2563 ปีเศรษฐกิจสุดระบม โดย สมหมาย ภาษี

นักการเมืองไทยรวมทั้งส่วนราชการที่รับผิดชอบเรื่องเศรษฐกิจของประเทศชาติเรา มีความคิดความอ่านที่รับไม่ได้อยู่ประการหนึ่ง คือการไม่ยอมพูดความจริงของสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเลวร้ายให้ประชาชนทราบ ซึ่งเรื่องนี้ได้เกิดขึ้นให้เห็นชัดเมื่อ 22 ปี มาแล้วในช่วงก่อนภาวะวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ทำให้เศรษฐกิจต้องพินาศล่มจมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอย่างที่ได้เห็นกันมา ซึ่งบุคคลที่รับผิดชอบและมีส่วนร่วมการบริหารเศรษฐกิจสมัยนั้น แม้ตอนนี้ยังมีชีวิตอยู่ แต่ก็อยู่ในอาการที่ชราภาพกันหมดแล้ว

ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบซึมยาวคราวนี้ แม้จะไม่เลวร้ายเหมือนในสมัยวิกฤตต้มยำกุ้ง แม้ปัจจัยทางเศรษฐกิจทุกๆ ด้านได้บ่งบอกว่า ทุกด้านของเศรษฐกิจกำลังดิ่งลงแบบซึมยาว แต่ก็ยังมองไม่เห็นว่าผู้ที่รับผิดชอบคนใดได้ออกมาพูดความจริงทั้งหมดบ้าง ตัวอย่างเช่น ท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหมากที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้ออกมาแสดงความเห็นกับสื่อเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 ยอมรับว่าค่าเงินบาทสูงมากจริง แต่ก็ได้อ้างสาเหตุจากปัจจัยแวดล้อม 3-4 ประเภท ที่เหนือการควบคุม ส่วนที่อยู่ในขอบเขตอำนาจของธนาคารชาติหรือธนาคารกลาง ท่านพูดว่าได้ดูแลเต็มที่แล้ว ท่านช่างดี เรียบง่าย และสมถะเสียเหลือเกิน

ในส่วนของสภาพัฒน์ที่เป็นหน่วยงานความคิดที่สำคัญของชาติอันเป็นที่พึ่งของท่านรองนายกรัฐมนตรีที่เคยคุมด้านเศรษฐกิจ กลับไม่ค่อยได้ยินการพูดความจริงออกมาให้ประชาชนตาดำๆ เขาเห็นภาพที่แท้จริงของเศรษฐกิจบ้างเลย วันๆ ก็ดูแต่ตัวเลขการเคลื่อนไหวของรายได้ประชาชาติ หรือ GDP แล้วก็ออกตัวเลขการพยากรณ์ GDP และส่วนประกอบออกมาเป็นระยะๆ โดยหารู้ไม่ว่า GDP ที่ว่าเพิ่ม 2.6% ในปีนี้ และที่พยากรณ์ว่าจะเพิ่มเป็น 3.3% ในปีหน้านั้น มันเพิ่มไปที่ใครกันบ้าง สภาพัฒน์เองนานมาแล้วไม่เคยพูดถึงการกระจายรายได้อย่างจริงจังให้ได้ยินเลย ถ้าท่านได้วิเคราะห์ดีๆแล้วเกิดทราบว่า ที่ GDP เพิ่ม 2.6% นั้น แค่ 0.6% เท่านั้น ที่ไปเพิ่มแก่คนยากคนจน 85% ของประเทศ ส่วน 2% มันไปเพิ่มให้คนที่เป็นระดับเศรษฐีกับผู้มีอันจะกินทั้งหลายที่มีอยู่ประมาณ 15% ของประเทศ นอกจากนี้ยังไปเพิ่มให้แก่ชาวต่างชาติที่มาลงทุนกันในประเทศไทยจำนวนไม่น้อยในทุกวันนี้ด้วยครับ

ในส่วนของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญที่สุดในการกำกับควบคุมดูแลเศรษฐกิจของประเทศ หน่วยงานนี้ถือว่าเป็นกระทรวงหลักด้านเศรษฐกิจ แต่เดิมเคยต้องทำตามนโยบายของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ แต่บัดนี้ไม่ทราบว่าต้องทำตามใคร

Advertisement

แต่ถ้าดูสิ่งที่กระทรวงการคลังได้นำเสนอ “แผนการคลังระยะกลาง สำหรับปีงบประมาณ 2564-2567” The Medium-term Fiscal Policy Framework for F.Y. 2021-2024 ต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 24 ธันวาคม 2562 ก่อนจะสิ้นปี ซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว

โดยแผนนี้จะเน้นในเรื่องเศรษฐกิจมหภาค หรือ เศรษฐกิจส่วนรวม โดยเน้นไปที่การขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงดังกล่าวที่ 3.1-4.1% ภายใต้อัตราเงินเฟ้อที่ 0.7-1.7% แล้วก็นำมากำหนดรายได้ของรัฐบาล และการตั้งงบประมาณแผ่นดินในแต่ละปีให้โตขึ้นตามกรอบเดิมๆ และตามแนวโน้มที่ไม่สามารถสนองความต้องการของประชาชนเหมือนเดิม จากนั้นก็นำมาคำนวณภาระหนี้สาธารณะ ซึ่งปีสุดท้ายคือ 2567 จะมีภาระหนี้แค่ 48.6% ของ GDP ดูแล้วสวยหรูอยู่ในกรอบการคลังที่ดีเหลือเกิน

พอจะเข้าใจว่า แผนการคลังระยะกลางนี้ทำมาเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ที่มีวัตถุประสงค์ให้เป็นกรอบการคลังสำหรับอนาคต 4 ปีข้างหน้า แต่ในส่วนตัวผมเห็นว่าไร้สาระ (Nonsense) โดยสิ้นเชิง เพราะการวางแผนการคลังระยะกลาง 4 ปี ออกมาเช่นนี้ ไม่เป็นการพูดความจริงแต่บางส่วนเหมือนธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่เป็นการหุบปากไม่พูดเหมือนสภาพัฒน์ แต่เป็นการพูดและการแสดงความคิดหรือวิสัยทัศน์ที่ไม่แสดงถึงศักดิ์และศรีของกระทรวงการคลังที่ผมเคยเห็น เพราะมันเหมือนกับการแสดงวิสัยทัศน์ของคนที่ทั้งตาก็บอดหูก็หนวก เหมือนไม่รู้อะไรเลยว่าขณะนี้โลกกำลังเกิดอะไรขึ้น โลกกำลังมีการเปลี่ยนแปลงด้านการค้าระหว่างประเทศไปอย่างไร เรากำลังได้รับผลกระทบด้านไหนบ้างอย่างไร เพื่อนบ้านในระดับเดียวกัน เช่น มาเลเซีย เวียดนาม และระดับที่พัฒนามากกว่าเรา เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น เขากำลังปรับตัวกันอย่างไร เหมือนกับว่าข้าราชการไทยไม่รับรู้สถานการณ์โลกและประเทศแต่อย่างใด รู้แต่สมมุติฐานต่างๆ ที่ตนมโนเอา เช่น ถ้าน้ำมันปรับตัวอย่างนี้ อัตราเงินเฟ้อจะอยู่เพียงแค่นี้ สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐจะผ่อนคลายขนาดนี้ เป็นต้น

Advertisement

ขอตั้งคำถามว่าถ้าในปี 2563 นี้ ภาวะการส่งออกของสินค้าไทยยังไหลลื่นต่ำกว่าปี 2562 การท่องเที่ยวที่แสดงให้เห็นชัดว่า ปี 2562 ที่เพิ่งผ่านมา จริงๆ แล้ว ถ้าไม่นับรวมลาว เขมร เมียนมา นักท่องเที่ยวต่างชาติหลุดเป้าไปมาก เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในคืนส่งท้ายปีเก่าตอน Countdown ที่หาดป่าตอง ภูเก็ต เห็นกันชัดว่าพลุไฟน้อยมาก เหลือประมาณครึ่งหนึ่งของปี 2561 เท่านั้น ไม่ต้องสงสัยว่าปี 2563 นี้ นักท่องเที่ยวจะลดน้อยลงอีกขนาดไหน ส่วนภาคการเกษตรที่เลี้ยงรากหญ้าส่วนใหญ่ของประเทศ ยิ่งต้องเจอภาวะแล้งหนักในทุกภาค แถมราคาสินค้าก็ยังทรงๆ ชาวไร่ชาวนาจะเอาเงินจากไหนมาใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าภาคการผลิตทางอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการส่งออกสินค้าไทย ยังมีอาการเมาหมัดเหมือนอิเหนา กล่าวคือ โรงงานทั้งขนาดเล็กและกลางต่างยังทยอยกันปิด โรงงานใหญ่ก็ค่อยๆ ลดผลผลิต จนกำลังการผลิตของโรงงานเหลือไปทั้งปี ยิ่งกว่านั้นโครงการที่จะเข้ามาลงทุน ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC. ก็จะแสดงอาการเก้ๆ กังๆ ลากยาวออกไปเรื่อย เป็นต้น

ถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดให้เห็นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนแรกของปี 2563 นี้ ผู้ที่บริหารประเทศจะมีหนทางแก้ไขได้อย่างไรบ้าง จะยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้วจัดเลือกตั้งใหม่ก็จะยิ่งทำให้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่กล่าวต้องล่าช้าออกไปอีก จะไปยึดแผนการคลังที่คณะกรรมการวินัยการเงินการคลังประชุมกันเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 และเพิ่งผ่านคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติไปเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562 ก็จะไปเอามาเป็นสาระไม่ได้ เพราะข้อสมมุติฐานผิดไปหมด การกลับตัวของผู้บริหารประเทศที่เสียงปริ่มน้ำ ก็คงจะทำไม่ได้ มันจะเป็นการสายเกินแก้เสียแล้ว

หากไปดูงบประมาณในปีนี้ (ปีงบประมาณ 2563) ที่ล่าช้ามานานเพราะทำกันตามมีตามเกิด ซึ่งจะเข้าพิจารณาในรัฐสภาในวาระ 2 และ 3 ในวันที่ 8-9 มกราคมนี้ ซึ่งดูเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นของฝ่ายรัฐบาลมาก แม้ว่าจะผ่านสภาออกมาได้ งบประมาณปีที่ล่าช้านี้ก็ยังเป็นงบประมาณที่กำหนดมาจากข้อสมมุติฐานเก่าสมัยต้นปี 2562 ซึ่งผิดไปแล้วทั้งนั้น แต่งบนี้ก็จะใช้ไปตั้งแต่กลางเดือนมกราคม 2563 จนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2563 ระยะเวลาใช้จริงเพียง 8 เดือนครึ่ง แต่อย่าลืมว่าช่วง 8 เดือนครึ่งนั้น มันยาวพอที่จะเห็นสภาพมืดมัวของภาวะเศรษฐกิจที่มันสุดระบมอยู่แล้ว อย่างไรเสียตั้งแต่นี้จนถึงเดือนกันยายน 2563 ความกดดันด้านสังคมจะก่อผลรุนแรงมากขึ้นแค่ไหน คงต้องจับตามองกันให้ดี

ที่ร้ายกว่างบประมาณประจำปี 2563 คือการกำหนดเค้าโครงของงบประมาณประจำปี 2564 (ตุลาคม 2563-กันยายน 2564) ตามรูปแบบและหลักการเดิมๆ ซึ่งจะไม่ทำให้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้เลย กว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2563 ก็จะใช้เวลาจากนี้ไปถึง 10 เดือน ยิ่งทอดเวลาให้ความระบมของเศรษฐกิจทั้งประเทศออกอาการรุนแรงยิ่งขึ้น นี่แหละปัญหาใหญ่

ที่ว่าจะเป็นปัญหาใหญ่ ก็เพราะว่ากรอบหลักของงบประมาณประจำปี 2564 นี้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ไม่มีอะไรแน่นอนในตอนนี้เลย มีแต่ความเสี่ยงทั้งนั้น เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ของปี 2563 จะอยู่ที่ 3.1-4.1% และอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 0.7-1.7% ทีนี้ถ้าหาก GDP ปี 2563 โตไม่ถึง 2% งบประมาณที่ตั้งไว้ก็จะใช้แก้ปัญหาไม่ได้ จะยิ่งลากประเทศให้ถูลู่ถูกังจนพังทลายลงไปได้

กรอบหลักของงบประมาณประจำปี 2564 นี้ ได้ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมร่วมของ 4 หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการเงินการคลัง ได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ และธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีท่านนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม มีท่านรองนายกฯสมคิด และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้าร่วมประชุมด้วย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2562 นี้ ผลที่ออกมาก็เป็นไปตามผลการพิจารณาแผนการคลังระยะกลาง ปีงบประมาณ 2564-2567 ที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเมื่อวันอังคารที่ 24 ธันวาคม 2562 แล้วนั่นเอง

ขอนำกรอบหลักของงบประมาณประจำปี 2564 ที่กล่าว ซึ่งจะถูกนำเข้า ครม. ในวันที่ 7 มกราคม 2563 มาให้ดูกันก่อน กล่าวคือ ด้านรายจ่ายจะกำหนดไว้ที่ 3.3 ล้านล้านบาท มากกว่าปีงบประมาณ 2563 จำนวน 100 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.1% ด้านรายได้จะกำหนดไว้ที่ 2.777 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.7% ที่เพิ่มน้อยก็เพราะรู้กันดีว่ามันเพิ่มได้ยากในภาวะเศรษฐกิจถดถอย งบการคลังขาดดุล 523 พันล้านบาท หรือประมาณ 3% ของ GDP เป็นไปตามมาตรฐานที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้แนะนำให้เป็นเกณฑ์สำหรับประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวปกติทั่วไป งบประมาณตามกรอบนี้จะทำให้หนี้สาธารณะอยู่ที่ 45% ของ GDP ไม่เกินกรอบของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังที่กำหนดไว้ไม่ให้เกิน 60% ของ GDP

ดูตัวเลขรายได้รายจ่ายและตัวเลขการคลังที่เกี่ยวข้องของงบประมาณประจำปี 2564 ดังกล่าวแล้ว ก็สรุปได้ว่าตั้งกันตามเค้าโครงเดิมๆ ตั้งกันโดยไม่รู้ร้อนรู้หนาวว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นในโลกนี้ และตั้งกันโดยข้าราชการประจำของ 3-4 หน่วยงานหลัก ที่ไม่แน่ใจว่าเขาได้ตระหนักหรือไม่ว่าประชาชนเขาตกระกำลำบากอย่างไร เคยสนใจหรือไม่ว่าประเทศไทยตอนนี้และในอนาคตอันใกล้อยู่บนความเสี่ยงอะไรบ้าง หนักหนาแค่ไหน ส่วนคนระดับเสนาบดีเข้าใจว่าไม่ได้เสนอแนวนโยบายพิเศษอะไรเข้าไปในงบประมาณปี 2564 นี้เลย อาจเป็นเพราะคิดอะไรไม่ออก เพราะถ้าคิดจะดูแลประเทศชาติอย่างที่ปากพล่ามพูด งบประมาณปี 2564 ก็คงจะไม่ออกมาในรูปแบบนี้ มันเป็นกรรมของประเทศโดยแท้

ลองฟังนายสตีฟ ไอส์แมน นักลงทุนชาวอเมริกาที่กล่าวว่า “ปี 2020 (2563) นี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นและคาดหวังได้ดีที่สุดก็คือ ภาวะถดถอยที่จะประดังกันเข้ามาในทุกๆ ด้าน เศรษฐกิจชะลอตัวช้าแล้วเคลื่อนตัวสู่ภาวะติดลบ เหมือนคนที่ถูกรัดคอช้าๆ จนเข้าสู่ภาวะหายใจติดขัดในที่สุด” ถ้าเป็นจริงดังว่า ก็อย่าได้คาดหวังว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ของไทยในปี 2563 นี้ จะขยายตัวได้ถึง 2% การตั้งงบประมาณรายจ่ายปี 2564 ไว้ที่ 3.3 ล้านล้านบาท ก็ไม่พอจะยาไส้ ถ้าให้พอแค่ไปไหว ต้องตั้งไม่ต่ำกว่า 3.5 ล้านล้านบาท และจะต้องตัดงบที่ไม่จำเป็นหลายอย่างลง โดยเฉพาะงบทางด้านทหาร แล้วต้องนำเงินไปโปะที่การลงทุนขนาดเล็กและกลาง และงบพัฒนาด้านความยากจนให้เพิ่มขึ้นในทุกๆด้าน การช่วยรากหญ้าไม่ใช่แค่ให้อยู่รอด แต่ต้องมีแผนระยะกลาง เพื่อยกระดับรายได้ของพวกเขาเป็นแผง ถ้าระดับรายได้ของพวกเขาไม่ถูกดันให้สูงขึ้น หนี้ครัวเรือนก็ไม่มีทางลด

สำหรับจุดเสี่ยงปี 2563 ของไทยเราจะขอสรุปสั้นๆ เป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้
ประการแรก การส่งออกของประเทศในปี 2563 นี้ ไม่มีโอกาสที่จะดีกว่าปี 2562 ที่การส่งออกทั้งปีติดลบถึงประมาณ 2.5% ที่ต้องเป็นอย่างนี้เพราะการกีดกันทางการค้า และการแข่งขันของการค้าระหว่างประเทศที่จะยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีก ยิ่งกว่านั้น การท่องเที่ยวของชาวต่างประเทศปี 2563 นี้ ก็มีแต่จะทรงกับทรุดเพราะทุกประเทศเศรษฐกิจก็จะถดถอย แค่จะผลักดันให้ถึง 40 ล้านคน ก็คงจะยาก นอกจากไปเปิดช่องทางกระตุ้นให้ชาวลาว เขมร และเมียนมา แห่เข้ามาเพื่อเพิ่มตัวเลขให้ดูสวยหรู อย่างที่ได้ออกข่าวเพื่อแหกตาชาวบ้านเมื่อเดือนที่ผ่านมา

ประการที่สอง การลงทุนในภาคเอกชนจะไม่มีปัจจัยมาสนับสนุนให้โงหัวขึ้นได้ ขณะที่การลงทุนภาครัฐมีแต่ความล่าช้า เศรษฐกิจที่จะซึมยาวไปทั่วโลกย่อมไม่มีใครจะคิดลงทุนเพิ่ม ประเภทการลงทุนที่พอจะเกิดขึ้นได้ก็มีเพียงแต่การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็จะทำให้เกิดภาวะปั่นป่วน (Disruption) ในการผลิต นักลงทุนที่ไม่แน่จริงก็จะไม่กล้าลงทุน สำหรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ของไทยนั้น จะมีการลงทุนที่เดินหน้าได้ก็แค่ 2-3 โครงการที่ได้ริเริ่มไปแล้ว แต่ที่เหลือนักลงทุนต่างชาติต่างก็ได้กดปุ่มชะลอกันหมดแล้ว ส่วนด้าน SMEs ซึ่งเป็นความหวังของไทยนั้น ได้ส่อสภาพที่เหี่ยวเฉามาตั้งแต่ต้นปี 2562 แล้ว ในปี 2563 นี้ จะเริ่มเห็นภาพของการยืนตายอีกมาก จะหวังให้สถาบันการเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ก็ที่มองเห็นทุกวันนี้ทุกธนาคารก็เอามือทั้งสองข้างไปกุมขมับของตนเอง หรืออย่างดีก็ซุกกระเป๋ากันทั้งนั้น

ส่วนการลงทุนในภาครัฐนั้น ขอให้ดูโครงการที่ได้รับอนุมัติทั้งหลายในด้านคมนาคมและขนส่งเป็นหลัก ล้วนแล้วแต่ชะงักงันและค้างท่อ อันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงยุทธวิธีการดูแลและบริหารโครงการของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง “แซ่รื้อ” ทำให้วงเงินลงทุนภาครัฐที่มีงบอยู่พร้อมแล้วหลายแสนล้านบาท ต้องหยุดนิ่งเหมือนโดนเวทมนตร์อสูร

ประการที่สาม ชนชั้นระดับรากหญ้าโดยเฉพาะเกษตรกรและลูกจ้างระดับกลางลงถึงระดับล่างของธุรกิจทั่วไป ล้วนแต่ถูกกดทับด้วยภาระหนี้สินอย่างแสนสาหัสมาตั้งแต่กลางปี 2561 ยิ่งในปี 2562 ที่ผ่านมายิ่งถูกกดทับหนักขึ้นไปอีก ข้อมูลการขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของหนี้ครัวเรือน จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ในปี 2554 หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 66.2% ของ GDP สิ้นไตรมาสสามของปี 2561 อยู่ที่ 77.9% ของ GDP แต่สิ้นไตรมาสสามของปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 79.3% ของ GDP สูงเป็นอันดับ 2 เทียบกับประเทศในเอเชีย 22 ประเทศ อย่างนี้จะเอาอะไรไปแก้ไขได้ ยิ่ง GDP ของไทยเตี้ยลงทุกปีเช่นนี้ ไม่เกิน 6 เดือนคือกลางปี 2563 นี้ คงถึง 80% ของ GDP แน่ ถ้าเป็นอุณหภูมิของคนไข้บอกได้ว่าต้องคิดเตรียมหาวัดได้แล้ว ตัวหนี้ครัวเรือนตัวนี้ตัวเดียว บอกอาการเศรษฐกิจของไทยได้ชัดเจนว่าสุดระบมเต็มทีแล้ว

ประการที่สี่ เป็นเรื่องความไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไรของรัฐบาลของเรา หรือเป็นเรื่องที่เสนาบดีสมัยนี้มัวแต่คิดโครงการได้เสียของตนและพรรคพวกมากกว่าการคิดถึงปัญหาของบ้านเมือง หรือทั้งสองอย่างรวมกันก็เป็นได้ ถ้าท่านผู้อ่านได้เห็นเค้าโครงของงบประมาณประจำปี 2564 (ตุลาคม 2563-กันยายน 2564) ที่กล่าวมาข้างต้น หากได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีตามนั้นในการประชุมของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 7 มกราคมนี้ละก็ แสดงให้เห็นว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบเกาไม่ถูกที่คันของรัฐบาลชุดนี้ยิ่งไปกันใหญ่แล้ว ความระบมของเศรษฐกิจจะเป็นถึงขนาดไหน ก็ขอให้ดูกันเอาเองนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image