กพร.บูมลงทุนแร่ในประเทศ2แสนลบ.

กพร.บูมลงทุนแร่ในประเทศ2แสนลบ.หวังทดแทนนำเข้า หนุนเอกชนลงทุนเพื่อนบ้าน

นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า หลังจากกฎหมายแร่ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ปี 2560 และปี 2562 กพร.ออกใบอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ ล่าสุดอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ไปแล้ว 130 แปลง แปลงละไม่เกิน 300 ไร่ หรือพื้นที่ประมาณ 3.9 หมื่นไร่ มีมูลค่าแหล่งแร่รวมกว่า 2 แสนล้านบาท ตลอดอายุสัมปทาน 25 ปี โดยแหล่งแร่ที่ขอประทานบัตรมากที่สุดก็คือเหมืองหินก่อสร้างกระจายอยู่ทั่วประเทศ รองลงมาเป็นแร่ปูนซิเมนต์ และยิปซัม โดยแหล่งแร่หินปูนส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคกลาง จ.สระบุรี

“ก่อนออกพ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ มีการออกประทานบัตรแร่ไม่เกินปีละ 100 แปลง แต่ปี2561 ไม่ได้ออกใบอนุญาตประทานบัตรให้รายใดเลย เพราะผู้ประกอบการทุกรายต่างปรับตัวเตรียมเอกสารต่างๆให้เข้ากับหลักเกณฑ์ของกฎหมายใหม่ที่มีความเข้มงวด โดยเฉพาะการรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนโดยรอบเหมือง ซึ่งจะต้องผ่านประชามติจึงจะเปิดเหมืองแร่ได้ ทำให้คำขออนุญาตประทานบัตรปีนี้มากกว่า 130 แปลง”นายวิษณุกล่าว

นายวิษณุกล่าวว่า สำหรับการผลิตแร่โปแตช ขณะนี้มีผู้ยื่นคำขอ 1 ราย ได้แก่ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล ปิโตรเลียม กรุ๊ป จำกัด จ.นครราชสีมา ใช้กับเหมืองแร่โปแตชของ ไทยคาลิ คาดว่าจะมีกำลังการผลิต 1 แสนตันต่อปี ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนปรึกษาชาวบ้านโดยรอบเหมือง จากนั้นจะต้องจัดทำการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนรอบเหมือง จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) และนำผล อีไอเอ มายื่นคำขอประทานบัตรเหมืองแร่ ส่วนเหมืองแร่โปแตชที่ได้รับประทานบัตรไปแล้ว มีความคืบหน้าสูงสุด คือ เหมืองแร่โปแตชของบริษัทไทยคาลิ จำกัด ที่ อ.ด่านขุนทด จ. นครราชสีมา ได้รับประทานบัตรเมื่อปี 2558 ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอเปิดดำเนินการผลิต คาดว่าจะผลิตแร่โปแตชออกมาได้ภายใน 2-3 เดือนจากนี้ ส่วนเหมืองแร่โปแตช ของ บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอเพิ่มทุน และเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ขณะนี้อยู่ระหว่างการเดินเรื่องขอประทานบัตรตามพ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่

Advertisement

นายวิษณุกล่าวว่า ปัจจุบันผลผลิตแร่ภายในประเทศแต่ละปีจะมีมูลค่าประมาณ 7 หมื่นล้านบาท อัตราค่าภาคหลวงประมาณ 4% ได้ค่าภาคหลวงเข้ารัฐประมาณปีละ 3 พันล้านบาท นอกจากนี้มีผลประโยชน์พิเศษที่เหมืองแร่จะต้องมอบให้กับรัฐและท้องถิ่นประมาณ 2% คิดจากมูลค่าแหล่งแร่ทั้งหมด ซึ่งจะเข้าชุมชน 50% และอีก 50% เข้ารัฐบาล ทั้งนี้ การผลิตดังกล่าวไม่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ ต้องนำเข้าอีกไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยแร่ที่นำเข้าหลักคือถ่านหิน ปีละกว่า 20 ล้านตัน ส่วนใหญ่นำเข้าจากเวียดนามและอินโดนีเซีย รองลงมาเป็นทองคำที่นำเข้าจากทั่วโลก

นายวิษณุกล่าวว่า กพร.จึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนเหมืองแร่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน บริษัทขนาดใหญ่ของไทย อาทิ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ เอสซีจี ได้ออกไปลงทุนทำเหมืองแร่หินปูน และตั้งโรงงานผลิตปูนซิเมนต์ในประเทศเพื่อนบ้าน โดยประเทศที่ไทยสนใจเข้าไปลงทุนมากที่สุดคือ สปป.ลาว เพราะมีแร่โลหะที่จำเป็นจำนวนมาก ส่วนภาพรวมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของอาเซียนมีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึง 1.6 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20% ของมูลค่าการซื้อขายแร่ทั้งหมด หรือประมาณ 9% ของมูลค่าการซื้อขายสินค้าในประเทศอาเซียน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image