ชป.เฝ้าระวังภัยแล้งเชียงใหม่-พิษณุโลก วอนทุกภาคส่วนร่วมประหยัดน้ำ หลังน้ำในอ่างลดต่อเนื่อง

กรมชลประทานย้ำปีนี้เชียงใหม่น้ำน้อยต่ำกว่าเกณฑ์ ทั้งน้ำฝนและน้ำท่า 2 เขื่อนใหญ่ 12 เขื่อนขนาดกลาง และ 117 เขื่อนขนาดเล็ก มีปริมาณน้ำเหลือรวมกันไม่ถึงร้อยละ 50 ต่ำกว่าปี 62 จ่อเจอภัยแล้งต้องช่วยกันประหยัดน้ำ ลดการทำนาปรัง หันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทน เกษตรกรควรเก็บกักน้ำสำรองไว้

เมื่อวันที่ 4 มกราคม ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังได้รับการรายงานจาก นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ ว่า เมื่อวันที่ 3 มกราคม สถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อำเภอแม่แตง และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา อำเภอดอยสะเก็ด อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 12 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กอีก 117 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกันเพียงร้อยละ 43 ของความจุอ่างฯ ซึ่งไม่ถึงครึ่งของความจุรวมกันทั้งหมด สถานการณ์ดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำโดยเฉพาะภาคการเกษตรของจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกต่ำกว่าค่าปกติ ตลอดจนน้ำท่าก็ต่ำกว่าเกณฑ์เช่นกัน ทั้งนี้ ยังมีแนวโน้มอีกว่า ในปี 2563 ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง เดือนพฤษภาคม 2563 ปริมาณน้ำฝนจะต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 5-10 ซึ่งปัจจุปันปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำต่างๆของจังหวัดเชียงใหม่ภาพรวมในปี 2563 จะต่ำกว่าปี 2562 กว่าครึ่งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำล่าสุดในเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มีอยู่ประมาณ 151 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) หรือร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯ ได้วางแผนการส่งน้ำตลอดช่วงฤดูแล้งประมาณ 105 ล้าน ลบ.ม. ใช้ในพื้นที่ของชลประทานแม่งัด 35 ล้าน ลบ.ม. ส่วนอีก 70 ล้าน ลบ.ม. จะใช้เพื่อรักษาระบบนิเวศในลำน้ำปิง การอุปโภคบริโภค และการเกษตรพืชใช้น้ำน้อย ส่วนน้ำเพื่อผลิตน้ำประปา ได้ทำการสำรองไว้เช่นกัน รวมไปถึงอ่างเก็บน้ำแก้มลิงในค่ายทหาร ที่จะใช้เป็นแหล่งน้ำดิบสำรองในการผลิตน้ำประปากรณีเกิดภัยแล้งขาดแคลนน้ำ

สำหรับที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีปริมาณน้ำประมาณ 74 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 28 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 60 ล้าน ลบ.ม. มีแผนการส่งน้ำช่วงฤดูแล้งประมาณ 19 ล้านลบ.ม. เพื่อใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคและไม้ผลไม้ยืนต้นเป็นหลัก พร้อมขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย และลดการปลูกข้าวนาปรัง

Advertisement

ด้านจังหวัดพิษณุโลก นายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก กล่าวว่า แหล่งน้ำทางธรรมชาติในพื้นที่ จ.พิษณุโลก เริ่มลดลง บางพื้นที่เริ่มแห้งขอดไม่มีน้ำเป็นช่วงๆ โดยเฉพาะในพื้นที่แม่น้ำยมที่อยู่นอกเขตชลประทาน ขณะนี้พบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร และอาจส่งผลกระทบกับการอุปโภคบริโภค ในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ พรหมพิราม บางระกำ วังทอง บางกระทุ่ม และวัดโบสถ์ เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในช่วงฤดูฝนปี 2562 อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 30-35 ทำให้คาดว่าปีนี้จะแล้งยาวนานกว่า 6 เดือน และคาดว่าจะรุนแรงกว่าเทียบเท่าปี 2558 เบื้องต้นนั้นทางโครงการชลประทานพิษณุโลก ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ลดการทำนาปรังต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน ส่วนในพื้นที่โครงการบางระกำโมเดล ได้มีการประกาศงดส่งน้ำทำนาปรังเช่นกัน เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนมีไม่เพียงพอที่จะสนับสนุน พร้อมกับจัดรถกระจายเสียงแจ้งเตือนเกษตรกรให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำที่มีน้อยไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยได้ขอให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน สำหรับแนวทางการช่วยเหลือนั้น ทางจังหวัดพิษณุโลกได้ร่วมกับโครงการชลประทานต่างๆในพื้นที่ และสนง.ป้องกันและบรรเทาสาธาณภัยจังหวัด เตรียมรถบรรทุกน้ำอุปโภคบริโภคเข้าไปช่วยเหลือประชาชนในทุกพื้นที่แล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน

กรมชลประทาน จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด และให้ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดขึ้นอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำในอนาคต ที่สำคัญเพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้าด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image