นายพรชัย รัตนตรัยภพ ประธานคณะกรรมการบริหาร เครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า มาตรการดูแลผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) เสริมแกร่ง เพิ่มทุนสร้างไทย เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยใช้วงเงิน 100,000 ล้านบาท ช่วยเหลือเอสเอ็มอีกว่า 100,000 ราย เบื้องต้นมองว่ามาตรการที่ออกมาไม่ได้แตกต่างจากมาตรการช่วยเหลือที่ผ่านมามากนัก โดยเป็นการเพิ่มวงเงินกู้ยืมให้เอสเอ็มอี ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังพบปัญหา เนื่องจากเอสเอ็มอีที่มีความจำเป็นในการกู้เงิน ไม่สามารถกู้ได้ เพราะยอดขายลดลง ทำให้ตัวเลขการเงินไม่ออกมาดีเท่าที่ควร ส่วนเอสเอ็มอีที่ไม่มีความจำเป็นต้องกู้ เพราะวงเงินที่มีอยู่ก็เพียงพอในการประกอบธุรกิจ ก็ไม่ได้รับอานิสงค์เชิงบวกจากมาตรการดังกล่าว
“ภาวะเศรษฐกิจที่กำลังมีปัญหาในขณะนี้ ทำให้เอสเอ็มอีหลายราย ยอดขายลดลงจำนวนมาก ซึ่งเมื่อยอดขายลดลง รายได้ก็จะลดลงตามด้วย จึงมองว่าผู้ที่ไม่มีความสามารถในการกู้ ก็ยังกู้ไม่ได้เหมือนเดิม แม้จะมีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือก็ตาม จากมาตรการที่ออกมาในช่วงที่ผ่านมา ต้องบอกว่าหลายมาตรการก็เกือบจะเป็นไปได้ เช่น การฟื้นกำลังซื้อให้กับประชาชนทั่วไป ผ่านมาตรการชิมช้อปใช้ แต่ไม่ได้ตั้งเงื่อนไขให้ผู้ที่ได้สิทธิรับเงิน 1,000 บาท ใช้เงินควบคู่ไปกับกระเป๋า 2 เพื่อให้ใช้ทั้งเงินของรัฐและเงินของตนเอง ซึ่งจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจจริงๆ แต่พอไม่ได้กำหนด คนก็ใช้แค่เงิน 1,000 บาทเท่านั้น ทำให้ผลเชิงบวกที่ออกมาไม่ได้ดีเท่าที่ควร”นายพรชัยกล่าว
นายพรชัยกล่าวว่า มาตรการใหม่ที่ออกมาคงไม่แตกต่างจากมาตรการให้กู้เก่าๆ มากนัก โดยเฉพาะการกำหนดไว้ให้ต้องกู้กับธนาคารใดธนาคารหนึ่งเท่านั้น ซึ่งกระบวนการอนุมัติต่างๆ เป็นไปด้วยความล่าช้า ทำให้ผลที่ออกมาไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย และไม่ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์จริงๆ โดยมองว่าหากรัฐบาลอยากให้มาตรการที่ออกมา เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ ควรจัดสรรงบประมาณลงไปยังธนาคารพาณิชย์ ที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้ทำธุรกรรมทางการเงินไว้อยู่แล้ว เพราะเชื่อว่าธนาคารเหล่านี้จะรู้จักลูกค้าของตนเองดี ทำให้การอนุมัติสินเชื่อไป จะไม่เกิดเป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) แน่นอน
นายพรชัยกล่าวว่า ความจริงแล้วการที่รัฐบาลต้องการกระตุ้นการใช้จ่าย เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ถือเป็นเรื่องที่ดีและมาถูกทางแล้ว แต่ยังไม่ตรงจุดเท่าที่ควร โดยมาตรการช่วยเอสเอ็มอีที่จะออกมา มองว่าคงช่วยเหลือผู้ประกอบการได้บ้าง แต่การเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมคงมีน้อย สำกรับทิศทางเศรษฐกิจในปี 2563 หากมองในแง่ดีคงไม่มีอะไรแย่ไปกว่าขณะนี้อีกแล้ว เนื่องจากตอนนี้เศรษฐกิจเจอหลายปัจจัยกระทบ จนชะลอการเติบโตลง จึงเชื่อว่าน่าจะมีแรงสนับสนุนจากปัจจัยใหม่ๆ ให้กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง