น้ำเค็มรุก! ทุเรียนนนท์ใบเหลือง ชาวสวนจำต้องเด็ดดอกทิ้งรักษาต้น ประปา-ชลประทานเร่งเปิดจุดบริการน้ำ

เมื่อเวลา 13.30น.วันที่ 6 มกราคม 2563 ที่ศูนย์จำหน่ายสินค้าด้านการเกษตร สินค้ากลุ่มแม่บ้าน สินค้าวิสาหกิจชุมชนและสินค้า OTOP อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี นางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เป็นประธานการประชุมเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทุเรียนในจังหวัดนนทบุรี ร่วมกับชมรมอนุรักษ์ทุเรียนนนทบุรี เพื่อหาแนวทางและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำเค็ม โดยมีนายสุพจน์ ธูปแพ ประธานชมรมอนุรักษ์ทุเรียนนนทบุรี นายประพนธ์ ธูปะเตมีย์ รักษาการเกษตรจังหวัดนนทบุรี นายทรงพลสวยสม ชลประทานจังหวัดนนทบุรี น.ส.นพรัตน์ศรีสวัสดิ์ผอ. กองบริการ การประปานครหลวงมหาสวัสดิ์นนทบุรี นายชัยวัฒน์ นาคแย้ม สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(ส.อบจ.)นนทบุรี ผู้แทนนายกอบจ.นนทบุรี พร้อมเกษตรสหกรณ์ผู้ปลูกทุเรียนนนทบุรีกว่า 30 รายร่วมประชุม

นางจุรีรัตน์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากปีนี้ปัญหาภัยแล้งและน้ำเค็มค่อนข้างรุนแรง ส่งผลกระทบกับเกษตรกรต่างๆจำนวนมาก จึงมาร่วมกันหาแนวทางการแก้ไข โดยรับฟังปัญหาจากเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน รวมทั้งการประปานครหลวง ชลประทาน เกษตรจังหวัด ทั้งนี้เกษตรจังหวัดก็ได้รวบรวมรายชื่อเกษตรกร ในจังหวัดนนทบุรีกว่า 392 ราย เพื่อขอสนับสนุนน้ำประปา เพื่อใช้ในการเกษตร กับการประปานครหลวง สรุปการประปาจะเปิดจุดให้บริการที่สาขา โดยจังหวัดจะประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ในเรื่องรถขนน้ำที่จะนำไปให้เกษตรกรรวมทั้งจุดสูบน้ำจากคลองต่างๆ บริเวณที่น้ำยังไม่เค็มเพื่อไปช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งเกษตรกรในจังหวัดนนทบุรีส่วนใหญ่มีศักยภาพ มีเครื่องวัดค่าน้ำเค็ม มีระบบปิดเปิดน้ำเข้าพื้นที่ของตัวเองรวมทั้งมีการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง

Advertisement

นายทรงพล กล่าวว่า ขณะนี้มีน้ำต้นทุนในเขื่อนประมาณ 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ซึ่งในการวางแผนต้องเน้นเรื่องอุปโภคและบริโภคและการผลิตน้ำประปาเป็นหลัก ส่วนเรื่องน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา วัดได้วันนี้ ที่ พระนั่งเกล้าวัดได้ 3.74 ptt และ ที่ท่าน้ำนนท์วัดได้ 4.16 ptt ไม่เหมาะใช้ในการเกษตร กรมชลประทานได้ผันน้ำจากแม่น้ำท่าจีนและบางปะกงผ่านคลองสาขาต่างๆเข้ามาเพื่อดันน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา

น.ส.นพรัตน์ กล่าวว่า ขณะนี้การประปานครหลวงจะเปิดจุดให้บริการน้ำเกษตรกรที่ลงทะเบียนไว้ โดยสามารถไปขอน้ำรับน้ำได้ที่สาขาของการประปาต่างๆในพื้นที่ ส่วนจุดบริการน้ำประปาตามริมถนนต่างๆยังไม่เปิดให้บริการ เนื่องจากควบคุมยาก เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบสามารถนำรถ โดยอาจเป็นรถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ต่างๆไปรับน้ำได้ และจะได้รับการช่วยเหลือค่าน้ำในอัตราคงที่ตั้งแต่ลูกบาศก์เมตรที่ 50 ขึ้นไป

Advertisement

ด้านนายสุพจน์ กล่าวว่า อยากให้การประปาเพิ่มหัวจ่ายตามจุดต่างๆ เพื่อเกษตรกรสะดวกในการรับน้ำ เพราะขณะนี้น้ำเค็มมากใช้ในการเกษตรไม่ได้ อาจทำให้ทุเรียนที่กำลังออกดอกแย่ จึงอยากขอให้ส่วนราชการต่างๆบูรณาการร่วมกันช่วยเหลือชาวสวนผู้ปลูกทุเรียนกว่า 2,000 ไร่

นายสำเริง สุนทรแสง เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนพื้นที่ตำบลบางกร่าง อ.เมืองนนทบุรี กล่าวว่า ตนปลูกทุเรียน 4 ไร่ 130 กว่าต้น ขณะนี้เริ่มออกดอกแล้วกว่า 90 ต้น รับทราบสถานการณ์น้ำเค็มมาตั้งแต่เดือนธันวาคม โดยกันน้ำเข้าร่องสวนไว้ใช้ เมื่อเช้าวัดค่าน้ำเค็มในคลองได้ 1.5 ptt ในร่องสวนวัดได้ 0.6 ptt ซึ่งน้ำใช้รดทุเรียนไม่ควรเกิน 0.4 ptt ส่วนน้ำประปาวัดได้ 0.10 ptt ซึ่งก็ถือว่ายังเค็ม

“ปีนี้ปัญหาภัยแล้งและน้ำเค็มค่อนข้างรุนแรง เกษตรกรทราบดีและได้กักเก็บน้ำไว้ใช้ในร่องสวน แต่ต่อไปก็คงไม่พอแน่ เมื่อน้ำในร่องสวนน้อยลงความเข้มจะเพิ่มขึ้นด้วย ขณะนี้เกษตรกรกำลังมองหาแหล่งน้ำจากแหล่งต่างๆที่น้ำยังไม่เข้มเพื่อช่วยเหลือตัวเองไปก่อน ขณะนี้ต้นทุเรียนหลายต้นเริ่มรับผลกระทบจากน้ำเค็มแล้วโดยใบเริ่มเหลือง บางต้นต้องเด็ดดอกทิ้งเพื่อรักษาต้นไว้ไม่ให้ตาย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image