให้เงินแก่กองทุนหมู่บ้านแห่งละ 200,000 บาท เพื่อลงทุนพัฒนาหมู่บ้าน เช่น การสร้างลานตากผลผลิตการเกษตร  หากงบประมาณลงทุนไม่เพียงพอ  ธ.ก.ส.ก็จะนำเงินไปให้กองทุนหมู่บ้านกู้เพิ่มเติม ในอัตราดอกเบี้ย 0.01%  นอกจากนี้ธ.ก.ส.ยังให้การสนับสนุนในเรื่องพลังงานทดแทนเกี่ยวกับภาคเกษตร เช่น กรณีกระทรวงพลังงาน มีนโยบายสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล(Bio mass) จากการหมักหญ้าเนเปีย ซึ่งจะต้องมีการลงทุนในระบบน้ำ ระบบการเก็บเกี่ยว และรถขนส่ง ธ.ก.ส.ก็สามารถเข้าไปสนับสนุนด้านการปล่อยสินเชื่อได้  โดยจะให้สาขาของธนาคารเลือกโครงการนำร่องในลักษณะดังกล่าว สาขาละ 1 แห่งรวม 928 หมู่บ้าน เพื่อทำเป็นโครงการนำร่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image