เปิดใจ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ “เรื่องทำชาติเสียหาย ผมไม่ทำ”

เปิดใจ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ “เรื่องทำชาติเสียหาย ผมไม่ทำ”

หมายเหตุ – นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดใจให้สัมภาษณ์พิเศษเกี่ยวกับการทำงานตลอดปี 2562 ที่ผ่านมา รวมถึงการเดินหน้าโครงการต่างๆ ในปี 2563

 

การทำงานตลอดปี 2562 ที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง

ผมเข้ามาทำงานเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม สิ้นเดือนธันวาคม 2562 ก็ครบ 5 เดือนพอดี เข้ามาครั้งแรกมีหลายคนตั้งคำถามว่าเข้ามาจะทำงานร่วมกับผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมได้หรือ เพราะไม่มีความรู้ความเข้าใจงานคมนาคมของประเทศ ดังนั้น ช่วงแรกจึงทำความเข้าใจ มีการปรับบุคลากร ใช้เวลาประมาณเดือนกว่าๆ กว่าจะเข้าที่เข้าทาง ก็เริ่มทำงานเลย เรื่องแรกรับฟังปัญหาที่สะท้อนเข้ามา ผมเป็นผู้แทนต่างจังหวัด เห็นปัญหาในมิติของภูมิภาคว่ามีโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง การคมนาคมในหมู่บ้าน ระหว่างอำเภอ จังหวัด เป็นอย่างไร

Advertisement

เริ่มแรกเลยก็มีคนมาบอกว่าโครงการถนนพระราม 2 เป็นปัญหามาก ผมลงไปดูเห็นลักษณะการก่อสร้างแล้ว ถ้าเป็นหน้าบ้านผมก็รับไม่ไหว เหมือนทิ้งโครงการ เครื่องจักรไม่มี ถามอธิบดีในตอนนั้นก็บอกว่าพยายามแก้ไขอยู่แต่ก็ยังช้า จึงมีการปรับรูปแบบก่อสร้าง ตัวนายช่างที่คุมงานก็ปรับไปทำที่อื่น เพราะให้เวลามากพอสมควรแต่ไม่สามารถเร่งรัดโครงการตามแผนได้

จนปัจจุบันแก้ไขในสิ่งที่ควรจะเป็นได้ จะเสร็จตามสัญญา ต่อไปก็จะเป็นการทำทางยกระดับสะพานพระราม 2 ทุกหน่วยงานก็คุยกันมากขึ้น จะไม่มีปัญหาเหมือนการก่อสร้างถนน เพราะมีการประสานแผนงานกัน มีการบริหารการจราจร มีกล้องซีซีทีวี มีห้องควบคุม สามารถบอกประชาชนได้

 

Advertisement

มีการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการดำเนินโครงการอย่างไร

ที่ผ่านมาให้ทุกหน่วยงานไปดูโปรเจ็กต์ของตัวเองว่าตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน มีปัญหาอุปสรรคติดขัดอะไรจะได้ช่วยกันแก้ไข ยกตัวอย่าง มอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่เป็นมหากาพย์ ตอนแรกที่เข้ามาไม่เข้าใจว่าทำไมสร้างต่อไม่ได้ ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานในภาพรวมของกระทรวง การเบิกจ่ายมีปัญหาไปด้วย
เรื่องเกิดจากการเวนคืนพื้นที่ไม่ได้จึงกลายเป็นปัญหา ผู้รับจ้าง 25 สัญญาน็อกไปหมดเลย ประชาชนก็น็อกไปด้วย คือ

สิ่งที่เกิดขึ้นพอไปดูเรื่องระเบียบกฎหมายก็พบว่ามีทางออก วันแรกที่ผมเข้ากระทรวงคมนาคม พี่น้องประชาชนมาฟ้องเลยต้องได้รับค่าชดเชยเวนคืนมากกว่าที่หน่วยงานรัฐจ่าย พอเห็นแบบนี้ผมถามกรมทางหลวงว่ามีปัญหาอะไร ก็บอกว่าทำตามคู่มือ แต่สำนักงบประมาณบอกว่าคู่มือไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการเวนคืน จึงทำเรื่องหารือกฤษฎีกา มี ส.ส.ท่านหนึ่งอยู่ในพรรคภูมิใจไทย เป็น ส.ส.กาญจนบุรี เล่าให้ฟัง ก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่เราไม่นำวิธีปฏิบัติที่เคยปฏิบัติมาในอดีตมาใช้ คือมัวแต่อยากได้สิ่งที่ตัวเองอยากได้

สมมุติประชาชนบอกว่าพื้นที่เขาราคาไร่ละ 1 ล้านบาท เขาก็อยากได้ 1 ล้านบาท แต่ตามระเบียบการประเมินที่ดินได้ไม่ถึง 1 ล้านบาท เถียงกันไม่จบ ผมไปหารือผู้อำนวยการสำนักงบประมาณบอกมาว่า เราไม่ต้องไปตีความคู่มือการเวนคืนของกรมทางหลวงมีปัญหาหรือไม่ เอาเป็นว่าบอกมาเลยว่าราคาที่สำนักงบประมาณคิดว่าถูกต้องตามกฎหมายเท่าไหร่ แล้วผมจะบอกประชาชนว่าราคาเท่าไหร่ หากคิดว่าไม่ถูกต้องก็อุทธรณ์หรือฟ้องศาลเลย

ปรากฏว่าพี่น้องประชาชนยอม พอใจ สำนักงบประมาณก็ตกลง ผมชี้แจงนายกฯที่ ครม.สัญจรกาญจนบุรี ท่านก็ฟัง ท่านก็บอกว่าเส้นผมบังภูเขานะ ทำไมไม่ทำกัน ผมก็บอกว่าผมเพิ่งมา 3 เดือน ตอนนี้ก็เร่งรัดการเบิกจ่าย เมื่อก่อนการจ่ายเวนคืนจะค่อยๆ จ่าย เลยบอกอธิบดีกรมทางหลวงว่าไม่ได้ ประชาชนรอมา 2-3 ปี ก็เห็นใจ เราตั้งคณะทำงานหลายชุดแล้วเบิกจ่ายเลย เดิมกำหนดครบหมดในเดือนมีนาคม 2563 แต่ตอนนี้ครบหมดแล้ว สิ่งที่เห็นคือเห็นประชาชนได้รับสิ่งที่ควรได้รับ เขาร้องไห้เพราะคิดว่าจะไม่ได้ แต่ที่เห็นมากกว่านั้นคือเรารีสตาร์ตผู้รับจ้างได้ทันที ผู้รับจ้างมีความพร้อมมากๆ ที่อยากจะทำต่อ

 

นายกฯได้สั่งอะไรเป็นพิเศษเกี่ยวกับการทำงานหรือไม่

นายกฯให้แนวทางมา เวลาทำโครงการใหญ่อย่าทำสัญญาใหญ่สัญญาเดียว มีผู้รับเหมาคนเดียว เวลาสะดุดจะสะดุดหมด อย่างมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา แบ่งเป็น 40 ตอน 40 สัญญา การก่อสร้างเสร็จเร็วกว่ากำหนด และเส้นบางใหญ่เชื่อว่าจะเสร็จเร็ว ผู้รับจ้างก็อยากจะเร่งเหมือนกัน ประชาชนก็รอใช้ ดังนั้นกรมทางหลวงจะคิดว่าเอาเวลา 2 ปีที่ช้ามาบวกเพิ่มไม่ได้ ถ้าเร็วได้ก็ต้องเร็ว

ผมบอกนายกฯว่าถ้าเราสามารถปรับแผนได้ สร้างเสร็จเร็วกว่าแผน ทางงบประมาณสามารถเบิกจ่ายได้หรือไม่ นายกฯบอกไม่มีปัญหา คุณเร่งแล้วกัน ผมจึงบอกทางกรมทางหลวงว่าให้ผู้รับเหมาช่วยทำทั้งกลางวันและกลางคืนได้ไหม เพราะโครงการไม่ได้ก่อสร้างในเมือง อยู่กลางทุ่งนา สามารถทำได้ และคนที่เป็นบริษัทก่อสร้างเขาอยากทำอยู่แล้ว เสร็จเร็ว เบิกเงินได้เร็ว ไปทำที่อื่นต่อ เขาอยากทำอยู่แล้ว

ส่วนเรื่องที่เป็นปัญหาที่ทำต่อเนื่องจากรัฐบาลที่แล้ว เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินก็สามารถลงนามในสัญญาได้ทันก่อนที่จะหมดเวลายื่นราคา เป็นเรื่องที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง เพราะเวลาเราทำโครงการแบบนี้มีการศึกษาระเบียบกฎหมาย หรือเอกสารเชิญชวน คนที่จะมาหรือพี่น้องประชาชนต้องได้รับทราบข้อมูลด้วยหรือไม่ ก็บอกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้วว่า เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เอกสารลับ ต้องใช้หลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ให้พี่น้องประชาชนรับทราบด้วย และถ้าให้เกิดคำถามตลอดเวลาก็ไปต่อไม่ได้ พอจะทำก็มีเรื่องอีกแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็ต้องนำมาปรับใช้

สำหรับงบประมาณปี 2563 ที่จะออกมา ให้ทุกหน่วยในสังกัดเตรียมความพร้อมในการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว ถ้า พ.ร.บ.ได้รับการโปรดเกล้าฯลงมาเมื่อไหร่ก็ทำได้ทันที ไม่ต้องมานับหนึ่ง เพราะจริงๆ ปฏิทินปี 2563 ของประเทศเรามันเคลื่อนมา 4 เดือน สาเหตุของการเคลื่อนก็คือการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล เป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจ ขณะเดียวกันเรื่อง 4 เดือนก็อย่าไปอะไร อย่าไปคิดว่าเหลือ 8 เดือนแล้วจะทำไม่ทัน ผมบอกว่าเหลือ 8 เดือน ท่านวางแผนให้ดีก็จะทำทัน แล้วปีนี้ก็เชื่อว่าประสิทธิภาพการทำงานของกระทรวงคมนาคมจะดีขึ้นและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย

ปีที่แล้วเราตกเป้า เพราะว่าไปคาเรื่องมอเตอร์เวย์บางใหญ่ไม่สามารถเวนคืนที่ได้ พอปลดล็อกได้ก็ไปได้ ส่วนที่เหลือก็ต้องดู อย่างบางใหญ่ เป็นกรณีศึกษา อะไรที่ไม่พร้อมอย่าสตาร์ต เพราะสตาร์ตไปก็ไปค้างท่ออยู่แบบนี้ นายกฯก็มักตั้งคำถามว่าพวกคุณทำงานยังไง พวกคุณดูดีหรือเปล่า ส่วนเรื่องโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ก็มีแผนหมดแล้ว จริงๆ กระทรวงคมนาคมทำแผนถึงปี 2578 แล้วตามยุทธศาสตร์ 20 ปีของท่านนายกฯ

 

มีคนบอกว่าขัดแย้งกับเรื่องนโยบายกับนายกฯจริงหรือไม่

ผมพูดในหลายเวที พูดขำๆ ในตอนเลือกตั้งไม่ค่อยชอบท่าน เพราะท่านชอบมาพูดว่าพรรคภูมิใจไทยชอบมีนโยบายที่ไม่ได้เรื่องเลย คือเรื่องกัญชาเสรี แต่วันนี้จูนเข้าหากันหมดแล้วนะครับ เรามีสเต็ปการทำงาน อย่างกัญชา ทางนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข ก็วางสเต็ปโดยใช้พี่น้อง อสม.มาเป็นผู้ที่จะนำความรู้เรื่องกัญชาไปถ่ายทอดให้ประชาชน กัญชาก็เหมือนทุกสิ่งในโลก คือมีด้านดีกับด้านไม่ดี กัญชามีด้านดีเยอะหากรู้จักใช้ ทางการแพทย์เป็นที่ยอมรับแล้ว

สิ่งที่นายอนุทินทำคือการปลดล็อกสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาของคนไทย คือแพทย์แผนไทย ยาในแพทย์แผนไทยที่มีตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีเป็นพันชนิด มีกัญชาอยู่ในนั้นด้วย ก็ปรากฏว่าท่านปลดล็อก จะเอาเรื่องนี้มากำหนดหลักสูตรในการให้ความรู้ อสม. ปีแรกมีเป้าหมาย 8 หมื่นคน ไปถ่ายทอดความรู้ในหมู่บ้านว่าจะปลูกอย่างไร สกัดอย่างไร แต่ตอนนี้ยังไม่ได้อนุญาตให้ปลูกนะ อสม.จะต้องทำงานร่วมกับโรงพยาบาล และรู้วิธีการสกัดและนำไปใช้ประโยชน์ และ อสม.ที่ได้รับความรู้ก็จะได้รับการยกระดับเป็นหมอประจำครอบครัว พร้อมเพิ่มค่าตอบแทนจาก 2,500 บาทให้ด้วย

ตอนนี้ท่านนายกฯและพรรคภูมิใจไทยจูนเข้าหากันแล้ว เข้าใจว่าเป็นประโยชน์ แต่เรื่องของเชิงพาณิชย์ก็ว่ากันไป ที่ผมไม่ชอบท่านก็เพราะเรื่องนี้ แต่วันนี้ชื่นชมท่านนะ เป็นเรื่องการทำงาน พอเข้ามาผมมาเห็นแผนที่วางไว้ 20 ปีก็ร้องโอ้โห เราตะลึงว่าทำขนาดนี้เลยเหรอ ที่เคยเห็นมาแผนขนาดใหญ่ก็อีสเทิร์นซีบอร์ดที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ทำไว้ 7-8 ปี ทำไว้ปี 2525 เสร็จปี 2533 หลังจากนั้น พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็เป็นเศรษฐกิจรุ่งเรือง แต่จริงๆ ต้องให้เครดิต พล.อ.เปรม เพราะเป็นคนทำ

อันนี้ก็เหมือนกัน นายกฯบอกให้ช่วยกันทำ ทำให้สำเร็จนะอีอีซี รวมถึงเส้นทางเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (อีส-เวสต์ คอร์ริดอร์) และอื่นๆ ที่กำหนดไว้ก็ต้องทำทั้งหมด แต่เราต้องเข้าใจสถานะประเทศด้วย เราไม่ได้ร่ำรวยถึงขนาดจะเนรมิตอะไรได้ทุกอย่าง ต้องไปที่อีอีซีก่อน มีข้อได้เปรียบของพื้นที่คือมีท่าเรือ มีโครงการ มีทางออกสู่ทะเล ก็เชื่อมรถไฟเข้าไป ทำสนามบิน

ถ้าทำเสร็จแบบนี้จริงประเทศเรากลับมาแน่นอน นักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ ต้องไปใช้พื้นที่ จริงๆ เรื่องอย่างนี้ผมเห็นด้วยตัวเอง คือนักลงทุนต่างประเทศมาที่กระทรวงคมนาคม เอกอัครราชทูตต่างๆ สมาคมต่างๆ ก็มา เขามาถามว่าเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ เราบอกว่าจริง เราเซ็นรถไฟอีอีซีได้ก็เห็นแล้วว่าเริ่มสตาร์ต และเราก็ช่วยกันทำภายใต้กฎหมายที่เราจะทำได้ในอีอีซี เชื่อว่าหากทำสำเร็จจะเป็นสิ่งที่ดี

ที่ผ่านมาเดินหน้าในเรื่องอะไรไปบ้าง

สิ่งที่จะเห็นเรื่องแรกเลย คือการทำแอพพลิเคชั่นใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่ มาบริหารจัดการรถสาธารณะ ได้รับฟังความคิดเห็นสาธารณะเสร็จแล้ว โดยกรมการขนส่งทางบก เรื่องนี้แก้แค่กฎกระทรวง มีกฎกระทรวงอยู่ 2 ฉบับ ปรับข้อความนิดหน่อยเพื่อให้คล่องตัว ประชาชนจะได้รับการดูแลให้มีระเบียบจริงๆ ในเรื่องนี้เป็นการสร้างระเบียบกฎกติกา มีคนบอกว่าทำแบบนี้จะไม่กระทบต่อแท็กซี่

และวินมอเตอร์ไซค์เหรอ บอกว่าในโลกนี้มีการทำแบบนี้จำนวนมากเขาอยู่ด้วยกันได้ เพราะมีกติกา แต่ถ้าเมื่อไหร่ไม่เขียนกติกา ปล่อยให้ต่างคนต่างกำหนดกติกาก็อย่างที่เห็น ไม่ยอมกันเพราะไม่มีกติกา ถ้าให้เวลาและสร้างความเข้าใจว่ามีประโยชน์อย่างไร เยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบจริง

เรื่องขยายเวลาหมดอายุรถแท็กซี่จาก 9 ปี เป็น 12 ปี ก็ต้องมาตรวจสภาพ ถ้ารถพังก็ต้องซ่อมนะ เขาก็ยอม ตอนนี้ระบบราชการอุ้ยอ้าย จริงๆ ถ้าเราเอาต์ซอร์สจะทำให้ประสิทธิภาพสูงขึ้น ส่วนหน่วยงานรัฐก็เปลี่ยนมาเป็นผู้กำกับดูแลอยู่ข้างบนได้ไหม เวลาตรวจเอาต์ซอร์สให้เอกชนมาช่วยเถอะ จริงๆ เขาก็ทำแต่ทำน้อย รถสาธารณะอย่างแท็กซี่มี 9 หมื่นคัน รถตู้ บรรทุกและอื่นๆ มีเป็นแสนคัน ตรวจไม่ทันหรอก

นอกจากนี้ ก็ได้ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ประกาศไปตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2562 ให้ประชาชนช่วยจัดระเบียบเรื่องการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับขนส่งและแบ่งสินบนนำจับไป อันนี้ผมว่าวิน-วิน จริงๆ เราก็ไม่อยากปรับ แต่กำลังบอกผู้ที่ใช้รถใช้ถนนว่ามีคนดูอยู่ข้างๆ นะ อย่าทำอะไรที่ไม่ถูกระเบียบไม่ถูกกฎหมาย แต่นี่เป็นเรื่องกฎหมายขนส่ง ส่วนเรื่องกฎหมายจราจรทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติดูอยู่ ก็พยายามประสานกันว่าให้ใช้วิธีเดียวกัน

เรื่องลดค่าใช้จ่ายประชาชน สิ่งแรกที่ทำจะสำเร็จแน่นอนคือปรับปรุงประสิทธิภาพองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เดิมรัฐบาลที่ผ่านมาอนุมัติแผนฟื้นฟูให้ซื้อรถ แต่ผมดูว่าถ้าซื้อรถก็จะกลับมาวงจรเดิม คือซื้อรถ 1 ปีก็เก่าและซ่อมบำรุง ก็จะเหมือนเดิม เขาก็ไปคิดตัวแบบมาว่าขอปรับว่าไม่ซื้อแล้วเช่าวิ่งตามระยะทางแทน ก็ถามว่าเป็นแบบไหนก็คือให้เอกชนมาประมูล แล้วมารับค่าเช่าวิ่งรถเป็นกิโลเมตร เห็นตัวเลขอยู่ประมาณ 20 กว่าบาท ถูกกว่า ขสมก.ทำเอาที่ กม.ละ 50 กว่าบาท ก็ตั้งคำถามว่าทำไมแพง

ก็ได้คำตอบว่า ขสมก.มีภาระสะสม ก็ต้องมาดู ถ้าทำแบบนี้หนี้เดิมที่มีอยู่จะทำอย่างไร ทราบว่าทำตามที่รัฐบาลเคยอนุมัติ คือตัดหนี้ออกไปให้แล้วเริ่มใหม่ วิธีนี้ประชาชนจะได้รับคือรถจะเป็นรถปรับอากาศ ทำตั๋ววันให้ คือขึ้นกี่สายกี่เที่ยวได้หมดวันละ 30 บาท มีตั๋วเดือนเฉลี่ย 25 บาท/วัน หากใช้ไม่ถึง เช่น ใช้ 15 บาท หรือ 20 บาท/วัน ก็จ่ายแค่นั้น ก็มีการทำแอพพลิเคชั่นขึ้นมาด้วย ตอนนี้กำลังให้ทำเพื่อตรวจสอบได้ว่าในรถว่างหรือไม่ มีที่นั่งหรือไม่

 

นโยบายเปิดถนน 4 เลน วิ่งได้ 120 กม./ชม.ถึงไหนแล้ว

ประชาชนตั้งคำถามมาเยอะ เมื่อไหร่จะได้วิ่ง ปัจจุบันไม่มีใครวิ่ง 90 กม.อยู่แล้ว หากถนนโล่งแต่ทำก็ต้องปลอดภัย เรื่องนี้มีสิ่งที่ต้องทำไปด้วย คือแบริเออร์ยางพาราเดิมจะช่วยชาวสวนยาง แต่ดูแล้วถ้าจะใช้ยางพาราทำทั้งแท่งไม่ไหวแพงมาก ราคา 4 หมื่นบาทต่อ 1 เมตร ก็มาศึกษาตกผลึกทำเป็นกันชนมาครอบแบริเออร์เดิมที่เป็นคอนกรีตแทน แบริเออร์รับแรงกระแทกได้เพียง 90 กม./ชม.

หากยางพาราที่ทำมาครอบหนา 2 นิ้ว มาสวมบนแบริเออร์จะทำให้ประสิทธิภาพแรงกระแทกได้เพิ่มขึ้นอีก 30% รองรับความเร็วหลัก 100 กว่า กม./ชม. เหมือนทำมอเตอร์เวย์เลย แต่คงไม่สามารถทำพร้อมกันได้หมด เป้าหมายเบื้องต้นดูทางสายหลักก่อน เช่น ถนนมิตรภาพ เพชรเกษม พหลโยธิน และสุขุมวิท

ตอนนี้ขับเร็วถูกจับ ต่อไปหากขับช้าในเลนที่กำหนดให้ขับเร็วก็ต้องถูกจับด้วย ไม่ต้องห่วงว่าตำรวจจับไม่ไหว เพราะประชาชนสามารถแจ้งจับกันเองได้เลย มีโทรศัพท์มือถือก็ถ่ายไว้ได้เลย คิดว่าต้นปีหน้าจะเริ่มเห็น

ส่วนเรื่องติดจีพีเอสในรถยนต์นั้นในต่างประเทศเริ่มติดหมดแล้ว ในรถมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ก็ติดแล้ว หลายคนบอกจะมันหน่วง ไม่บอกเวลาจริง ก็เป็นเรื่องต้องทำความเข้าใจ จริงๆ ตอนนี้เราติดกับรถบรรทุกขนาดใหญ่ มีศูนย์ที่กรมการขนส่งทางบกดูแลแต่อาจจะไม่ไหว ก็ต้องให้เอาต์ซอร์สมาดูด้วย หากทำได้การขนส่งทางถนนจะดีขึ้น

เรื่องการจำกัดเวลารถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯ ตอนแรกจะเอาถนนวงแหวนรอบนอก สาย 9 เป็นแนววางไว้ระหว่างเที่ยงคืน-ตี 4 ครึ่งให้เข้า หลังจากนั้นไม่ให้เข้า ดูข้อมูลก็มีหลายที่ต้องพิจารณา ผู้ประกอบการบอกว่าแล้วจะไปจอดที่ไหน ก็ต้องไปเช่าที่จอดให้เขา ก็ให้ทางหลวงไปดู แต่ไม่ใกล้ถนนมากให้ออกไปประมาณ 1-2 กม.

ที่ผ่านมาก็ไล่ดูโครงการต่างๆ หลายโครงการทั้งหมด จึงมาถึงฉายาของผมนี่แหล่ะ โอ๋ แซ่รื้อŽ ผมก็ถามว่ารื้อนี่ทำให้แย่ลงหรือเปล่า ถ้าทำให้แย่ลงผมก็ต้องหยุดนะ แต่ถ้ารื้อแล้วเป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้นก็รื้อต่อไป แต่ผมรื้อคนเดียวไม่ได้หรอก ทุกคนต้องช่วยกัน ทั้งหมดสำเร็จได้เพราะทุกคนช่วยกัน

 

ปี 2563 มีโครงการต้องลงทุนจำนวนมาก และยังขาดงบประมาณเช่นเดียวกัน จะดำเนินโครงการอย่างไร

จริงๆ ทั้งหมดนี้กระทรวงการคลังเป็นผู้ตัดสิน ขณะนี้เครื่องมือทางการเงินของกระทรวงคมนาคมมี 5 เรื่อง คือ 1.ใช้งบประมาณปกติ 2.การลงทุนของรัฐวิสาหกิจเอง 3.เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) 4.ใช้กองทุนทีเอฟเอฟ และ 5.เงินกู้ แต่ทั้งหมดนายกฯ ได้พูดในที่ประชุมว่าเราต้องทำความเข้าใจในเรื่องของการก่อหนี้สาธารณะ

วันนี้แม้ว่านายกฯจะรักษาเพดานอยู่ 40% นิดๆ แต่อีก 2 ปีข้างหน้า เมื่อโครงการต่างๆ ต้องเริ่มชำระเงินหนี้จะเพิ่มเป็น 50% จึงต้องมาคิดว่าจะเป็นภาระจนรับไม่ได้หรือไม่ เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้มที่เป็นปัญหาสุดท้ายก็ตกผลึก โครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานเอกชนสนใจจะลงทุน ถ้าให้เอกชนมาพีพีพีก็ยังเหลือเพดานหนี้สาธารณะ นำงบไปทำเรื่องอื่น เช่น เกษตร หรือน้ำ ผมก็รับได้หากเป็นแบบนี้ก็โอเค

แต่จริงๆ อีกเรื่องคือนายกฯบอกจะให้ประชาชนมาร่วม เป็นการใช้กองทุนทีเอฟเอฟ ผมว่าอย่างนี้เราจะมีเงิน ทำหน้าที่ได้ ก็ให้ทุกหน่วยไปคิด ที่บอกทำเป็นตอนๆ เพราะถ้าทำเยอะจะเป็นภาระ อย่างทางด่วนพระราม 3 ประมูลแล้วแต่ทำไม่ได้ทันทีก็เสียดอกเบี้ย ก็ต้องดูให้ดี โดยในปี 2563 รัฐวิสาหกิจมีโครงการที่จะทำประมาณ 1.7 แสนล้าน ดังนั้นก็จะใช้เครื่องมือที่มีอยู่ 5 เรื่องนี้ ทำให้โครงการเดินหน้าได้เร็วที่สุด บางโครงการอาจจะเป็นตอนๆ

ส่วนโครงการที่ทำในปี 2563 มีเยอะแยะเลยครับ อย่างรถไฟฟ้าสายสีส้ม สีแดง โครงการต่อเนื่องจากมอเตอร์เวย์บางใหญ่คือ นครปฐม-ชะอำ อีอีซีก็เร่งเต็มที่อยู่แล้ว ตอนนี้ทุกคนใส่เกียร์ 5 หมด เหยียบมากกว่า 120 กม.แล้ว

 

กระทรวงที่มีงบประมาณหมื่นล้าน แสนล้าน คนมองว่ามีเรื่องผลประโยชน์ มีหลักตัดสินใจในการทำงานอย่างไร

ผมไม่มีหลักอะไร อย่างเรื่องข้อพิพาททางด่วนระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม หรือโฮปเวลล์ ผมก็เปิดให้ทุกคนมาดูด้วยซ้ำว่าที่เราทำถูก ไม่ถูก จริงๆ ผมใช้หลักธรรมาภิบาลในการทำงาน โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพราะฉะนั้นโครงการขนาดใหญ่ที่คิดว่าผมจะไปทำอะไร ตรวจสอบเลยครับ เราก็ดูกันจริงๆ ถ้ามีอะไรจริงก็คงไม่เปิด ไม่ต้องให้ดู มีก็ปิดห้องคุย แต่นี่อยากดูอะไรก็มี ให้สื่อดูด้วย จริงๆ ก็ต้องเรียนว่าอายุไม่น้อยแล้ว ก็ 57-58 ปีแล้ว

ที่บ้านไม่ได้มีปัญหาเศรษฐกิจหรืออะไร อยู่บ้านก็ออกกำลังกาย ว่ายน้ำ สบายๆ พอพี่ชายคือ เนวิน
ชิดชอบ ไม่เอา บอกให้ผมมา ผมก็เลยมา พอมาก็ทำไป เคยบ่นเหมือนกันถ้าไม่ไหวช่วยมาเปลี่ยนแทนได้ไหม ทางพี่ชายก็บอกไม่เอา ขอไปเตะฟุตบอลดีกว่า เป็นเรื่องที่มีโอกาสก็ต้องทำ แต่อะไรที่เป็นเรื่องที่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ผมไม่ทำหรอกครับ ผมพูดตั้งแต่ต้นแล้วว่า ผมจะไม่ยอมติดคุก และหนีออกนอกประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image